++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒ - โสภณเจตสิก

พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒ - โสภณเจตสิก
โสภณเจตสิก
โสภณเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีงาม ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เมื่อประกอบกับจิต ก็ทำให้จิตนั้นดีงาม ปราศจากความเร่าร้อน ให้จิตตั้งอยู่ในศีลธรรม มีการเว้นจากบาป เว้นจากทุจริตต่างๆ ฉะนั้นเจตสิก ประเภทนี้ จึงเรียกว่า โสภณเจตสิกจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบ ก็เรียกว่า โสภณจิต ส่วนจิตใดที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบ ก็เรียกว่า อโสภณจิต โสภณเจตสิก มีจำนวน ๒๕ ดวง และยังแบ่งออกได้เป็น ๔ พวก คือ
ก. โสภณสาธารณเจตสิก มี ๑๙ ดวง เป็นเจตสิกที่สาธารณะกับโสภณจิตทั้งหมด หมายความว่า โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงนั้น
ไม่ว่าดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกนี้ประกอบพร้อมกันทั้ง ๑๙ ดวง ไม่มีเว้นเลย
ข. วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เว้นจากบาปธรรมทั้งปวง อันเกิดจากกายทุจริต และวจีทุจริต
ค. อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง เป็นเจตสิกที่มีความรู้แผ่ไปไม่มีประมาณ เรียกว่า พรหมวิหาร ก็ได้ ที่เรียกว่า อัปปมัญญานั้นเพราะแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลาย จนประมาณไม่ได้ ที่เรียกว่า พรหมวิหารนั้น เพราะธรรมนี้เป็นที่อยู่สำราญของพวกพรหม
ง. ปัญญาเจตสิก มีดวงเดียว ไม่มีพวก เป็นเจตสิกที่มีความรู้เป็นใหญ่ เป็นประธาน ปกครองซึ่งสหชาตธรรมทั้งปวง ปัญญินทรียเจตสิก ก็เรียก
โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง มีดังนี้
สัทธาเจตสิก
๑. สัทธา เจตสิก คือ ความเชื่อถือเหตุผลตามความเป็นจริง ความเลื่อมใสในกุสลธรรม ความเชื่อในฝ่ายดี เช่น เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
สทฺทหนลกฺขณา มีความเชื่อถือในอารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
ปสาทนรสา มีการเลื่อมใส เป็นกิจ
อกาฬุสฺสิยปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่ขุ่นมัว เป็นผล
สทฺเทยฺยวตฺถุปทฏฺฐานา มีปูชนียวัตถุเป็นเหตุใกล้
สัทธา แม้อย่างน้อยเพียงเชื่อว่าสัตว์นั้นมีกรรมเป็นของตน คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพียงเท่านี้ก็เป็นคุณยิ่ง มิฉะนั้นก็จะไม่ประหยัดต่อบาปกรรม
จะกระทำอะไรก็ไม่คิดว่าเป็นทุจริตเสียหาย เพราะสำคัญผิดว่าจะไม่ต้องได้รับผลนั้น
ถ้ามีสัทธา เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมแล้ว ก็จะตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
สัทธา จึงเป็นธรรมเบื้องต้นที่จะทำให้ประกอบคุณงามความดี เป็นบุญเป็นกุสล จนหาประมาณมิได้
สัทธา พีชํฯ สัทธาเปรียบเหมือนพืช (อันจะงอกงามโตใหญ่ให้ดอกผลในภายหน้า)
เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสสัทธา
(๑) รูปปมาณ เลื่อมใสสัทธา เพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม
(๒) ลูขปฺปมาณ เลื่อมใสสัทธาเพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อยเคร่งในธรรมวินัย
(๓) โฆสปฺปมาณ เลื่อมใสสัทธา เพราะได้ฟังชื่อเสียงลือว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้
(๔) ธมฺมปฺปมาณ เลื่อมใสสัทธา เพราะได้สดับธรรมของผู้ที่ฉลาดในการแสดง
สติเจตสิก
๒. สติเจตสิก คือความระลึกรู้อารมณ์และยับยั้งมิให้จิตตกไปในอกุสล ความระลึกอารมณ์ที่เป็นกุสล ความระลึกได้ที่รู้ทันอารมณ์
สติ เป็นธรรมที่มีอุปการะมากต้องใช้สติต่อเนื่องกันตลอดเวลา ในทางเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสมาธิ มุ่งทางปฏิบัติซึ่งเป็นทางสายเดียวที่จะหลุดพ้นจากกิเลสไปได้ โดยเจริญสติปัฏฐานทาง กาย เวทนา จิต ธรรม มีสติระลึกรู้อยู่เนื่อง ๆ ว่า กายมีปฏิกูล ฯลฯ สติมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อปิลาปนลกฺขณา มีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆคือมีความไม่ประมาท เป็นลักษณะ
อสมฺโมหรสา มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
อารกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล
ถิรสญฺญาปทฏฺฐานา มีการจำได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้
สติเป็นเครื่องชักนำใจให้ยึดถือกุสลธรรมเป็นอุดมคติ ถ้าหากว่าขาดสติเป็นประธานเสียแล้ว
สมาธิก็ไม่สามารถจะมีได้เลย และเมื่อไม่มีสมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้
เหตุให้เกิดสติ โดยปกติมี ๑๗ ประการ คือ
(๑) ความรู้ยิ่ง เช่น สติของบุคคลที่ระลึกชาติได้พระพุทธองค์ระลึกชาติได้ไม่จำกัดชาติจะระลึกได้ทุกชาติ
ที่พระองค์ปรารถนา สติของพระอานนท์จำพระสูตรที่พระพุทธจ้าตรัสไว้ได้หมด
(๒) ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติ คือเมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดี และจะระมัดระวังจด
จำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด
(๓) สติเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เช่น พระโสดาบันจะจำได้โดยแม่นยำถึงเหตุการณ์
ที่ท่านได้บันลุเป็นพระโสดาบัน หรือบุคคลที่ได้รับยศยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต
(๔) สติเกิดขึ้น โดยระลึกถึงเหตุการณ์ที่ตนได้รับความสุขที่ประทับใจ เมื่อนึกถึงก็จะจำเรื่องต่าง ๆ ได้
(๕) สติเกิดขึ้น เนื่องจากความทุกข์ที่ได้รับเมื่อระลึกถึงก็จะจดจำได้
(๖) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบ
(๗) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่เคยประสบ
(๘) สติเกิดขึ้น เพราะคำพูดของคนอื่น เช่น มีคนเตือนให้เก็บทรัพย์ที่ลืมไว้
(๙) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเครื่องหมายที่ตนทำไว้ เช่น เห็นหนังสือที่เขียนชื่อไว้ถูกลืมไว้
(๑๐) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเรื่องราวต่าง ๆ หรือผลงาน เช่น เห็นพุทธประวัติก็ระลึกถึงองค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
(๑๑) สติเกิดขึ้น เพราะความจำได้ เช่น มีการนัดหมายไว้ เมื่อมองไปที่กระดานก็จำได้ว่าต้องไปตามที่ได้นัดไว้
(๑๒) สติเกิดขึ้น เพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ใช้นับลูกประคำ เพื่อมิให้ลืม
(๑๓) สติเกิดขึ้น เพราะการทรงจำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้
(๑๔) สติเกิดขึ้นเพราะการระลึกชาติได้ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง (บุคคลที่มิใช่พระพุทธเจ้า)
(๑๕) สติเกิดขึ้น เพราะการบันทึกไว้ เมื่อดูบันทึกก็จำได้
(๑๖) สติเกิดขึ้น เพราะทรัพย์ที่เก็บได้เช่นเห็นทรัพย์ก็นึกขึ้นได้ว่าได้เก็บทรัพย์ไว้
(๑๗) สติเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เคยพบเคยเห็นมาแล้ว เมื่อเห็นอีกครั้งก็ระลึกได้
หิริเจตสิก
๓. หิริเจตสิก คือความละอายต่อการทำบาปทำชั่ว ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ บาปคือธรรมชาติที่ทำ
ให้จิตเศร้าหมอง บุญคือธรรมชาติที่ชำระจิตให้สะอาดผ่องแผ้ว ในขณะที่จิตอกุสลเกิดขึ้นอยากจะประพฤติ
ผิดศีล ๕ เครื่องยับยั้งมิให้เกิดอกุสลจิตนั้นก็คือ หิริ คือเกิดความละอายต่อบาปที่จะกระทำ จึงยับยั้งไว้
ช่วยไม่ให้ทำอกุสล ฉะนั้นหิริจึงเป็นธรรมที่เป็นโลกบาล คือเป็นธรรมชาติที่คุ้มครองโลก หิริ เกิดขึ้นทำให้
ละอายต่อบาปจึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง สิ่งที่ทำให้เกิดหิริ คือมีการเคารพตนเอง จึงละอายต่อ
การทำบาป หิริเจตสิกมีลักขณาทิจตุกะดังนี้
ปาปโตชิคุจฺฉนลกฺขณา มีความเกลียดต่อบาป เป็นลักษณะ
ปาปานํอกรณรสา มีการไม่ทำบาป เป็นกิจ
ปาปโตสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานา มีความละอายต่อบาป เป็นผล
อตฺตคารวปทฏฺฐานา มีความเคารพในตน เป็นเหตุใกล้
โอตตัปปเจตสิก
๔. โอตตัปปเจตสิก คือ ธรรมชาติที่มีความสะดุ้งกลัวต่อผลของบาป จึงไม่ทำบาป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อตฺตาสนลกฺขณํ มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นลักษณะ
ปาปานํอกรณรสํ มีการไม่ทำบาป เป็นกิจ
ปาปโตสงฺโกจนปจฺจุปฏฺฐานํ มีความละอายต่อบาป เป็นผล
ปรคารวปทฏฺฐานํ มีความเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้
หิริกับโอตตัปปะ จะเกิดได้ต้องอาศัย เหตุภายนอก ๔ เหตุภายใน ๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง
เหตุภายนอก ๔ ได้แก่
(๑) อตฺตานุวาทภยํ กลัวต่อการถูกติเตียนตนด้วยตนเอง
(๒) ปรวาทานุภยํ กลัวต่อการถูกติเตียนตนจากผู้อื่น
(๓) ทณฺฑภยํ กลัวต่อราชทัณฑ์ คือกฎหมายบ้านเมือง
(๔) ทุคฺคติภยํ กลัวต่อภัยในอบายภูมิ
เหตุภายใน ๘ ได้แก่
(๑) กุละ ละอายบาป กลัวบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน
(๒) วยะ ละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงวัยของตน
(๓) พาหุสัจจะ ละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงการศึกษาของตน
(๔) ชาติมหัตตะ ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงชาติอันประเสริฐของตน
(๕) สัตถุมหัตตะ ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงพระพุทธเจ้า บิดา มารดา ครู อาจารย์
(๖) ทายัชชมหัตตะ ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึง มรดกของพระพุทธเจ้า ของบิดา มารดา ซึ่งตนเองจะต้องรับมรดกนั้น
(๗) สพรหมจารีมหัตตะ ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึง เพื่อนที่ดีที่เคยคบมา
(๘) สูรภาวะ ละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึง ความกล้าหาญและความสงบเสงี่ยมเจียมตัวของตน
อโลภเจตสิก
๕. อโลภ เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ไม่อยากได้ ไม่ข้องในอารมณ์ ไม่ติดในอารมณ์ เมื่อประสบในอารมณ์นั้น จะพยายามให้หลุดออกไปจากอารมณ์นั้น มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อลคฺคภาวลกฺขโณ มีความไม่ติดอารมณ์ เป็นลักษณะ
อปริคฺคหรโส มีการไม่หวงแหน เป็นกิจ
อนลฺลีนภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่ยึดมั่น เป็นผล
โยนิโสมนสิการปทฏฺฐาโน มีการเอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้น เป็นเหตุใกล้
อโทสเจตสิก
๖. อโทสเจตสิก คือธรรมชาติที่ไม่โกรธ ไม่หยาบคาย ไม่มีปองร้าย ไม่ประทุษร้าย (มีเมตตาต่อกัน) มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อจณฺฑิกลกฺขโณ มีความไม่ดุร้าย เป็นลักษณะ
อาฆาตวินยรโส มีการทำลายความอาฆาต เป็นกิจ
โสมภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีความร่มเย็น เป็นผล
โยนิโสมนสิการปทฏฺฐาโน มีการเอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์นั้น เป็นเหตุใกล้
ขนฺติ คือความอดทน ทนตรากตรำ ทนลำบาก ทนต่อเหตุที่ทำให้เจ็บใจ
อกฺโกธ คือ ความไม่โกรธ
ส่วน เมตฺตา ยังประสงค์ให้ผู้อื่นมีความสุขอีกด้วย
ทั้ง ขันติ อักโกธ และเมตตา นี้องค์ธรรมได้แก่ อโทส
เมตตา มีการเพ่งเล็งเห็นความงดงามแห่งจิตใจของผู้อื่น เป็นฐานที่เกิด
ส่วนราคะ มีการเพ่งเล็งเห็นความงดงามแห่งร่างกายของผู้อื่น เป็นฐานที่เกิด
ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
๗. ตัต รมัชฌัตตตาเจตสิก คือ การทำใจเป็นกลาง เป็นยุตติธรรม ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง การวางใจเฉยในอารมณ์ (เป็นอุเบกขาในพรหมวิหาร) มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา มีการทรงไว้ซึ่งจิตและเจตสิกให้เสมอภาค เป็นลักษณะ
อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความยิ่งหย่อน เป็นกิจ
มชฺฌตฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความเป็นกลาง(อุเบกขา) เป็นผล
สมฺปยุตฺตานํปทฏฺฐานา มีสัมปยุตตธรรม เป็นเหตุใกล้
กายปัสสัทธิเจตสิก และ จิตตปัสสัทธิเจตสิก
๘.กายปัสสิทธิเจตสิก คือ สภาวที่ทำให้เจตสิกสงบจากอกุสล ความสงบจากอกุสลของเจตสิก
๙. จิตตปัสสัทธิเจตสิก คือ สภาวที่ทำให้จิตสงบจากอกุสล ความสงบจากอกุสลของจิต
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตานํทรถวูปสมลกฺขณา มีการทำให้เจตสิก ทำให้จิตสงบจากความเร่าร้อน เป็นลักษณะ
กายจิตฺตทรถนิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความเร่าร้อนของเจตสิก ของจิต เป็นกิจ
กายจิตฺตานํ อปริปฺผนฺทนสีติภาว ปจฺจุปฏฺฐานา มีความเยือกเย็น ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
กายลหุตาเจตสิก และ จิตตลหุตาเจตสิก
๑๐. กายลหุตาเจตสิก คือสภาวที่ทำให้เจตสิกเบาจากอกุสล ความเบาของเจตสิกจากอกุสล
๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก คือสภาวที่ทำให้จิตเบาจากอกุสล ความเบาของจิตจากอกุสล
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตครุภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้เจตสิก ทำให้จิต สงบจากความหนัก เป็นลักษณะ
กายจิตฺตครุภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความหนักของเจตสิก ของจิต เป็นกิจ
กายจิตฺตานํอทนฺธตาปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่หนักของเจตสิก ของจิต เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
กายมุทุตาเจตสิก และ จิตตมุทุตาเจตสิก
๑๒. กายมุทุตาเจตสิก คือ สภาวที่ทำให้เจตสิกมีความอ่อนโยน ความอ่อนโยนของเจตสิก ทำให้เป็นไปง่าย
ดายในอารมณ์ที่เป็นกุสล
๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก คือ สภาวที่ทำให้จิตอ่อนโยน เจตสิกที่ทำให้จิตอ่อนโยน เป็นไปได้ง่ายดายในอารมณ์
ที่เป็นกุสล
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตถทฺธวูปสมลกฺขณา มีเจตสิก และมีการทำให้จิตสงบจากความแข็ง กระด้าง เป็นลักษณะ
กายจิตฺตถทฺธภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความแข็งกระด้างของเจตสิก และของจิต เป็นกิจ
อปฺปฏิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่โกรธไม่อาฆาต เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
กายกัมมัญญตาเจตสิก และ จิตตกัมมัญญตาเจตสิก
๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก คือ เจตสิกที่ควรแก่การงานอันเป็นกุสล ความควรแก่การงานของเจตสิก
๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก คือเจตสิกที่ทำให้จิตควรแก่การงานอันเป็นกุสล การทำให้จิตควรแก่งาน
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตากมฺมญฺญภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้เจตสิกทำให้จิตสงบจากความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
กายจิตฺตา กมฺมญฺญภาว นิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความไม่ควรแก่การงานของเจตสิก ของจิต เป็นกิจ
กายจิตฺตานํ อารมฺมณกรณสมฺปตฺติปจฺจุปฏฺฐานา ทำให้เจตสิก ทำให้จิตมีอารมณ์สมควรแก่การงาน เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
จิต ที่ไม่ควรแก่การงาน จะใช้จิตทำสมาธิก็มีผลน้อย เช่นจิตที่มีร่างกายอ่อนเพลีย หรือป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เมื่อร่างกายไม่สะบายการทำสมาธิก็ได้ผลน้อยเสียเวลาทำสมาธิ ๒ ชั่วโมง ก็ทำไม่ได้ เพราะจิตไม่มีกัมมัญญตาเจตสิกประกอบ
จิตและเจตสิกที่ไม่ควร แก่การงาน คือจิตและเจตสิกที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ นิวรณ์เปรียบเหมือน ตะปูตรึงจิต หรือสนิมกินเนื้อเหล็กทำให้เหล็กกร่อน นิวรณ์ทั้ง ๕ อันมี กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์ครอบงำจิตแล้วจิตก็ไม่ควรแก่การงาน ต้องละนิวรณ์ให้ได้ก่อน แล้วจึงใช้จิตทำงาน เมื่อจิตมีกัมมัญญตาเจตสิกประกอบแล้ว การทำสมาธิก็จะได้ผลในชั่วระยะเวลาเพียงเล็กน้อย
กายปาคุญญตาเจตสิก และ จิตตปาคุญญตาเจตสิก
๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก คือ เจตสิกที่ทำให้เจตสิกคล่องแคล่วต่อกุสล ความคล่องแคล่วของเจตสิกในกุสล
๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก คือเจตสิกที่ทำให้จิตคล่องแคล่วต่อกุสล การทำให้จิตคล่องแคล่วในกุสล
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตานํ อเคลญฺญภาวลกฺขณา มีความไม่อาพาธของเจตสิก ของจิต เป็นลักษณะ
กายจิตฺตเคลญฺญนิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความอาพาธ ของเจตสิก ของจิต เป็นกิจ
นิราทีนวปจฺจุปฏฺฐานา มีความปราศจากโทษ เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
กายุชุกตาเจตสิก และ จิตตุชุกตาเจตสิก
๑๘. กายุชุกตาเจตสิก คือเจตสิกที่ทำให้เจตสิกมุ่งตรงต่อกุสล ความมุ่งตรงของเจตสิกต่อกุสล
๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก คือ เจตสิกที่ทำให้จิตมุ่งตรงต่อกุสล การทำให้จิตมุ่งตรงต่อกุสล
เจตสิก ๒ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายจิตฺตอชฺชวลกฺขณา มีความซื่อตรงของเจตสิก ของจิต เป็นลักษณะ
กายจิตฺตกุฏิลภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการทำลายความไม่ซื่อตรงของเจตสิก ของจิต เป็นกิจ
อชิมฺหตาปปจฺจุปฏฺฐานา มีความซื่อตรงของเจตสิก ของจิต เป็นผล
กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีเจตสิก มีจิต เป็นเหตุใกล้
วิรตีเจตสิก
วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก และสัมมาอาชีวะเจตสิก
สัมมาวาจาเจตสิก
๑. สัมมา วาจาเจตสิก คือ การพูดชอบ พูดสิ่งที่เป็นกุสล เว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ มี มุสาวาท พูดปด ปิสุณาวาท พูดส่อเสียด ผรุสวาท พูดหยาบคาย สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับอาชีพ
สัมมาวาจามี ๓ ประการ
ก. กถาสัมมาวาจา ได้แก่ การกล่าววาจาที่ดี มีศีลธรรม เพื่อหวังประโยชน์แก่ผู้ฟัง เช่น อาจารย์สอนศิษย์ เป็นต้น
ข. เจตนาสัมมาวาจา ได้แก่ ผู้มีเจตนาสมาทานศีล ว่าจะละเว้นวจีทุจริต มีการไม่กล่าวมุสา เป็นต้น
ค. วิรตีสัมมาวาจา ได้แก่ การเว้นจากวาจาทุจริตทั้ง ๔ มีเว้นจากมุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาป
ในเมื่อมีอารมณ์ที่ควรจะล่วงปรากฏอยู่เฉพาะหน้า (วิรมิตัพพวัตถุ) (ไม่มีความตั้งใจไว้ก่อนเมื่อประสบกับ
อารมณ์เฉพาะหน้าจึงต้องงดเว้น)

สัมมากัมมันตเจตสิก
๒. สัมมา กัมมันตเจตสิก คือ ประกอบการงานชอบ การงานที่ไม่ทุจริต เว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และล่วงประเวณี เป็นการกระทำปกติ คือ เป็นการทำงานปกติประจำวัน ไม่เกี่ยวกับอาชีพ
สัมมากัมมันตะ มี ๓ ประการ
ก. ยถาพลังสัมมากัมมันตะ ได้แก่ การกระทำการงานโดยชอบ การงานที่ไม่ทุจริต มีการประกอบกุสล เป็นต้น ตามกำลังของตน
ข. เจตนาสัมมากัมมันตะ ได้แก่เจตนาที่ตั้งใจสมาทานว่าจะละเว้นกายทุจริต มีการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงประเวณี
ค. วิร ตีสัมมากัมมันตะ ได้แก่ การเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มีเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การล่วงประเวณี ในเมื่อมีอารมณ์ที่ควรจะล่วงมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า (วิรมิตัพพวัตถุ) หมายความว่าไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะงดเว้น แต่มาประสบกับอารมณ์จึงต้องงดเว้นเฉพาะหน้า

สัมมาอาชีวเจตสิก
๓. สัมมา อาชีวเจตสิก คือ ความเป็นอยู่ชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ประกอบอาชีพที่สุจริต เว้นจากทุจริตทั้ง ๗ คือ เว้นกายทุจริต ๓ และเว้นวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ
สัมมาอาชีวะ มี ๒ ประการ
ก. วิริยสัมมาอาชีวะ ได้แก่ความเพียรในการกระทำการงานหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
ข. วิรตีสัมมาอาชีวะ ได้แก่การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวแก่อาชีพ
เจตสิก ๓ ดวงนี้ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
กายทุจฺจริตาทิวตฺถุนํ อวีติกฺกมลกฺขณา มีการไม่ล่วงกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
กายทุจฺจริตวตฺถุโตสงฺโกจนรสา มีการเว้นจากกายทุจริต เป็นต้น เป็นกิจ
อกริยปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่ทุจริต เป็นผล
สทฺธาหิโรตฺตปฺปาทิคุณปทฏฺฐานา มีคุณธรรมคือ สัทธา หิริโอตตัปป เป็นต้น เป็นเหตุใกล้
อัปปมัญญาเจตสิก
อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง ได้แก่ กรุณาเจตสิก และมุทิตาเจตสิก

กรุณาเจตสิก
๑. กรุณาเจตสิก คือ มีความสงสาร อยากจะช่วยเหลือสัตว์ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ หรือที่จะได้รับทุกข์ในภายหน้า มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
ทุกฺขาปนยนาการปวตฺติลกฺขณา มีการได้เห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ย่อมมีความสงสาร เป็นลักษณะ
ปรทุกฺขาสหนรสา มีการไม่ชอบเห็นทุกข์ของผู้อื่น เป็นกิจ
อวิหึสาปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่เบียดเบียน เป็นผล
ทุกฺขาภิภูตานํ อนาถภาวทสฺสน ปทฏฺฐานา มีการได้เห็นสัตว์อนาถา อันถูกทุกข์ ครอบงำ เป็นเหตุใกล้
อวิหึสา = ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
กรุณา = ยังประสงค์ช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์อีกด้วย
โสก = เราสูญเสียของที่เรารัก ก็โศกเศร้า
กรุณา = เห็นผู้อื่นสูญเสียสิ่งที่เขารัก เราก็ช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากการเศร้าโศก


เมตตา
กรุณา

เป็น อพยาปาท

มุทิตา
อุเบกขา

เป็น อนภิชฌา (ไม่คิดจ้องจะเอาของเขา)
มุทิตาเจตสิก
๒. มุทิตาเจตสิก คือ พลอยยินดีด้วยในเมื่อรู้ว่าเขามีความสุข มีความยินดีต่อสัตว์ที่ได้สุข มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ปโมทนลกฺขณา มีความยินดีด้วยในความสุขของผู้อื่น เป็นลักษณะ
อนิสฺสายนรสา มีการไม่อิสสาริษยา เป็นกิจ
อรติวิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีความปรารถนาให้ผู้อื่นเจริญ เป็นผล
สตฺตานํ สมฺปตฺติทสฺสนปทฏฺฐานา มีการได้เห็นสัตว์มีสมบัติ เป็นเหตุใกล้

ปัญญาเจตสิก
ปัญญาเจตสิก มีแต่ดวงเดียวไม่มีพวก มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัญญินทรียเจตสิก
ปัญญาเจตสิก คือความรู้ในเหตุผลแห่งความจริงของสภาวธรรมและทำลายความเห็นผิด หรือเป็นเจตสิก
ที่มีความรู้เป็นใหญ่ ปกครองซึ่งสหชาตธรรมทั้งปวง มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
ธมฺมสภาวปฏิเวธลกฺขณา มีความรู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม เป็นลักษณะ
โมหนฺธการวิทฺธํสนรสา มีการกำจัดมืด เป็นกิจ
อสมฺโมหปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่หลงผิด หรือไม่เห็นผิด เป็นผล
สมาธิปทฏฺฐานา มีสมาธิ เป็นเหตุใกล้
ปัญญานี้ มีอรรถาธิบายอย่างกว้างขวาง และแจกแจงได้หลายนัย หลายกระบวน เป็นจำนวนมากมาย
แต่ในที่นี้จะกล่าวย่อ ๆ พอให้รู้เค้า จึงขอแจกแจงว่า ปัญญามีเพียง ๓ นัย เท่านั้น คือ
ก. กัมมสกตาปัญญา ปัญญาที่รู้ว่า กรรมเป็นสมบัติของตน
ข. วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ รูปนาม เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ค. โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ ๔ ปัญญาที่รู้เห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน อันเรียกว่า
กัมมสกตาปัญญา นี้ มี ๑๐ ประการ คือ
(๑) อตฺถิทินนํ ปัญญารู้เห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้ว ย่อมมีผล
(๒) อตฺยิฏฐํ ปัญญารู้เห็นว่า การบูชาย่อมมีผล
(๓) อตฺถิหุตํ ปัญญารู้เห็นว่า การบวงสรวงเทวดา ย่อมมีผล
(๔) อตฺถิกมฺมานํ ผลํวิปาโก ปัญญารู้เห็นว่า ผลวิบากของกรรมดีและชั่วมีอยู่ (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ทั้งทางตรงและทางอ้อม)
(๕) อตฺถิอยํโลโก ปัญญารู้เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ (ผู้จะมาเกิดนั้นมี)
(๖) อตฺถิปโรโลโก ปัญญารู้เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ (ผู้จะไปเกิดนั้นมี)
(๗) อตฺถิมาตา ปัญญารู้เห็นว่า มารดามีอยู่ (การทำดี ทำชั่วต่อมารดาย่อมจะได้รับผล)
(๘) อตฺถิปิตา ปัญญารู้เห็นว่า บิดามีอยู่ (การทำดี ทำชั่วต่อบิดาย่อมจะได้รับผล)
(๙) อตฺถิ สตฺตโอปปาติกา ปัญญารู้เห็นว่าโอปปาติกสัตว์นั้นมีอยู่ (สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหมนั้นมี)
(๑๐) อตฺถิ โลเกสมณพฺรหฺมณา สมฺมาปฏิปนฺนา ปัญญารู้เห็นว่าสมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยความรู้ยิ่ง เห็นจริง
ประจักษ์ซึ่งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้นั้นมีอยู่ในโลกนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น