“สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ
ใดใดในโลก อันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น”
"เรือที่จอดเทียบท่าอยู่นั้น เรายังมิอาจรู้ได้ว่าเป็นเรือที่ดีจริงหรือไม่
ต่อเมื่อมันถูกนำออกทะเล ว่าสามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมโดยไม่สะทกสะท้าน
นั้นแหละ จึงจะบอกได้ว่าเป็นเรือที่ดีจริง
บุคคลที่ยังไม่เจอสิ่งกระทบที่หนักหนาสาหัจสากรรจ์
ดังเช่น
การที่ต้องเผชิญกับโรคร้าย ความตาย และความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น
เราก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าเป็นคนที่ปล่อยวางได้จริง
ต่อเมื่อพิสูจน์ตนเองว่าสามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมหนักของชีวิตได้โดยไม่สะทกสะท้าน
นั้นแหละ จึงจะบอกได้ว่าเป็นคนที่แข็งแกร่งจริง ปล่อยวางได้จริง"
พี่แดง ...ผู้จัดการร้านกรอบรูปนำเข้าขนาดใหญ่ อายุราว ๕๐ ปีเศษ
มีสามีเป็นนักธุรกิจ และลูกเล็ก ๆ ๑ คน
ซึ่งเพิ่งจะเตรียมตัวเข้าเรียนในชั้นประถม
เมื่อ เธอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒)
เธอได้พูดกับคุณเอก (หนึ่งในกลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำ)
ซึ่งรู้จักกันเพราะมีออฟฟิสอยู่ใกล้ ๆ กัน ว่า
"ทำไมต้องเป็นฉัน...ฉันก็เป็นคนดีมาตลอด", “ฉันห่วงลูกมากๆ”
และเมื่อความทุกข์โหมกระหน่ำใส่เธอมากเข้า เธอก็พูดด้วยความท้อใจว่า
"อยากให้มันตายๆ ไปเลย จะได้จบ"
คุณเอกเลยพูดให้สติเธอไปว่า "ตาย แล้วมันไม่จบอย่างที่พี่คิดนะซิ
มันก็ต้องไปเกิดๆ ตายๆ ต่อไปอีกไม่รู้จักจบจักสิ้น
แถมไม่มีอะไรการันตีได้ว่า เราจะไม่ไปเกิดเป็นหมูหมากาไก่
ก็ยิ่งทุกข์กันเข้าไปใหญ่"
เธอเล่าภายหลังว่าประโยคที่ทำให้เธอคลิ๊กก็คือประโยคที่ว่า
"ตายแล้วมันไม่จบอย่างที่พี่คิดนะซิ"
จาก คำพูดนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้พี่แดงสนใจศึกษาธรรมะ
โดยมีคุณเอกเป็นเพื่อนกัลยาณมิตร
เธอได้รับความซาบซึ้งในธรรมะของพระพุทธองค์เป็นลำดับ ๆ
ผ่านพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อชา สุภัทโท และพระอาจารย์ชยสาโร
(ศิษย์ต่างชาติของหลวงพ่อชา) จากซีดีที่คุณเอกนำมามอบให้
รวมทั้งการสนทนาธรรมกับคุณเอกอยู่เนือง ๆ
เพียง ไม่กี่เดือนที่พี่แดงปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง
ความแข็งแกร่งในจิตใจของเธอเริ่มฉายแววออกมาอย่างเด่นชัด
เธอบอกว่าเมื่อมาถึงตรงนี้ เธอไม่ได้คิดจะต่อสู้กับมะเร็ง
หากแต่ยอมรับมันและขออยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้ฉันท์มิตร
เมื่อเธอศึกษาและปฏิบัติธรรมมากเข้า ๆ เธอก็ยิ่งเห็นคุณค่าของธรรมะ
และเห็นคุณค่าของเวลาที่ยังเหลืออยู่
ดังนั้้น เธอจึงปฏิบัติธรรมชนิดไม่คิดถึงเรื่องเวล่ำเวลา รู้สึกตัวตื่นขึ้นเมื่อไร
ไม่ว่ากี่โมง นั่นถือเป็นเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม ตื่นก็ตื่นกับพุทโธ
หลับก็หลับไปกับพุทโธ
พี่แดงยังคงทำงานและกิจวัตรในแต่ละวันตามปรกติเหมือนสมัยที่ยังไม่ป่วย
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ
เธอกลับมีสีหน้าและน้ำเสียงที่แช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ
สวนทางกับการที่ร่างกายเธอต้องถูกโรคมะเร็งเบียดเบียนหนักขึ้นทุกวัน ๆ
เธอพูดบ่อยครั้งขึ้นถึงความเป็นธรรมชาติธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายที่เธอกำลังเผชิญ
นี้กระมังที่เป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ของเธอนับจากที่เธอได้เข้ามาประพฤติธรรม
ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมของเธอนั้น เธอต้องใช้กำลังใจมากกว่าคนทั่วไป
เพราะสามีของเธอก็เหมือนกับคนอื่นๆ
ทั่วไปที่เห็นว่าการปฏิบัติธรรมยังมิใช่สาระสำคัญของชีวิต
เธอต้องสู้อดทนอดกลั้น
และเอาตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าธรรมะมีคุณค่าจริง กระทั่งในที่สุด
สามีเธอเอ่ยปากออกมาเองว่าหากเขาเป็นโรคร้ายอย่างเธอ
ก็คงไม่สามารถเป็นอยู่อย่างแช่มชื่นเบิกบานหรือปล่อยวางอย่างเธอได้
นี้จึงเป็นจุดที่เธอถือเป็นโอกาสชี้ให้สามีตระหนักว่าที่เธอเป็นอยู่ได้เช่น
นี้ก็เพราะธรรมะ
เมื่อย่างเข้าปีที่ ๒ ที่เธอป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย (เธอปฏิบัติธรรมมาได้ราว ๑ ปี)
ซึ่งเลยเวลาที่คุณหมอขีดเส้นไว้นานหลายเดือน
...อาการของโรคนั้นเพียบเต็มที่
แต่คุณหมอที่ดูแลอาการป่วยของเธอไม่เข้าใจว่า
ทำไมเธอจึงยังสามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้
อีกทั้งยังพูดคุยเป็นปรกติ ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีอาการตัวเหลือง และนอนซม
เพราะความที่ตับของเธอดำหมดแล้ว
คุณหมอไม่รู้ว่าเธอทำตัวอย่างไร วางใจอย่างไร หรือได้ยาวิเศษที่ไหนมา
ถึงได้สามารถรักษาสุขภาพจนอยู่มาได้ขนาดนี้
ซึ่งจากผลทางกายภาพที่คุณหมอมองเห็น
ทำให้คุณหมอพูดด้วยความมั่นใจว่าแนวปฏิบัติที่เธอทำอยู่
(ซึ่งคุณหมอก็ไม่รู้ชัดนักว่าคืออะไร) นั้นถูกต้องแล้ว ให้เธอทำต่อไป
ก่อนที่เธอจะลาโลกนี้ไปไม่กี่เดือน คุณเอกได้ชวนผมไปนั่งสนทนากับเธอ
และสิ่งที่ผมจะถ่ายทอดต่อไปนี้
คือสาระสำคัญที่ได้จากการพูดคุยซักถามเธอเพื่อให้รู้ถึงธรรมโอสถหรือยาวิเศษ
ที่ช่วยรักษาโรคทุกข์ให้กับเธอ
ชนิดที่ผมและเพื่อนในกลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำต้องยอมรับและถือเธอเป็นแบบ
อย่างของนักปฏิบัติตัวจริง ชนิดที่แม้เรา ๆ ซึ่งเข้าวัดมานานกว่าเธอมาก
ก็ยังต้องเขินอายต่อความจริงจังในการปฏิบัติธรรมของเธอ
(โปรดอดใจรออ่านบทสัมภาษณ์พี่แดงในกระทู้ต่อไปนะครับ)
บัดนี้ ซึ่งล่วงเลยวันที่สัมภาษณ์พี่แดงมาได้ไม่ถึงปี
พี่แดงก็จากไปอย่างผู้องอาจจริง ๆ แม้ในวันท้าย ๆ
จะมีเลือดออกมาทั้งทางปากและจมูก แต่เธอก็ยังคงรักษาอาการอันสงบระงับไว้
โดยปราศจากการใช้มอร์ฟีนกระทั่งวินาทีสุดท้าย
...ช่างงดงามและเป็นแบบอย่างของนักปฏิบัติผู้มีชัยต่อความตายจริง ๆ
พี่แดงจากไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันพฤหัสที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
รวมสิริอายุ ๕๐ ปี รวมระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งราว ๓ ปีเศษ
และปฏิบัติธรรมได้ราว ๒ ปี
กราบอนุโมทนา ต่อบุญกุศลที่พี่แดงบำเพ็ญมาดีแล้ว
และขออนุญาตดวงจิตพี่แดงที่จะนำบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่าง
และกำลังใจแก่นักปฏิบัติผู้มุ่งหวังความพ้นทุกข์ทุก ๆ คน
ผมได้สรุปคำสัมภาษณ์ไว้ทั้งสิ้นจำนวน ๑๐ ข้อ โดยจะทยอยลงเผยแพร่เป็นลำดับดังนี้
๑. เมื่อรู้ตัวว่าต้องเผชิญหน้าต่อความตาย ซวนเซเพราะโรคร้าย
แล้วตั้งหลักใจขึ้นได้เพราะวางใจไว้อย่างไร
”อันดับแรกเราต้องยอมรับความจริงให้ได้ก่อน...มันเป็นธรรมชาติ ใบไม้
แม้ยังเขียว แต่หากมีหนอนกัดกินก็ร่วงได้
เกิดเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็ยังต้องตายเลย
เกิดเป็นกบเป็นเขียดอยู่ในรูก็ตาย อยู่ในอวกาศก็ตาย ทุกชีวิตต้องตายหมด”
๒. อะไรที่ช่วยเราในยามเจ็บไข้เช่นนี้
* ”ธรรมะ ... ธรรมะและเรื่องใจต้องมาก่อน
ธรรมะสอนให้เรารู้จักว่า หน้าที่ของเราคือการดูแลจิตใจ
ส่วนร่างกายนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอที่จะเยียวยา
* “ธรรมะ ช่วยให้ใจเราดี เมื่อใจเราดี เรานอนหลับได้ รับประทานได้
ร่างกายก็พลอยดีขึ้น ใจไม่ดี ทานก็ไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ
ร่างกายก็ทรุดโทรม”
* “ข้อ ปฏิบัติหลักในยามนี้คือ ไหว้พระ ทำสมาธิ คิดในสิ่งที่ดี
พูดในสิ่งที่ดี ๆ ทำในสิ่งที่ดี ๆ ...ตื่นก็ตื่นกับพุทโธ
หลับก็หลับไปกับพุทโธ”
* “ธรรมะนอกจากช่วยเยียวยาใจได้แล้วยังล้ำมาที่ร่างกาย
คือช่วยให้สุขภาพกายดีขึ้นหรือทรุดโทรมช้าลงได้อีกด้วย”
* ”เวลา เข้าไปในห้องพยาบาล ไม่ว่าลูกเรา สามีเรา หรือญาติคนไหน ๆ
ก็ตามเราเข้าไปในห้องไม่ได้ สิ่งเดียวที่ตามเราเข้าไปได้คือ พุทโธๆ
...นี่ขนาดยังไม่ตาย ยังไม่มีใครตามเราเข้าไปได้ ยิ่งเวลาตาย
ไม่มีใครไปกับเราหรือช่วยอะไรเราได้จริง ๆ ทุกคนส่งเราได้แค่กองฟอน
ที่ช่วยได้มีแต่พระ มีแต่ธรรมะเท่านั้น”
๓. ประคองใจคนใกล้ตัวอย่างไรไม่ให้ทุกข์เพราะการเจ็บไข้ของเรา
”ความตายมันเป็นธรรมชาติธรรมดาที่เกิดกับทุกคน ...ตอนนี้ฉันยังไม่ตาย
จะร้องไห้ไปทำไม ฉันเป็นคนป่วยฉันยังไม่ทุกข์ ยังไม่ร้องไห้เลย
ดูอย่างภูเขาสิมันยังสึกกร่อนได้เลย
ความเสื่อมสิ้นไปของทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมชาติ”
๔. ห่วงลูกห่วงสามีไหม
”ทางใครทางมัน ...ตอนนี้ก็ทำหน้าที่ในฐานะแม่ ฐานะภรรยา
แต่สุดท้ายแล้วก็ “ทางใครทางมัน”
แม้ จะห่วงความเป็นไปของลูกมาก ก็ต้องทำใจ
และยอมรับความจริงว่าสังขารมันไปไม่ไหวแล้ว สิ่งที่ควรทำในฐานะแม่
ฐานะภรรยา ก็ได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ทุกคนย่อมมีกรรมเป็นของ ๆ ตน
ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากบ้าง น้อยบ้าง ชีวิตก็ต้องดำเนินไป
แม้ว่าจะไม่มีแม่ ไม่มีภรรยาแล้วก็ตาม”
๕. หากย้อนเวลาไปได้ อยากทำอะไร
“อยากพาลูกเข้าวัดฟังธรรม ปฏิบัติธรรมะเยอะ ๆ ...ต้องระวังตัวเองให้มาก
ไม่ให้ไปเบียดเบียนคนอื่น”
๖. ปฏิบัติธรรมประจำวันอย่างไร
“ก่อน นอนจะไหว้พระ สวดมนต์ และนั่งสมาธิทุกคืน
แล้วลุกขึ้นมานั่งสมาธิอีกทีตอนตีสี่ตีห้า
แต่บางครั้ง หากตื่นขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นตีสองตีสามก็ช่าง ก็จะลุกขึ้นนั่งภาวนาเลย
จะไม่ปล่อยให้นอนคิด เพราะหากปล่อยให้คิดไปเรื่อย ๆ มันมีแต่จะคิดลงต่ำ
คิดปรุงแต่งเลยเถิดไปจนน่ากลัวชวนให้ทุกข์ใจ
ต้องลุกขึ้นมานั่งสมาธิทำให้จิตนิ่ง เมื่อจิตนิ่งก็จะมีความสุขสงบ”
ทุกวันนี้กล้าพูดว่าแทบจะไม่ลืม “พุทโธ” และลมหายใจเลย
ตื่นนอนก็ตื่นพร้อมพุทโธ หลับก็หลับไปกับพุทโธ
จะรู้สึกเสียใจถ้าหากวันไหนลืมระลึกรู้ลมหายใจหรือลืมบริกรรมพุทโธ”
“วาง ใจเหมือนก้อนหิน ประคองใจให้สงบนิ่ง ไม่หวั่นไหว
คลื่นซัดก้อนหิน ก้อนหินก็ยังอยู่อย่างเดิม ...อะไรจะเกิดก็เกิด
ไม่เผลอให้ความอยากมีชีวิตอยู่รอดทำให้เกิดความเครียด
...สุขทุกข์อยู่ที่ใจ จึงต้องทำใจให้เป็นสุข ทำใจให้ดีอยู่เสมอ”
๗. ประสบการณ์การปฏิบัติภาวนา
“บาง ครั้งปฏิบัติไปจนเหมือนลมหายใจไม่มี แต่ก็อยู่ได้ ไม่ตาย
รวมทั้งเคยปฏิบัติจนได้ข้ามเวทนา
จึงเกิดความเชื่อมั่นว่ากายกับใจเป็นคนละส่วนกันจริง”
๘. อยากบอกอะไร
“อยากขอบคุณความเจ็บป่วยที่ทำให้หันมาสนใจธรรมะ
ได้หันมาดูแลตัวเอง จนทุกวันนี้รู้สึกสุขใจ มีเวลาให้คนในครอบครัว
หากไม่เจ็บป่วยอย่างนี้ก็คงจมหรือหมดเวลาทั้งชีวิตไปกับการงานและกิจกรรมโลก ๆ และคงตายไปโดยไม่ได้ตระเตรียมอะไรเลย”
“อยากขอบคุณพระพุทธเจ้าที่ให้ธรรมะแก่เรา ธรรมะสอนไว้หมดจริง ๆ
ทั้งการอยู่การกิน การดูแลรักษาใจ ฯลฯ”
๙. ถ้าว่าไม่กลัวตาย ถามว่ากลัวทุกขเวทนาตอนตายที่จะมาถึงหรือไม่
”กลัว แต่จะไม่ไปเป็นทุกข์ล่วงหน้า ตอนนี้ยังไม่เกิดก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปกับมัน”
๑๐. ตั้งความปรารถนาไว้อย่างไร
“หากยังต้องเกิดก็อยากเกิดเป็นผู้ชาย อยากเป็นพระค่ะ”
เป็นอันว่า สรุปบทสัมภาษณ์พี่แดง ก็ถูกนำมาลงไว้โดยครบถ้วนแล้วนะครับ
หวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายตามสมควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น