++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"Renewable Energy" การ์ตูนชวนรักษ์พลังงาน

เอาใจคอการ์ตูนในเมืองไทย กับเวทีการประกวดวาดการ์ตูนในหัวข้อ "Renewable Energy พลังงานต้องทดแทน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท. และนิตยสาร a day หวังดึงเยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาทำความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทนได้ง่ายๆ ผ่านลายเส้นตัวการ์ตูนน่ารักๆ จากไอเดียสร้างสรรค์ของคนไทยทั้งในระดับเยาวชน และระดับบุคคลทั่วไป

เรือนรัตน์ จุลวงศ์ ผู้จัดการส่วนสื่อสารกลุ่มฯ ปตท. เผยว่า กิจกรรมครั้งนี้มุ่งหวังให้มีการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเรื่องพลังงานทดแทนให้เป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวางทั้งกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยนำเสนอผ่านการ์ตูนซึ่งถือเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศ ทุกวัย และทำให้เรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

"ดีใจที่กิจกรรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เยาวชน ประชาชน ได้ซึมซับเรื่องพลังงานทดแทน รวมทั้งทุกคนที่ได้ส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวด ได้เห็นว่าแต่ละผลงานแสดงถึงความตั้งใจจริง มีการค้นข้อมูล ทำให้เรื่องยากๆ สามารถเข้าในได้ง่ายผ่านตัวการ์ตูน แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย"

ด้าน "สาม" ศิริพงษ์ หิรัญชาติ นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้คว้ารางวัลชมเชยไปครอง กล่าวว่า เนื่องจากสนใจด้านการวาดการ์ตูน และการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการ์ตูน จึงสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บวกกับมีรุ่นพี่ชักชวนให้มาประกวด จึงไม่รอช้าที่จะสมัครเข้ามา

"กิจกรรมนี้ทำให้ผมได้เห็นทักษะของเพื่อนๆ ได้เห็นโลกภายนอกที่เรายังไม่รู้จักว่าแต่ละคนมีฝีมือที่ร้ายกาจมาก ต่อไปประมาทไม่ได้แล้วครับ ต้องกลับไปพัฒนาฝีมือตัวเองให้มากขึ้น ส่วนในการทำงาน ถ้าจบไปแล้วก็คงยังไม่ทำงานสายนี้โดยตรง เพราะจากความคิดเห็นของวิทยากรหลายท่าน ก็เห็นว่าวงการการ์ตูนไทยก็ยังไม่แน่ไม่นอน ถ้าเราจะถลำตัวมากไปก็อาจจะยังไม่ดี ตอนนี้ก็เลย 50/50 วงการนี้มันยังไม่บูมเท่ากับที่ญี่ปุ่น ถ้าทำก็คงทำเป็นอาชีพเสริม"

อย่างไรก็ตาม สามมั่นใจว่าวงการการ์ตูนในบ้านเรายังสามารถเดินก้าวไปได้อีกไกล แม้กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นแค่ก้าวแรกอยู่ ยังมีน้องใหม่ หรือ เด็กรุ่นใหม่ๆที่ยังไม่รู้จักวงการนี้ก็มีมาก ซึ่งสามคิดว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน?มากทีเดียว ที่ทำให้คนวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแสดงผลงานกัน

ส่วน สุทธิชาติ ศราภัยวานิช นักวาดการ์ตูนชื่อดัง และในฐานะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านงานการ์ตูน กล่าวว่า โดยรวมแล้วการประกวดครั้งนี้แปลกกกว่าการประกวดการ์ตูนครั้งอื่น เพราะเวทีนี้ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน มีนักศึกษาน้อย แต่เวทีอื่นๆจะเน้นนักศึกษามากกว่า แต่เนื่องจากมีคนวัยทำงานเข้ามประกวดเยอะ ทำให้มันเป็นเรื่องดีที่ดึงคนที่ทำงานแล้วแต่มีฝีมือเข้ามา เราได้ลายเส้นที่แปลกออกไป

"เด็กๆจะติดอิทธิพลของการ์ตูนต่างชาติอย่างญี่ปุ่น เขาจะติดลายเส้นมานั้นมาเยอะ เวลาตัดสินภาพรวมจะคล้ายๆกัน แต่นี่ภาพรวมมันมีความหลากหลายมาก แต่ผมว่าเรื่องความสนใจคนรุ่นก่อน กับคนสมัยนี้มีมากพอๆกัน เพียงแต่สมัยนี้ที่เราเห็นว่ามีคนสนใจเยอะขึ้น เพราะมีเวทีการประกวดวาดการ์ตูนมากขึ้น มีสื่ออินเตอร์เนต ใครเขียนการ์ตูนก็เอาลงเนตได้ เราเห็นงานคนอื่นได้ง่ายขึ้น ตอนนี้การเผยแพร่มันง่ายขึ้น ด้วยสื่อที่มันพัมนาไปเร็วมาก"

สุทธิชาติ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การ์ตูนมี 2 ส่วน เรื่องกับภาพ การ์ตูนบ้านเราเท่าที่เคยสอนหรือไปเป็นวิทยากรมา จะเห็นว่าเน้นด้านภาพเสียเยอะ ส่วนเนื้อเรื่องไม่ค่อยสนใจมาก ซึ่งจริงๆแล้วเราต้องให้สองอย่างนี้มันไปด้วยกัน บ้านเราส่วนหนึ่งที่เรื่องมันอ่อน เพราะโดยรวมคนไทยยังอ่านหนังสือกันน้อยมาก เรื่องก็เลยวนๆอยู่ไม่กี่อย่าง ความเข้าใจสิ่งรอบๆตัวของนักศึกษาก็ยังน้อยมาก เวลาอ่านจะไม่รู้สึกว่าเรื่องของเขาจะทำให้เข้าใจโลกหรือเข้าใจคนได้ลึกซึ้ง ก็ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนนี้ แต่ลายเส้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง ฝีมือเก่งๆกันทั้งนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น