++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิดกฎหมาย...ศึกษากรณี “จตุพร” โดย สำราญ รอดเพชร

“ที่ชอบพูดกันว่าปล่อยผี จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่เขาถูกร้องเรียนมาและน่าเห็นใจมากกว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งแล้วถูกร้องเรียนมาภายหลังวันเลือกตั้ง มันเหมือนกับเป็นการรั้ง ไม่ให้เขาเป็น ส.ส. เราจึงต้องดูว่าผู้ที่ร้องเข้ามามีเจตนาเช่นนั้นหรือไม่ และเป็นความจริงหรือไม่ เพียงใด คือคำว่าปล่อยไปก่อน เราคงไม่ใช้ในภาษากฎหมาย เมื่อกฎหมายบอกว่า จะต้องมีการจัดประชุมสภาในนัดแรกภายใน 30 วัน เราก็ต้องมีการพิจารณารับรอง ส.ส.เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาทันตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนเรื่องร้องเรียนเราจะมีการพิจารณากันต่อ จนกระทั่งครบ 1 ปี เพราะว่าที่ ส.ส.บางคนถูกร้องเรียนมากถึง 10 รายก็มี ต้องใช้เวลามาก ดังนั้นเราก็ต้องประกาศรับรองรายชื่อบุคคลนั้นไปก่อน จริงๆ แล้วหาก กกต.หรือศาลยกคำร้อง อยากให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนไปฟ้องร้องแก่ผู้ที่ร้องเรียนตน หากถูกร้องเรียนด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่จบสิ้น”

นั่นคือตอนหนึ่งที่ ดร.สดศรี สัตยธรรม 1 ใน 5 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)พูดผ่านนสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 27 กรกฎา และเมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่าแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกแขวนอยู่ เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือนายจตุพร พรหมพันธุ์ มีแนวโน้มที่ กกต.จะปล่อยไปก่อน ดร.สดศรีตอบทันทีว่า เรื่องคุณสมบัติ กกต.ควรพิจารณาภายใน 1 เดือน ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะรับรองไปก่อน เว้นแต่ว่าคุณสมบัติของคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนขัดต่อกฎหมาย ก็ไม่สามารถประกาศรับรองได้

ล่าสุดขณะผมเขียนบทความชิ้นนี้ตอน 10 โมงวันที่ 27 ก.ค.ท่านดร.สดศรีก็ฟันธงซ้ำว่าในความเห็นส่วนตัวทั้ง “ณัฐวุฒิ-จตุพร” จะได้รับการรับสองการเป็น ส.ส.แน่นอน เว้นแต่ กกต.อีก 4 คนจะเห็นเป็นอื่น

แน่ไหมครับ...ท่านผู้ชม!?

อันที่จริงจุดโฟกัสไม่ได้อยู่ที่กรณีณัฐวุฒิที่ถูกร้องเรียนเรื่องการพูดจาปราศรัย หากแต่อยู่ที่กรณีคุณสมบัติของจตุพรว่าขัดต่อตัวบทกฎหมายที่จะเป็น ส.ส.หรือไม่...นั่นคือกรณีที่จตุพรเป็นผู้ “ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ทำให้เขามิได้ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง (3 ก.ค. 2554)

ลองไล่เรียงกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

มาตรา 20 สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ (1)...(2).....(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 ......

มาตรา 19 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง..............

มาตรา 8 ซึ่งอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง วรรคหนึ่งบัญญัติว่า

“ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้”

มาตรา 8 วรรคหนึ่งที่ยกมาสำคัญตรงที่ว่า “ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ที่บัญญัติว่า

“มาตรา 100 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (1).....(2).........(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

และตบท้ายด้วยมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550

“มาตรา 26 ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควรหรือเป็นผู้ที่มีรายชื่อในประกาศตามมาตรา 25 ให้ถือว่าผู้นั้นเสียสิทธิดังต่อไปนี้

(1).......................(2) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น........(3)..........

แม้ทนายและตัวของจตุพรจะพยายามแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเขาต้องการใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง และทางเขตที่อาศัยก็รับรองว่าเขาไม่เสียสิทธิเพราะได้แสดงเจตนาแล้ว แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ก็คือว่า วันที่ 3 ก.ค. 2554 จตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิ

บางคนบอกว่า..จตุพรไม่ใช่ผู้เสียสิทธิ เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่มีสิทธิจะเสียเพราะเขาหมดสภาพหมดสิทธิไปแล้วตาม รธน.มาตรา 100 อนุ 3 ต่างหาก..

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าผมไม่ใช่นักกฎหมายที่จะมาชี้ขาดอะไรได้ ขณะที่หลายคนอาจนึกถึงกรณีคุณก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 กทม.เมื่อเดือนก.ค. 2553 ซึ่งในวันที่ 26 ก.ค.วันเลือกตั้งคุณก่อแก้วก็ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีจตุพรก็น่าจะเหมือนกรณีก่อแก้ว บางคนถามว่าถ้าวันนั้นคุณก่อแก้วชนะคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ แล้วกกต.จะว่าอย่างไร...

นั่นสิครับ บังเอิญว่าคุณก่อแก้วแพ้ ปัญหามันจึงไม่เกิด กกต.ก็โชคดีไป...

แต่วันนี้มองรอบด้านแล้วผมเชื่อว่า กกต.กำลังมึนตึ้บ...ไม่รับรองคุณจตุพรก็จะเกิดปัญหาอีกแบบ ทั้งปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องมีการหยิบยกกรณีคุณก่อแก้วมาเปรียบเทียบหรือรวมทั้งแง่มุมกฎหมายต่างๆ มาต่อสู้ และรวมทั้งปัญหาแรงกดดันจากมวลชนคน นปช.ที่วันนี้ใส่เสื้อแดงรอรับจตุพรออกจากคุกกันพร้อมพรึ่บแล้ว....

ขณะเดียวกันหาก กกต.รับรอง เชื่อขนมกินได้ว่าจะมีใครต่อใครแห่กันฟ้องเอาผิด กกต.ประเภท “จัดหนัก” อย่างแน่นอน

ถ้า กกต.มึนตึ้บ แล้วคนอย่างเราๆ ท่านๆ จะไม่มึนเสียยิ่งกว่าหรอกหรือ เพราะแม้วานนี้ท่านดร.สดศรีของผมจะบอกว่าให้ปล่อย (จตุพร) ไปก่อน แต่เท่าที่จำได้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ท่านเคยพูดถึงกรณีจตุพรว่าหากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.มีปัญหาแน่ เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย...

ยุ่งล่ะสิ..!!??

ที่ว่ามาทั้งหมดเพียงหยิบยกให้เห็นว่ากรณีจตุพรเป็นกรณีที่น่าศึกษาในเชิงการต่อสู้และการปฏิบัติตามกฎหมาย ในส่วนของจตุพรใครเป็นเขาก็ต้องต่อสู้สุดฤทธิ์สุดเดชตามสิทธิที่ตัวเองเชื่อและมองเห็นว่าควรจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นถ้าเขาได้รับการรับรองก็ไม่ควรไปด่าเขาในกรณีนี้...

ที่ผมเป็นห่วงก็คือ ในส่วนของ กกต.จะอธิบายความกับสังคมการเมืองอย่างไร

ยังไงๆ ก็ขออย่าได้มีชะตากรรมแบบ กกต.ชุด “สามหนาห้าห่วง” ก็แล้วกันน่ะครับ

samr_rod@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น