++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ตอบคำถาม : Vote No แล้วพรรคการเมืองใหม่ตั้งขึ้นมาทำไม!? โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“Vote No แล้วพรรคการเมืองใหม่ตั้งมาทำไม?” ดูจะเป็นคำถามคนที่มีต่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไม่เห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบในการแก้ไขวิกฤตของบ้านเมือง และหากมีการเลือกตั้งก็จะรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์แล้วไปกากบาทในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” หรือที่เรียกว่า “Vote No”

การกำหนดทิศทาง Vote No คือไม่เลือกใครเลย ไม่เลือกพรรคการเมืองไหนเลย ไม่เลือกแม้กระทั่งพรรคการเมืองใหม่ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มีมติให้ตั้งพรรคการเมืองพรรคนี้ขึ้นมากับมือเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สำหรับคนที่ทำงานในพรรคการเมืองใหม่ส่วนหนึ่ง อาจหมดกำลังใจ เสียใจ และไม่พอใจ เพราะคนที่ทำงานทุ่มเทในพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ก็คงหวังที่จะเข้าสู่สนามการแข่งขันในการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนก็หวังจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ (หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้การสนับสนุน)

แต่ถ้าเป็นเหล่าบริวารสาวกพรรคการเมืองอื่นๆ จากเดิมที่พยายามกล่าวร้ายว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวระลอกนี้ก็เพื่อทำลายพรรคการเมืองอื่นเพื่อเชิดชูพรรคการเมืองใหม่ ก็ต้องหน้าแตกครั้งใหญ่ เพราะเหล่าบริวารสาวกนักการเมืองเหล่านี้คงคิดแต่ว่าคนทุกกลุ่มต้องเหมือนตัวเองที่ต้องทำทุกอย่างเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้เหล่าบริวารสาวกพรรคการเมืองบางพรรค จึงพยายามสรรหาเหตุผลตื้นเขินหรือข้อกล่าวหาสกปรกว่า การรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธ์ในการเลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเช่นนี้ก็เพื่อ “หาทางลงให้กับพรรคการเมืองใหม่” และเดาเอาว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคงประเมินแล้วว่าพรรคการเมืองใหม่คงได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือได้น้อยมาก การหาเหตุผลเหล่านี้เกิดขึ้นจากเหล่าบริวารสาวกพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังดิ้นพล่านเดือดร้อนอย่างหนักยิ่งกว่าพรรคการเมืองใหม่จากการรณรงค์ Vote No ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้

เหตุก็เพราะมีประชาชนที่เป็นกลางๆ และไม่ใช่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มมีความคิดในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังไม่ทันได้เริ่มรณรงค์อย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำ

ความจริงแล้วการตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้เกิดขึ้นโดยการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งในระดับตัวแทนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในระดับจังหวัดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 และการลงมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแบบฟอร์มนับหมื่นฉบับได้ถูกกรอกและแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การตั้งพรรคการเมืองครั้งนี้ผู้ที่ลงความเห็นให้ตั้งพรรคนั้นไม่ได้คาดหวังเรื่อง “จำนวน”

ดังตัวอย่างคำถามที่ประชาชนลงความเห็นเอาไว้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ต่อประเด็นความคาดหวังจากพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคือ

อันดับ 1 เป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างของการเมืองใหม่ที่ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน มีคุณสมบัติ เสียสละ ซื่อสัตย์กล้าหาญและมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 69.21 อันดับที่สองคือบรรลุข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 13 ข้อ ร้อยละ 15.92 อันดับที่สามคือเข้าสู่อำนาจรัฐและเพื่อไปปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจและสังคมสร้างการเมืองใหม่ด้วยตัวเองให้เร็วที่สุดร้อยละ 8.91 เป็นตัวกระตุ้นและกดดันพรรคการเมืองในปัจจุบันให้เร่งปรับปรุงตัวร้อยละ 4.22

ด้วยเหตุผลนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่จึงไม่เคยกลัวว่าพรรคการเมืองใหม่จะได้ ส.ส.หรือได้คะแนนเสียงมากน้อยเท่าไร มากไปกว่าได้ทำตัวเป็นแบบอย่างทางการเมืองได้จริงหรือไม่ ดังนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องหาทางลงให้กับพรรคการเมืองใหม่

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าในระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 193 วัน เมื่อปี พ.ศ. 2551 คำว่าการเมืองใหม่ ไม่ใช่ชื่อพรรคการเมือง แต่การเมืองใหม่เป็นรูปแบบการเมืองใหม่ที่มีการออกแบบสำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่โดยผู้ชุมนุมและนักวิชาการ

ด้วยเหตุผลนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีความคาดหวังที่จะปฏิรูปการเมืองฐานเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งเอาไว้แต่เดิมนั้นได้คาดหวังที่จะให้เป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างทางการเมืองซึ่งต้องใช้เวลาสั่งสมและพิสูจน์อีกนานกว่าที่สังคมจะหันมามองถึงความแตกต่างจากนักการเมืองทั่วไป

แต่ในช่วงเวลานี้เมื่อสังคมกำลังอยู่ในภาวะที่ผิดหวังต่อพรรคการเมืองในระบบเดิม ทำให้กระแสความเบื่อหน่ายทางการเมืองสูงขึ้น จนมีความรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองอีกต่อไป แต่ประเทศนี้น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในลักษณะการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ และต้องการการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าการรอต้นแบบทางการเมืองในระบบการเมืองที่เน่าเฟะ

ผลสำรวจเรื่องคะแนนนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมืองของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2554 เห็นได้ชัดเจนว่ามีประชาชนที่ยังไม่เลือกพรรคใดและกำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่าถึงร้อยละ 32.7 ซึ่งสูงกว่าทุกพรรคการเมืองในระบบ พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับสองร้อยละ 26.4 พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเป็นอันดับที่สามใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยร้อยละ 25.5 ซึ่งในทางสถิติไม่ถือว่าแตกต่างกัน ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ มีคะแนนนิยมร้อยละ 15.4

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่เลือกพรรคใดกำลังมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่าสองพรรคใหญ่ซึ่งมีสูงที่สุดถึงร้อยละ 32.7 ปรากฏว่ามีอยู่มากถึงร้อยละ 41.2 ในกลุ่มข้าราชการ, ร้อยละ 33.3 ในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน, ร้อยละ 32.7 อยู่ในกลุ่มนักธุรกิจพ่อค้า, และร้อยละ 31.9 ในกลุ่มนักศึกษา และร้อยละ 31.8 ในกลุ่มเกษตรกรและรับใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีพลังเสียงมากที่สุดและจะเป็นตัวชี้ขาดในอนาคตของประเทศไทย

ประชาชนกลุ่มนี้น่าจะไม่ต้องการพรรคการเมืองที่เผาบ้านเผาเมือง ในขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองที่ปล่อยปละละเลยปัญหาจนมีการเผาบ้านเผาเมืองและยังไปสนับสนุนให้มีการประกันตัวแกนนำคนเสื้อแดงด้วย

ประชาชนกลุ่มนี้ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองที่สร้างภาพว่าผู้นำสุจริตแต่แท้ที่จริงกลับปล่อยให้คนในรัฐบาลโกงบ้านกินเมืองอย่างน่าเลวร้ายไม่แพ้กัน

ประชาชนกลุ่มนี้ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองที่ขายชาติขายแผ่นดิน ในขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองที่อ่อนแอจนไม่สามารถรักษาหรือทวงคืนแผ่นดินกลับมาได้

ประชาชนกลุ่มนี้ไม่น่าจะต้องการพรรคการเมืองทั้งสองขั้วที่ลุแก่อำนาจ โยกย้ายข้าราชการอย่างไม่ใช้หลักคุณธรรม และจริยธรรม

ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น ไม่ว่าจะได้พรรคการเมืองขั้วใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล ปัญหาชาติบ้านเมืองก็จะดำรงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่จะหยุดได้นอกจากว่าประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อหยุดปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเองด้วยการ “ปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่”

กลุ่มประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด และกำลังแสวงหาคำตอบในภาวะที่ไม่รู้จะเลือกพรรคการเมืองไหนดี เมื่อมีพลังมากที่สุดหากไม่มีใครไปจุดประกายที่จะใช้พลังของประชาชนที่ยังลังเลหรือมีความคิดว่าพรรคการเมืองในระบบตอนนี้ไม่ใช่คำตอบ พลังของประชาชนเหล่านี้ก็จะกลับไปใช้อย่างสะเปะสะปะและขาดพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างน่าเสียดาย

ในคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะหันไปเลือกพรรคการเมืองใหม่ ดังนั้นหากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัดสินใจไปรณรงค์ให้เลือกพรรคการเมืองใหม่ นอกจากจะเป็นไปตามที่มีการกล่าวหาว่าร้ายว่าเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อพรรคการเมืองใหม่อันเป็นเรื่องที่เป็นเท็จแล้ว ยังจะเป็นการทำลายแนวร่วมของประชาชนที่มีโอกาสที่จะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศอีกด้วย

จริงอยู่ที่ว่าการกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก เพราะอย่างไรพรรคการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งก็ต้องเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอยู่ดี แต่อย่างน้อยผลของการที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน จะทำให้เกิดผลอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก เป็นการแสดงสิทธิ์ของประชาชนที่ปฏิเสธกลุ่มการเมืองในระบบทั้งหมด ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ไม่ยินยอมให้สิทธิ์ตัวเองถูกข่มขืนเพื่อเลือกพรรคการเมืองหนึ่งเพราะกลัวอีกพรรคการเมืองหนึ่งจะมา ไม่ยินยอมให้สิทธิ์ของตัวเองเป็นเครื่องมือให้คนที่เลือกเข้าไปนั้นสนับสนุนยกมือกลุ่มการเมืองของตัวเองโดยไม่สนใจผิดชอบชั่วดี เป็นการแสดงสิทธิ์ส่วนตัวเพื่อไม่ให้เป็นตราบาปให้กับตัวเองว่าเลือกคนชั่วมาครองเมืองและทำร้ายประเทศชาติ หรือเลือกคนที่คิดว่าดีแต่กลับยกมือสนับสนุนโจรให้โกงบ้านกินเมืองหรือขายชาติขายแผ่นดิน ถือเป็นการสั่งสอนนักการเมืองโดยสิทธิ์ของประชาชนอย่างมีการจัดการ

ประการที่สอง หากประชาชนมีนัดหมายไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน และหากมีผู้ใช้สิทธิ์ไม่เลือกใครรวมกับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จะมีความหมายว่าการเมืองในระบบทั้งหมดเป็นเพียงเสียงข้างน้อยของคนในประเทศนี้ และความชอบธรรมของนักการเมืองในการปกครองประเทศลดลง และความชอบธรรมในการปฏิรูปประเทศย่อมสูงขึ้น

ประการที่สาม หากมีประชาชนนัดหมายไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแล้วมีมากเกินคาด ก็จะต้องนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองระดับชาติโดยภาคประชาชน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเข้าชื่อกันเพื่อแก้ไขกฎหมายสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดยประชาชน

ประการที่สี่ หากมีประชาชนนัดหมายไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแล้วมีมากเกินคาด จะเป็นแรงกดดันที่บีบนักการเมืองให้ต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงที่หายไปจากระบบจำนวนมากให้กลับคืนมาเป็นคะแนนของตน นั่นก็คือการดึงคะแนนเสียงออกจากระบบโดยการ Vote No ก็เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของประชาชนเพื่อบีบให้นักการเมืองต้องยินยอมให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

กระแส Vote No ครั้งนี้ทำเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายด้าน อย่างน้อยที่สุดหากเชื่อว่าทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนลดลง และทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาลมากขึ้น โอกาสที่ประเทศนี้จะถูกรัฐประหารอีกครั้งทั้งก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งยังคงเป็นไปได้อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นอันตรายกับสถาบันหลักของชาติ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อกลุ่มอำนาจทหาร

ด้วยเหตุผลนี้พรรคเพื่อไทยจึงต้องดึงนายเสนาะ เทียนทอง เข้ามาสู่หลังคาบ้านพรรคเพื่อไทย เพราะเบื้องลึกแล้วด้านหนึ่งนายเสนาะ เทียนทอง ก็เจรจายื่นเงื่อนไขให้พรรคเพื่อไทยถอยห่างจากขบวนการล้มเจ้า แต่อีกด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยก็ใช้นายเสนาะ เทียนทอง เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปยังกลุ่มทหารและกลุ่มอำนาจใหม่เป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันไม่ให้ทหารยึดอำนาจในยามที่พรรคเพื่อไทยขึ้นสู่อำนาจ ส่วนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแผนอำพรางหรือไม่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ในขณะที่กระแส Vote No ในวันนี้ก็มีพลังอำนาจในระดับหนึ่งที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายรัฐบาลต้องหยุดคิด และไม่กล้าที่จะลงมติให้ความเห็นชอบในบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งจะทำให้ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลจะต้องมีคะแนนเสียงที่ลดลงและหายไปกับการ Vote No มากขึ้นทุกวัน

นอกจากนี้หากทุกฝ่ายมองเห็นว่ากระแส Vote No มีมากอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่คนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจอาจเดินหน้าทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ก่อนการเลือกตั้ง

แต่หากมีการเลือกตั้งแล้วปรากฏว่าคะแนน Vote No เมื่อรวมกับคนที่นอนหลับทับสิทธิ์มีน้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะหากแม้ไม่มี Vote No ปัญหาทางการเมืองก็มีอยู่เดิมอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยการลอง Vote No ถ้าไม่ได้ชัยชนะก็เท่าทุนเพราะปัญหาทางการเมืองก็คงอยู่เหมือนเดิมอยู่ดีการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านสิ่งที่ชั่วร้ายก็จะยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่การได้มีโอกาสใช้สิทธิ์โดยไม่ส่งเสริมให้นักการเมืองไปทำร้ายบ้านเมืองนั้น อย่างน้อยที่สุดไม่ว่าผลเป็นอย่างไรคนที่ไปใช้สิทธิ์เช่นนั้น ก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว

ด้วยเหตุผลนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเดินเกมว่า “หากมีการเลือกตั้งก็เดินหน้ารณรงค์ Vote No ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกาไม่เลือกใคร” แต่เรื่องนี้หากพรรคการเมืองใหม่ตัดสินใจว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็สามารถแปรสภาพศูนย์ประสานงานพรรค และสาขาพรรคไปเป็นหน่วยรณรงค์ Vote No และเป็นหน่วยตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งให้ได้อย่างที่สุด หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่า พรรคการเมืองใหม่ เสียสละเรื่องตำแหน่งส่วนตัว ยืนเคียงข้างประชาชน เข้าใจประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งจะสามารถครองหัวใจของประชาชนได้ในอนาคต

แต่พรรคการเมืองใหม่ เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคจะต้องตัดสินใจอนาคตของตัวเอง ซึ่งก็ต้องเคารพสิทธิ์และเหตุผลซึ่งกันและกันระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันก็ได้

เพียงแต่ว่าสำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว รอบนี้หากมีการเลือกตั้งขอเดินหน้า Vote No ก่อน!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น