“ไหว้พระ 9 วัดริมน้ำ, 9 รัชกาล, 9 พระอารามหลวง” รับปีใหม่
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
มีคำกล่าวไว้ว่า “การเริ่มต้นที่ดี คือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ” คติความเชื่อนี้มีมาแต่โบราณ เช่น ก่อนการออกรบ หรือในงานประเพณีต่างๆ ที่มักจะมีการทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เราคนไทยจึงมักนิยมไหว้พระทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
โดยในครั้งนี้ฉันมีเส้นทางไหว้พระ 9 วัดริมน้ำ 9 รัชกาล 9 พระอารามหลวง รับปีใหม่ 2555 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาแนะนำกันอีกครั้ง เผื่อใครยังไม่รู้จะไปรูทไหน ก็มาเลือกเส้นทางสิริมงคลกันได้เลย มีให้เลือก 3 เส้นทาง ด้วยกัน ได้แก่ “ไหว้พระ 9 พระอารามหลวง”, “ไหว้พระประจำ 9 รัชกาล” และ “ไหว้ 9 วัดริมน้ำ”
สำหรับเส้นทางแรก “ไหว้พระ 9 พระอารามหลวง” นี้ แต่ละวัดตั้งอยู่ไม่ไกลกัน โดยเริ่มกันที่ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่เราเรียกกันว่า หลวงพ่อโต นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เป็นพระประธาน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติด้วย
หลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร
ต่อมา “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง ร.1จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” โดยมี พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดา อนาวรญาณ ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถให้เราได้กราบไหว้กัน
ถัดไปคือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” พระอารามหลวงชั้นเอก ร.1ทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดประจำรัชกาลด้วย นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร ซึ่งใต้ฐานชุกชีได้บรรจุพระบรมอัฐิของ ร.1 ไว้ อีกทั้งยังมีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และภายในวัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล อีกด้วย
พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ วัดชนะสงคราม
ใกล้ๆกันเป็นที่ตั้งของ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือที่เราเรียกกันว่า “วัดพระแก้ว” เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรสวยงามและยาวที่สุดในโลก
นอกจากนี้ยังมีปราสาทและพระเทพบิดรซึ่งเป็นปราสาทยอดปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 8 มีพระศรีรัตนเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และยังมีหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หมู่พระเจดีย์ วัดโพธิ์
จากนั้นไปต่อที่ “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยร.1 มีลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่ง ร.5 ทรงเรียกว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า
พระอารามหลวงต่อไป คือ “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำ ร.8 แต่วัดนี้เริ่มสร้างในสมัยร.3 ภายในพระวิหารประดิษฐานพระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา
วัดพระแก้ว วัดคู่บ้านคู่เมืองไทย
ถัดไปได้แก่ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง” พระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ร.2ได้ทรงปฏิสังขรณ์และได้กลายมาเป็นวัดประจำรัชกาล ภายในวัดอรุณราชวรารามนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธชมภูนุชฯ ที่พระเกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดก็คือ ยักษ์ขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าซุ้มยอดพระมงกุฎด้วย
พระประธานคู่ ที่วัดบวร
วัดต่อไป คือ “วัดบวรนิเวศวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในร.3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่ร.6 ร.7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวชด้วย ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
สถาปัตยกรรมไทยผสมจีนที่วัดราชโอรส
และวัดสุดท้ายในเส้นทางไหว้ 9 พระอารามหลวงนี้คือ “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้างกรุงเทพฯ ร.1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ สมัยร.3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม เช่น พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง บนยอดยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุด้วย
วัดราชประดิษฐ์ วัดประจำรัชกาลที่4
เส้นทางบุญที่ 2 คือ “ไหว้พระวัดประจำ 9 รัชกาล” สำหรับรัชกาลที่ 1 คือ “วัดโพธิ์” ที่ฉันได้กล่าวถึงไปแล้วในเส้นทางแรก วัดประจำรัชกาลที่ 2 หรือ “วัดอรุณ” ฉันก็ได้พูดถึงแล้วเช่นกัน ส่วนวัดประจำรัชกาลที่ 3 คือ “วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ทรงอธิษฐานขอให้ได้ชัยชนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา เมื่อยกทัพกลับ ร.3 จึงทรงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม อีกทั้งพระองค์ทรงนิยมศิลปะจีน รูปทรงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมต่าง ๆ ในพระอารามนี้จึงเป็นศิลปะประยุกต์แบบ ไทยผสมจีน
ภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ
สำหรับวัดประจำรัชการที่ 4 คือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ ภายในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปาสาณเจดีย์, ปรางค์ขอม, หอพระจอม, หอไตร ด้วย
พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
ถัดมาในรัชกาลที่ 5 มีวัดประจำรัชกาล คือ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” วัดแห่งนี้มีการจัดวางผังอย่างงดงาม โดยมีจุดเด่นของวัดคือพระระเบียงวงกลมซึ่งล้อมฐานพระมหาเจดีย์ และเชื่อมพระอุโบสถกับพระวิหารเข้าด้วยกัน ภายในพระอุโบสถตกแต่งแบบฝรั่งเศส โดยมีศิลปะไทยปนอยู่ มีพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธาน ซึ่งวัดนี้นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง วัดอมรินทราราม
ส่วนรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 นั้น มีวัดประจำรัชกาล คือ “วัดบวรนิเวศวิหาร” และ “วัดสุทัศน์” ดังที่ฉันได้กล่าวถึงไปแล้วในเส้นทางแรก และสำหรับรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน มีวัดประจำรัชกาล คือ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” วัดนี้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2538 ตามแนวพระราชดำริในร.9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดขนาดเล็กในชุมชนที่ใช้งบประมาณประหยัด เรียบง่ายเน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด พระอุโบสถจึงมีขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธกาญจนธรรมสถิต
พระแซกคำ วัดคฤหบดี
และเส้นทางอิ่มบุญสุดท้ายคือ “ไหว้พระ 9 วัดล่องแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยแต่ละวัดจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ “วัดกัลยา”, “วัดอรุณ”, “วัดระฆัง” ซึ่งทั้ง 3 วัดนี้ก็เป็นวัดในเส้นทางที่ฉันกล่าวถึงไปแล้ว วัดถัดมาคือ “วัดอมรินทราราม” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงคู่กันกับวัดระฆัง ภายในพระอุโบสถเก่าประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อย และยังมีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธฉายจำลองด้วย
พระอุโบสถ วัดเทวราชกุญชร
วัดต่อมาที่ตั้งอยู่ริมเจ้าพระยาคือ “วัดศรีสุดาราม” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอของร.1 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางปลงพระชนมายุสังขาร ที่หอไตรประดิษฐานพระศรีอารีย์ และรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตองค์ใหญ่ด้วย
ถัดมาคือ “วัดคฤหบดี” วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ร.3 ได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทาน พระแซกคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ จากนั้นไปยัง “วัดเทวราชกุญชร” ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธเทวราชปฏิมากร ฝีมือช่างสมัยทวารวดีผสมอู่ทองที่มีความงดงามมาก อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ไม้สักทองให้เราได้ชมกันด้วย
เรือสำเภาเจดีย์ วัดยานนาวา
วัดต่อมาคือ “วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร” ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยร.1-ร.4 สิ่งที่น่าชมได้แก่ พระอุโบสถเป็นทรงขอมคล้ายนครวัด และศาลาการเปรียญที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง จากนั้นก็มาถึงวัดสุดท้ายคือ “วัดยานนาวา” เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือ เรือสำเภาที่มีพระเจดีย์ตั้งอยู่บนเรือ โดย ร.3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์นี้แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภากัน
นี่คือ 3 เส้นทางอิ่มบุญ ที่ฉันขอหยิบยกจากเส้นทางที่ทาง ททท. ได้จัดไว้ให้มานำเสนอเพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับพ่อแม่พี่น้อง และเพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันด้วย...สวัสดีปีใหม่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น