++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ระบบการศึกษาว่าด้วยเรื่องทุนเป็นพิษ โดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อีกไม่นานเราก็จะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาขับเคลื่อนประเทศต่อไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการได้รัฐบาลชุดใหม่ก็อาจจะไม่ได้ให้ความหวังอะไรมากมายเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบการศึกษาในบ้านเราเท่าใดนัก สังเกตได้ตั้งแต่แนวนโยบายของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา ทั้งจากสองพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางขนาดเล็กทั้งหมด ล้วนไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาในเชิงคุณภาพแต่อย่างใด

ฝ่ายการเมืองซึ่งย่อมจะหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ก็มักจะให้ความสำคัญเพียงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งจะเป็นเพียงการเสนอมายาที่ให้ประชาชนสามารถบริโภคหรือจับต้องได้ง่ายเท่านั้น นโยบายการศึกษาที่เราได้เห็นจากการรณรงค์ทางการเมืองจึงมีเพียงแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเท่านั้น อย่างนโยบายเรียนฟรี (ที่ไม่รู้ว่าคุณภาพคืออะไร) และนโยบายแจกคอมพิวเตอร์หรือแจกแท็บเล็ต (เสมือนเป็นของวิเศษสำหรับไปเรียนรู้เอาเอง)

เราทราบกันดีว่าระบบการศึกษาในบ้านเรามีปัญหามานาน และดูเหมือนว่าจะสั่งสมเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน เสมือนว่าจะยิ่งแก้ก็ยิ่งเละ ยิ่งพัฒนากลับยิ่งเหลวแหลกไปเสียอีก แต่เดิมที่เป็นปัญหาแบบคลาสสิก ก็คือเรื่องการขาดแคลนทางการศึกษา หรือปัญหาที่ภาครัฐไม่สามารถจัดให้มีการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่มาก แต่ภาครัฐก็ได้เร่งขยายโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนให้มากขึ้นมาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอื่นๆ แทรกซ้อนเข้าไปอีก อย่างเช่นปัญหาในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนปัจจัยสนับสนุน ทั้งในเรื่องทิศทางของการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับทั้งเนื้อหาและวิธีการ

เราเริ่มจะตระหนักว่าระบบการศึกษาในบ้านเรามีปัญหา เมื่อเราพบว่าบุคลากรที่เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษานี้ส่วนใหญ่จะสามารถปฏิบัติงานเฉพาะในด้านที่เรียนมาได้อย่างดี แต่อาจจะขาดจินตนาการ หรือแม้กระทั่งขาดวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนสังคมในยุคที่มีการแข่งขันสูงในระบบโลกาภิวัตน์ การศึกษาที่อยู่ในระบบมาตรฐานของไทยเป็นกระบวนการที่จับยัดความรู้ที่ส่วนใหญ่จะคัดลอกตำราต่างประเทศมา แต่ไม่สอนหรือแม้กระทั่งไม่ส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีบูรณาการองค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อการแตกยอดความคิด เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเรื่องผลสัมฤทธิ์สำหรับการสอบแข่งขันเป็นหลัก ไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องของการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้อาจจะยังไม่เน้นเรื่องการปลูกฝังอุปนิสัยการเรียนรู้ และการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ตลอดจนการส่งเสริมตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ในแบบที่มีจินตนาการ ระบบการศึกษาจึงไม่ค่อยส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ นอกจากการทำซ้ำของเดิมอยู่ชั่วนาตาปี และที่สำคัญที่สุดคือเป็นระบบที่เน้นด้านผลสัมฤทธิ์เชิงวัตถุแต่ขาดการปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ และการยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรม จึงส่งผลให้สังคมไทยเกิดความเสื่อมทรามลงอย่างเห็นได้ชัดในทุกวันนี้

เพราะปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษานี้เป็นปัญหาที่มีมิติลึกล้ำ มากไปกว่าแค่การผ่านงบประมาณหรือการระดมทุนสนับสนุนให้แก่บรรดาสถาบันการศึกษาเพียงแค่นั้น แล้วสามารถสันนิษฐานว่าจะมีการพัฒนาได้เลยทันที คงต้องยอมรับว่าปัญหาของระบบการศึกษาในประเทศไทยนับต่อจากนี้ไปกลับจะเป็นเรื่องของ “ทุนเป็นพิษ”

กล่าวคือการที่ระบบการศึกษาถูกทำให้ไร้คุณภาพเพราะโดนมอมเมาด้วยระบบทุน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นแนวทางพัฒนาการศึกษาทุกระดับในสังคมไทยเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องทุนเป็นภาพใหญ่อย่างเดียวเสมอ ถึงแม้ว่าตัวผู้เขียนจะไม่ปฏิเสธว่าเรื่องทุนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับขับเคลื่อนการศึกษา ทั้งเรื่องการจัดให้มีอาคารสถานที่ อุปกรณ์สนับสนุนการศึกษา ตลอดจนค่าตอบแทนของครูบาอาจารย์ที่เหมาะสม แต่การที่ภาครัฐจะเอาเรื่องเอาทุนเป็นตัวตั้งสำหรับการนิยามคำว่าพัฒนาอาจจะส่งผลกระทบในแบบย้อนกลับคือเป็นปัจจัยบ่อนทำลาย ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนอยากจะลองหยิบยกขึ้นมาให้ข้อสังเกตเพียงสามประเด็นคือ

1. การแสวงหาทุนของสถาบันอุดมศึกษากับการทำลายมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องของความถูกต้องเหมาะสมกันมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดามหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดโครงการปริญญาภาคพิเศษ ภาคผู้บริหาร ภาคอินเตอร์ หรือภาคสมทบอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งล้วนเป็นระบบการศึกษาที่เน้นจ่ายครบ จบแน่นอนแต่อย่างเดียวเท่านั้น (เพราะถ้าปราศจากคำโฆษณานี้โครงการก็จะไม่เป็นที่นิยมหรือไม่ติดตลาด) ดังนั้นการที่สถาบันอุดมศึกษาได้ทำการศึกษาให้เป็นสินค้าสำหรับขาย เพื่อที่ผู้เรียน(ลูกค้า)จะสามารถเอาวุฒิบัตรหรือใบปริญญานำไปต่อยอดในเชิงผลประโยชน์ได้นั้น ย่อมเป็นการทำลายมาตรฐานทางวิชาการ

กล่าวคือมหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นหลักประกันด้านการสร้างความรู้ การเพิ่มความสามารถ และความมีจริยธรรมแก่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตหรือแม้กระทั่งมหาบัณฑิตไปจนถึงดุษฎีบัณฑิต แต่สถาบันการศึกษากำลังจะกลายเป็นศาลาโกหกสร้างภาพหลอกลวงสังคมเพียงเพื่อสถาบันการศึกษาจะแสวงหารายได้ สะสมทุน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการผันไปเป็นผลประโยชน์ส่วนต่างให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคล ผ่านโครงการก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม งานตกแต่งภายใน การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หรือการจัดจ้างบุคลากรผู้สอน

2. เป้าหมายของผู้เรียนซึ่งกลายเป็นค่านิยมที่ว่าต้องการเรียนด้านใดก็ได้ที่จะสามารถสร้างรายได้ที่สูงเท่านั้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีค่านิยมเรียนในด้านสังคมศาสตร์มากกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์เพราะมักจะสันนิษฐานเองว่าเรียนสบาย จบง่าย และรายได้ดี พูดง่ายๆ ว่าเปรียบการศึกษาเป็นการลงทุนทางการค้า คือชอบที่จะลงทุนต่ำแต่สามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรงามๆ แทนที่จะทำความเข้าใจกับตัวเองว่าสนใจด้านใด หรือมีความถนัดทางด้านใด ซึ่งเรื่องนี้เราจะโทษเด็กนักเรียนอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่มันเป็นปัญหาตั้งแต่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในแบบดั้งเดิมที่ไม่เปิดโอกาสให้สามารถเลือกมากนัก เพราะอิงฐานคะแนนเป็นเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาเพียงอย่างเดียว

ภายหลังการเข้าสู่ระบบคณะวิชาในมหาวิทยาลัยแล้วจะขยับไปเรียนข้ามสาขานั้นลำบากยิ่งเพราะเป็นระบบที่ปิดกั้น ถึงแม้ว่าในอดีตยังสามารถลาออกจากคณะเดิมมาสอบเอนทรานซ์ใหม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าในระบบใหม่แอดมิชั่นอาจจะกระทำได้ลำบากยิ่งกว่าเดิม นอกจากจะเลือกไปเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดหรือมหาวิทยาลัยเอกชน นอกจากนี้ระบบการแนะแนวศึกษาต่อของโรงเรียนระดับมัธยมก็ดูเหมือนว่าจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การแนะแนวทำไปเพียงแค่เน้นที่จะให้มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนของตนสามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยในระบบเอนทรานซ์ได้มากๆ เพื่อเป็นจุดขายสำหรับการเปิดรับนักเรียนรุ่นใหม่ในปีการศึกษาถัดไป อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สูงก็หมายถึงชื่อเสียงของโรงเรียนและส่งเสริมให้อัตราการประมูลค่าแรกเข้าของโรงเรียนที่สูงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

3. เรื่องผลตอบแทนครูอาจารย์ในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนของครูในระดับปฐมมูลนั้นจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนกระทั่งวิชาชีพครูไม่เป็นที่สนใจมากนักในระบบการศึกษา ดังจะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะเรียนภาควิชาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์หรือแม้กระทั่งวิชาชีพครู เหตุผลเกือบจะเป็นอย่างเดียวกันก็คือผลตอบแทนสำหรับการประกอบวิชาชีพครูนั้นไม่ดึงดูดใจ ทำให้บุคลากรครูมีจำนวนจำกัดลงเรื่อยๆ ซึ่งความจริงแล้วประเด็นนี้มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาในบ้านเรา และเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ผู้เขียนไม่พึงที่จะฟันธงลงไปว่าผลตอบแทนครูนั้นควรจะมีค่าเฉลี่ยเท่าใด และด้วยค่าตอบแทนที่สูงเท่าใด ระบบการศึกษาบ้านเราถึงจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และที่สำคัญมากที่สุดก็คือมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

แต่ผู้เขียนก็ยังเชื่อมั่นว่าเรื่องเงินหรือผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถเนรมิตสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะก็ยังมีคุณครูอีกจำนวนมากที่ยังคงทำหน้าที่สอนเด็กๆ ด้วยจิตใจที่รักในวิชาชีพครู ด้วยความรักในเกียรติ ซึ่งไม่ได้วัดจากเงินทอง ตำแหน่ง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เป็นเกียรติในการทำหน้าที่ติดปัญญาให้แก่เยาวชนสำหรับการสร้างชีวิตและพัฒนาสังคมต่อไป ทั้งๆ ที่ครูเหล่านั้นยังคงได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำเกินกว่าที่จะหาเลี้ยงครอบครัวของตนเองได้อย่างสมเหตุผลและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ในเรื่องของผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้

อีกแง่มุมหนึ่งคือเป็นการผลักดันให้ครูในระบบโรงเรียนต้องออกไปแสวงหารายได้พิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโอกาสที่ดีกว่าของบรรดาครูที่อยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและอยู่ในเมืองใหญ่ ที่เห็นได้โดยทั่วไปคือการเปิดติวเตอร์พิเศษซึ่งได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และได้สร้างผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการอย่างมากมายมหาศาล อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลกลับไม่ได้อยู่ที่การเปิดสถาบันติวเตอร์สอนพิเศษจำนวนมากเหล่านั้น แต่สิ่งที่น่ากลัวกลับอยู่ที่การทำให้มาตรฐานทางวิชาการในระบบโรงเรียนปกติอ่อนด้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อทุนเกิดเป็นพิษจึงส่งผลให้ครูบางส่วนซึ่งถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมทุน ซึ่งยังคงทำหน้าที่ในระบบโรงเรียน ไม่ทำการสอนอย่างมีมาตรฐานเท่าที่ควร กลับสร้างกระแสกึ่งบังคับที่จะต้องให้มีการเรียนเสริมสำหรับเด็กๆ เพื่อที่จะได้มีวิชาการที่ดีพอสำหรับสามารถสอบแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ซึ่งมีการเก็บสะสมคะแนนในการเรียนระดับมัธยมมาพิจารณาด้วย

จะเห็นได้ว่าปัญหาของระบบการศึกษาในบ้านเราล้วนประกอบด้วย 3 ส่วนนี้คือ สถาบันการศึกษา ผู้เรียน และผู้สอน ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือแต่ละส่วนมีแนวโน้มที่จะมุ่งแสวงหาทุนเป็นเป้าหมายหลักเท่านั้น ทำให้ระบบเกิดเป็นพิษโดยมีทุนเป็นสารตั้งต้น การที่ภาครัฐและภาคการเมืองเน้นเอาทุนเข้าไปแก้ไขหรือเป็นตัวตั้งสำหรับการพัฒนาจึงน่าจะเกิดเป็นผลเสีย ในทางกลับกันภาครัฐสมควรจะเร่งเข้าไปควบคุมกระแสสังคมอุดมปริญญามากกว่า เพราะสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนกำลังทำให้ใบปริญญากลายเป็นสินค้าต้นทุนต่ำ ปล่อยไว้ต่อไประบบการศึกษาของชาติจะพังครืนทั้งระบบเพราะความไร้คุณภาพ ปริญญาจะซื้อขายได้ง่ายจนไม่เป็นที่ยอมรับ และส่งผลให้เกิดบุคลากรที่มีปริญญาแต่ไร้ปัญญามีแต่เล่ห์เหลี่ยม ลองจินตนาการดูว่าสังคมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรมนุษย์เช่นนี้จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร

อีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรจะให้ความใส่ใจก็คือเรื่องการสร้างอุดมการณ์ครูและจัดให้มีค่าตอบแทนครูอย่างสมศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฐมมูล ซึ่งสมควรที่จะมีการปรับให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นจริงทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเรื่องผลตอบแทนนั้นมักจะเป็นประเด็นที่ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเมืองมักจะเลือกใช้ในการแก้ปัญหาในแบบที่ผิดฝาผิดตัวอยู่เสมอ จึงควรตระหนักในประเด็นนี้ให้ดี

ยกตัวอย่างเช่นการปรับขึ้นฐานเงินเดือนผู้พิพากษาและอัยการแบบก้าวกระโดด เพียงเพราะประสงค์ที่จะป้องกันการรับสินบนในกระบวนการยุติธรรม บนสมติฐานง่ายๆ เกินไปว่าพอบุคลากรในระบบได้รับเงินเดือนมากเกินพอแล้ว จะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วการปรับฐานเงินเดือนสูงขึ้นกลับไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศใสสะอาด ปราศจากคำครหานินทาในสังคมแต่อย่างใด เงินกลับปรนเปรอบุคลากรบางส่วนให้เสียผู้เสียคน แม้แต่บุคลากรในระบบหลายท่านยังมีความเชื่อถือในแนวทางแบบที่บรรพตุลาการเคยยึดถือวิถีในแบบเรียบง่ายและสันโดดมากกว่าเสียอีก

ในขณะเดียวกันที่ภาครัฐเร่งปรับฐานเงินเดือนให้แก่บรรดาบุคลากรในระบบราชการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับที่ได้ยกตัวอย่างมา ส่งผลให้ความนิยมในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยช่วงหลังจะมีแนวโน้มไปทางคณะวิชาด้านสังคมศาสตร์ อย่างคณะรัฐศาสตร์หรือคณะนิติศาสตร์กันมากมายอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือทั้งเด็กนักเรียนก็อยากจะได้รับเงินเดือนสูงๆ ภายหลังที่จบการศึกษาแล้ว ส่วนผู้ปกครองก็สนับสนุนบุตรหลานในเหตุผลเดียวกัน ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกลไกตลาด ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ในด้านการสาธารณสุข การออกแบบ หรือทางนวัตกรรม ซึ่งในทางกลับกันในสาขาวิชาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ในขณะที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยของรัฐล้วนแต่จะมุ่งเน้นในเรื่องการขยายการศึกษาในด้านสังคมศาสตร์ทั้งในภาคปกติและการเปิดภาคพิเศษกันมาก เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นที่ว่าสังคมไทยขาดแคลนบุคลากรด้านเหล่านี้ แต่เป็นเพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการลงทุนในหลักสูตรแบบนี้มีการลงทุนที่ต่ำกว่า สามารถรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก สร้างผลกำไรได้สูง

ปัญหาของระบบการศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาดแคลนทุนสำหรับการขับเคลื่อน ปัจจัยสนับสนุนทางการศึกษา หรือแม้กระทั่งในเรื่องทิศทางของการเรียนการสอน ตลอดจนคุณภาพในเชิงวิชาการเท่านั้น ดังนั้นแนวทางที่ภาครัฐหรือภาคการเมืองนิยมที่นำเสนอเพียงเรื่องทุนเป็นตัวตั้งเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษา จึงไม่สามารถทำให้การศึกษาของชาติพัฒนาไปในแนวทางที่จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางวิชาการได้แต่อย่างใด การอาศัยทุนโดยปราศจากยุทธศาสตร์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาจริงๆ กลับจะเป็นพิษที่ย้อนมาทำลายระบบการศึกษาถึงในระดับโครงสร้างซึ่งปล่อยไว้ต่อไปก็จะยากเกินการเยียวยาเลยทีเดียว

ptorsuwan@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น