++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

"ไสยาวสาน” หรือ "อนุฏฐานไสยา" การนอนโดยไม่ลุกขึ้นอีก

เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำนาคาวโลก ณ ประตูเมืองเวสาลีแล้ว ได้นำพระภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินมุ่งหน้าสู่บ้านภัตฑุคาม (ภัตฑคาม) หลังจากแสดงธรรมโปรดเหล่าพุทธบริษัทให้ตั้งอยู่ในอริยธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุต อันเป็นธรรมแห่งการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปสู่ บ้านหัตภีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนครโดยลำดับ หลังจากแสดงธรรมโปรดชาวเมืองโภคนครแล้ว จึงเสด็จต่อไปยังเมืองปาวานครและได้ประทับ ณ อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ในครั้งนั้นนายจุนทะผู้มีอาชีพช่างทองเมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาประทับในสวนของตนก็บังเกิดความยินดี รีบนำเครื่องสักการะมาถวาย พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ยังผลให้นายจุนทะมีความชื่นชมโสมนัสได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมทั้งกราบทูลให้ เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตนพระบรมศาสดาทรงรับด้วย ดุษณีภาพ คือนั่งนิ่ง หมายถึง การรับนิมนต์ อันเป็นธรรมเนียมของสมณะ ในเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อพระผู้มีพระภาคนำภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึงเรือน นายจุนทะได้จัดโภชนาหารอันประณีตไว้ถวายพร้อม สุกรมัททวะ พระพุทธองค์ตรัสแก่นายจุนทะว่าสุกรมัททวะจงอังคาส คือ ถวาย เฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว ที่เหลือให้ขุดหลุมฝังเสีย เพราะนอกจากพระองค์แล้วไม่มีผู้ใดสามารถย่อยได้ จงนำอาหารอื่น ๆ จัดเตรียมไว้ถวายเหล่าภิกษุสงฆ์ นายจุนทะได้กระทำตามพุทธประสงค์ทุกประการ

สุกรมัททวะ แปลตามศัพท์ เนื้อหมูอ่อน แต่บูรพาจารย์ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า น่าจะเป็นอาหารหรือยาที่ปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับพระโรคของพระพุทธองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงตรัสให้นำที่เหลือไปฝัง พระองค์เสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงอดกลั้น มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเสด็จให้ถึงสถานที่เพื่อ ดับขันธ์ปรินิพพาน

ในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัทวะ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า..

“ดูกรอานนท์ ! เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว อาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ
จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพานหรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่า
เพราะเสวยสุกรมัทวะ อันตนถวายแล้วพระตถาคตจึงนิพพาน"

"ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกัน
คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะถวายนี้
ครั้งแรก เสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือ การดับกิเลส
ครั้งหลัง นี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่ง ขันธนิพพาน
คือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่ ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้
ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย
อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นพระ ตถาคต พร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองกุสินารา เข้าสู่ สาลวโนทยาน คือ อุทยานที่เต็มไปด้วยต้นสาละที่ออกดอกสพรั่ง จึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละที่โน้มกิ่งเข้าหากัน หันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลาย อันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น
หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่
ดูกรอานนท์ ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม
ผู้นั้นแลชื่อว่า สักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันเยี่ยม”

ในระหว่างทางที่เสด็จพุทธดำเนินสู่เมืองกุสินารา พระบรมศาสดาเกิดกระหายน้ำมากถึงเสด็จเข้าประทับพักยังร่มไม้ริมทาง ตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย ในหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติกล่าวว่า เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระพุทธองค์ทรงกระหายและขอน้ำดื่มในระหว่างทาง ขณะยังไม่ถึงที่พัก ทั้งนี้เนื่องจากพระอาการประชวร พระอานนท์เห็นน้ำในแม่น้ำขุ่นเพราะกองเกวียนจำนวน ๕๐๐ เล่ม เพิ่งแล่นผ่านไปจึงกลับมาทูลอาราธนาให้เสด็จต่อไปจนถึงแม่น้ำ กกุธานที อันเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งมีน้ำใสเย็นและจืดสนิท

พระบรมศาสดาตรัสให้พระอานนท์กลับไปตักน้ำมาถวายใหม่อีกครั้ง คราวนี้น้ำในแม่น้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดปราศจากธุลีเป็นอัศจรรย์ พระบรมศาสดาทรงตรัสถึงสาเหตุที่น้ำในแม่น้ำขุ่นข้นในครั้งแรกว่า เกิดจากบุพกรรม คือ กรรมแต่ชาติปางก่อนเมื่อครั้งที่พระองค์เสวยชาติเป็นพ่อค้าเกวียน ครั้งหนึ่งขณะนำกองเกวียนจำนวน ๕๐๐ เล่มไปค้าขายยังต่างเมือง พระองค์สั่งให้นำกะทอ คือ เครื่องครอบสวมปากวัวไว้ทั้งหมดเพราะเกรงจะกินน้ำในแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่เดินทางผ่านอันอาจไม่สะอาด ครั้นเดินทางถึงแม่น้ำสายใหญ่แล้วจึงสั่งให้ถอดกะทอออกฝูงวัวจึงได้กินน้ำ กรรมอันนั้นได้ติดตามมาสนองในขณะจวนจะเสด็จปรินิพพาน ทำให้ได้น้ำดื่มอย่างยากลำบาก ส่วนสาเหตุที่น้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้นกลับใสขึ้นมานั้น เกิดจากผลบุญเมื่อพระองค์เสวยชาติเป็นพ่อค้าเกวียนนำกองเกวียนออกเดินทางค้า ขายผ่านสถานที่กันดาร น้ำที่เตรียมไว้หมดคนทั้งหลายพากันอดอยากสิ้นกำลัง พระองค์ไม่ยอมย่อท้อพยายามเสาะหาสถานที่อันมีต้นหญ้าขึ้นอยู่เขียวชอุ่มจึง ให้ช่วยกันขุดดินและแผ่นหินที่ขวางกั้นอยู่ ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำขึ้นในสถานที่กันดาร ผู้สัญจรเดินทางผ่านไปผ่านมาได้อาบกินเกิดกุศลแก่ผู้สร้าง หลังจากพักผ่อนอัธยาศัยพอแก่เวลาอันสมควรแล้ว พระบรมศาสดาจึงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จสู่เมืองกุสินาราตามพระพุทธประสงค์ต่อไป
"ไสยาวสาน” หรืออนุฏฐานไสยา การนอนโดยไม่ลุกขึ้นอีก

เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินสู่ เมืองกุสินารา ขณะแวะประทับระหว่างทางภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ในขณะนั้น ปุกกุสบุตรแห่งมัลลกษัตริย์ เรียกโดยทั่วไป ปุกกุส มัลลบุตร ผู้เป็นสาวกของท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร คือดาบสผู้หนึ่งที่พระบรมศาสดาเคยเสด็จไปศึกษาลัทธิเมื่อสมัยที่ยังมิได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เดินทางผ่านมาพอดี จึงเข้าไปถวายนมัสการ พระพุทธองค์ทรงแสดงสันติวิหารธรรมโปรด ปุกกุสบุตรจึงน้อมถวายผ้าสิงคิวรรณอันมีค่าสูง ด้วยเป็นผ้าเนื้อละเอียด สีดังทองสิงคี งามและประณีตจำนวน ๑ คู่ พระพุทธองค์ตรัสให้ถวายพระองค์เพียงผืนเดียวอีก ๑ ผืน ให้นำไปถวายพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก หลังจากปุกกุสบุตร ปฏิบัติตามและทูลลาจากไปแล้ว พระอานนท์ได้นำผ้านั้นมาถวายพระผู้มีพระภาค ให้พระองค์ทรงนุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง ทำให้ผิวพระวรกายของพระบรมศาสดางดงามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก พระพุทธองค์ตรัสว่าสาเหตุ ที่ทำให้ผิวกายของพระองค์บริสุทธิ์เช่นนี้มีอยู่ ๒ เวลา คือ เมื่อจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากนั้นพระบรมศาสดาจึงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินต่อไปจนถึงแม่น้ำ กกุธานที เมื่อเสด็จลงเสวยและสนานสำราญพระกายตามพระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จขึ้นประทับยังร่มไม้รับสั่งให้พระจุนทรเถระปูลาดสังฆาฏิถวายด้วยขณะ นั้นพระอานนท์กำลังบิดผ้าชุบสรงอยู่ พระพุทธองค์บรรทมพักผ่อนพระวรกายหลังจากที่ทรงตรากตรำมาในระหว่างทาง เมื่อตื่นบรรทมแล้วได้ตรัสแก่พระอานนท์ถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่พระองค์ ๒ ครั้งโดยนางสุชาดา ผู้ถวายก่อนที่จะตรัสรู้ธรรมสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปฐมบิณฑบาต และถวายโดยนายจุนทะ ผู้ถวายก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพาน เป็นปัจฉิมบิณฑบาต เป็นการถวายอาหารบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตทั้งหลาย เป็นกุศลกรรม ทำให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์ ขออย่าให้มีผู้ใดติติงนายจุนทะด้วยความเข้าใจผิดว่าอาหารที่ถวายเป็นอันตราย ด้วยมิใช่เช่นนั้นแต่ประการใด ต่อจากนั้นพระบรมศาสดาจึงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดีในเมืองกุสินารานคร แล้วเสด็จเข้าไปประทับ ณ สาลวันอุทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ใกล้เมือง กุสินารานคร แคว้นมัลละ โปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่างไม้รัง ต้นสาละ ทั้งคู่ แล้วเสด็จบรรทมสีหไสยา มีสติสัมปชัญญะ แต่มิมีอุฏฐานสัญญามนสิการ คือ ไม่มีพุทธประสงค์จะลุกขึ้นอีกต่อไป เนื่องจากเป็นไสยาวสาน คือ นอนครั้งสุดท้ายจึงนิยมเรียกว่า อนุฏฐานไสยา คือนอนโดยไม่ลุกขึ้นอีก

ดอกสาละ หรือ ต้นรัง

"ดอกสาละบานสะพรั่ง”

ในครั้งนั้น ต้นสาละ หรือต้นรังทั้งคู่ได้ผลิดอกเบ่งบานเต็มต้น และร่วงหล่นลงมาเป็นการบูชา
พระพุทธสรีระเป็นที่อัศจรรย์ แม้ดอกมณฑา ในเมืองสวรรค์ตลอดจนทิพยสุคนธชาติทั้งหลาย
ต่างก็เบ่งบานตกลงมาบูชาพระผู้มีพระภาค เหล่าเทพยดาทั้งหลายต่างประโคมดนตรีทิพย์
บันลือลั่นเป็นมหานฤนาท เพื่อบูชาพระตถาคตเจ้าในกาลอวสาน


ขอขอบคุณภาพจาก board.palungjit.com

"ดอกมณฑา" ทิพยบุปผาร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์

พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ถึงการบูชาพระพุทธเจ้าว่าการปฏิบัติธรรมนั้น คือ เครื่องบูชาอันสูงค่า
แก่พระองค์ คือ ผู้ที่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยอามิสทั้งหลาย ไม่ว่ามากมายใหญ่โตอย่างใดก็ตาม
ไม่นับว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระพุทธเจ้า... แต่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม จึงชื่อว่าสักการะ เคารพ บูชา นอบน้อมพระพุทธเจ้า
ลำดับนั้นตรัสให้พระอุปวาณะเถระที่ยืนถวายงานพัดถอยออกไป ด้วยขณะนี้เหล่าเทพยดา
ทุกสวรรค์ทั้งฟ้าได้มาประชุมกันเพื่อบูชาพระผู้มีพระภาค โดยหวังจะเห็นพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย

ในเวลานั้น พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า

"ในกาลก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่าง ๆ ได้เข้าใกล้
สนทนาปราศัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป"
เมื่อพระอานนท์กราบทูลเช่นนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า

"อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้ เป็นสถานที่ควรแก่ความสังเวช เมื่อผู้มีศรัทธา
ได้ไปยังสถานที่ ๔ แห่งนี้ด้วยความเลื่อมใสเมื่อทำการกิริยา คือ ตายลงแล้ว
จักได้ถึงสุคติ ไปเกิดในโลกสวรรค์ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ อันได้แก่

๑. สถานที่พระพุทธองค์ประสูติจากพระครรภ์
๒. สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓. สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร
๔. สถานที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

อนึ่ง สังเวชนียสถาน มีความหมายถึง เป็นสถานที่ตั้งแห่งความสังเวช แต่คำว่าสังเวชในทางธรรมนั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่าความหมายของคำว่าสังเวชที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ในทางธรรมหมายถึง ความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ถึงพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความทุกข์สลดใจ ความยึดมั่นถือมั่นไว้ไม่ได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงามเกิดความ ไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช

สถานที่ทรงประสูติ-เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช
๑. สถานที่พระพุทธองค์ทรงมีพระประสูติกาลจากพระครรภ์พระมารดา คือ อุทยานลุมพินี
ตั้งอยู่กึ่งกลางระว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะ
กรุงเทวทหะเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาลห่างชายแดนภาคเหนือ
ของประเทศอินเดีย ๖ กิโลเมตรครึ่ง บัดนี้เรียกว่า รุมมินเด

มหาเจดีย์ที่พุทธคยา-สถานที่ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒. สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิ์
ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
ปัจจุบันคือ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหารประเทศอินเดีย

ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถพาราณสี-สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร
๓. สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร คือ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา
โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี แคว้นกาสี
ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถพาราณสี บัดนี้เรียกว่า วาราณสี ประเทศอินเดีย

สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ-สถานที่ปรินิพพาน
๔. สถานที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ที่สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
ปัจจุบันี้เรียก เมืองกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ ประเทศอินเดีย

สถาน ที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน"
พระอานนท์ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ

ในเวลานั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธ สรีระอย่างไร”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์ เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี
จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้น
เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และ คหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคต
ก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย”
พระอานนท์ทูลว่า
“พระเจ้าข้า” เรื่องนี้เป็น หน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์
ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร”
พระองค์ทรงตรัสว่า
“อานนท์ ! ชนทั้งหลายปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร
ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด”
พระอานนท์ทูลถามว่า
“ทำย่างไรเล่า พระเจ้าข้า”
พระองค์ทรงตรัสว่า
“อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี
แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่ หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วบรรจุในหีบทอง
อันเต็มไปด้วยน้ำมันหอมเชิญขึ้นบนจิตกาธาน คือเชิงตะกอนที่เผาศพ อันทำด้วยไม้จันทน์หอม
แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา เพื่อถวายพระเพลิง แล้วอัญเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุได้
ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ ๔ ทิศ สี่แพร่ง และสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน
เพื่อเป็นที่สักการะแก่เหล่ามหาชนตราบสิ้นกาลนาน ด้วยบุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป"
ภาพพุทธประวัติจากวัดพระรามเก้า
ทรงตรัสพยากรณ์พระอานนท์

ด้วยความอาลัยรักในพระพุทธองค์ พระอานนท์เถระได้ไปยืนเหนี่ยวประตูวิหารร้องไห้คิดสังเวชตัวเองว่าสู้ อุตส่าห์ติดตามปฏิบัติพระผู้มีพระภาคประดุจเงาติดตามพระองค์มาด้วยความเคารพ รัก บัดนี้ถึงแก่การดับขันธปรินิพพานแล้ว ตนยังมิได้บรรลุอรหัตผลเหมือนพระเถระอื่น ๆ ครั้นพระพุทธองค์มิได้เห็นพระอานนท์จึงเรียกให้เข้ามาและตรัสปลอบว่า

“ดูก่อนอานนท์ ! เธออย่างโศกเศร้า อย่าร่ำไรเลย เราได้บอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงถาวร จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน
ดูก่อนอานนท์ ! ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้นแล้ว จะต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงเช่นเดียวกัน”

ต่อจากนั้นได้ตรัสพยากรณ์ว่า หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ขอให้อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ในไม่ช้าจะได้ถึงความสิ้นอาสวะ คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนวันพระสงฆ์ทำปฐมสังคายนา ทั้งยังได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์เถระว่าเป็น เอตทัคคะ คือ เป็นเลิศในการบำเพ็ญพุทธอุปัฏฐาก เช่นเดียวกับพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ที่เคยมาตรัสรู้ในโลกแล้ว หรือที่กำลังจะมาตรัสรู้ในกาลอนาคตย่อมมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพระอานนท์ เถระด้วยเป็นผู้ประกอบกิจธุระด้วยปัญญาอันรอบรู้ ว่าการใดควรให้ผู้ใดเข้าเฝ้า ไม่ว่าจะเป็น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเดียรถีย์ ทั้งเป็นผู้แสดงธรรมได้อย่างน่าชื่นชม ผู้ฟังมิบังเกิดความเบื่อหรืออิ่มในธรรม ใคร่จะได้ฟังซ้ำและมีความยินดีเบิกบานในธรรมเมื่อจบการแสดงธรรม

นอก จากนั้นยังได้รับการยกย่องในด้านเป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ คือความทรงจำพุทธวจนะ คือพระธรรมคำสั่งสอน และการรับใช้ศาสนา หลังจากพุทธปรินิพพาน พระสงฆ์ได้ทำปฐมสังคายนาและร้อยกรองพระธรรมวินัยคำสอนที่เป็นพระสูตรทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฏกตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๓๓ รวม ๔๔ เล่ม ล้วนเป็นผลแห่งความจำอันเป็นเลิศของพระอานนท์ทั้งสิ้นด้วย สามารถเป็นพลวปัจจัย คือปัจจัยอันมีกำลัง ให้ผู้เคารพกราบไหว้ถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส และเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน”
ทรงโปรดสุภัททะปริพาชก

ในราตรีนั้นได้มีนักบวชปริพาชกนอกพระพุทธศาสนาผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงขอร้องวิงวอนว่า อย่าได้รบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ซึ่งปริพาชกสุภัททะก็ยังกล่าววิงวอน ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ พระอานนท์ได้ห้ามว่า

“อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว
พระองค์ประชวรหนักจะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน”
ท่านสุภัททะยังได้วิงวอนต่อว่า
“โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู
โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระศาสดาเถิด”
พระอานนท์ทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนเช่นเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า
จนได้ยินถึงพระพุทธองค์ จึงรับสั่งว่า
“อานนท์ ! ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคตเถิด”

เมื่อสุภัททะได้เข้าเฝ้าพระศาสดานั้น ก็ขอประทานโอกาสกราบทูลถามข้อข้องใจบางประการ ซึ่งพระพุทธองค์ก็อนุญาตให้ถาม โดยสุภัททะได้กราบทูลถามว่า

“พระองค์ผู้เจริญ คณาจารย์ทั้งหกคือ ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะกัจจายนะ
สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก
ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสหรือประการใด”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“เรื่องนี้หรือสุภัททะที่เธอดิ้นรนขวนขวายมาหาเราด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด”
พระศาสดาตรัสทั้งยังหลับพระเนตรอยู่ แล้วทรงตรัสแก่สุภัททะว่า
“อย่าสนใจกับเรื่องนี้เลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอเหลือน้อยเต็มทีแล้ว
จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด”
"ถ้าอย่างนั้น... ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาสามข้อ คือ รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่
สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่"
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้น ไม่มี ศาสนาใดไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุด
ในสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ก็ไม่มีในศาสนานั้น
ศาสนาใดมีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในศาสนานั้นมีสมณะผู้สงบถึงที่สุดทั้ง ๔ ประเภทนั้น
สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอ มีเท่านี้หรือ"
"มีเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธองค์ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะจึงตรัสว่า
“สุภัททะ ! ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ
ดูกรสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึง
ซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ
ดูกรสุภัททะ ! ถ้าภิกษุหรือใครก็ตามจะพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ
ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”

สุภัททะปริพาชก เมื่อได้ฟังพระดำรัสนี้แล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทบรรพชา พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ “ติตถิยปริวาส” คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจ เป็นเวลา ๔ เดือนก่อนแล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ สุภัททะทูลว่าตนเองพอใจอยู่บำรุงปฏิบัตพระภิกษุ ทั้งหลาย ๔ ปี

ปัจฉิมสาวก สุภัททะภิกษุ

พระตถาคตเห็นความตั้งใจของสุภัททะ จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์ทรงทำตามรับสั่ง นำสุภัททะปริพาชกไปปลงผม โกนหนวด บอกกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ศีล สำเร็จเป็นสามเณร บรรพชาแล้วนำมา เฝ้าพระตถาคตซึ่งทรงตรัสบอกกรรมฐาน อีกครั้งหนึ่ง

ตลอดราตรีนั้น พระภิกษุสุภัททะได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำกรรมฐาน เดินจงกรมอย่างไม่ยอมย่อท้อ ไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยเพื่อบูชาคุณแห่งพระบรมศาสดาผู้จะปรินิพพานใน ปัจฉิมยามนี้ ในขณะที่เดินจงกรมอยู่ภายใต้แสงจันทร์เต็มดวง ในคืนวิสาขปุรณมีนั้น พระจันทร์ที่สุกสกาวเจิดจรัส เต็มท้องฟ้านั้น กลับถูกเมฆก้อนใหญ่ดำทมึนเคลื่อนคล้อยเข้าบดบัง จนมิดดวงไป แต่ไม่นานนักก้อนเมฆนั้นก็เคลื่อนคล้อยออก แสงจันทร์นวลสุกสกาวกลับสว่างตามเดิมนั่นเป็นเหตุให้ดวงปัญญาของพระภิกษุสุ ภัททะบังเกิดขึ้น เมื่อท่านเปรียบเทียบแสงจันทร์และก้อนเมฆนั้น

“โอ.. จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์แต่อาศัยกิเลศที่จรมาเป็นครั้งคราว
จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง”

แล้ววิปัสนาญานก็บังเกิดแก่พระภิกษุสุภัททะ สามารถขจัดอาสวะกิเลสทั้งมวล บรรลุอรหัตผลในคืนนั้น จึงนับเป็น พระอัครสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานบวชให้ เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชก จนได้สำเร็จพระอรหันต์ปัจฉิมสาวก
พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้า แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระฉันนะถือตัวว่า เป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์ คราวเสด็จสู่มหาภิเนกษกรม เป็นผู้ว่ายาก ไม่รับโอวาทใคร ๆ แม้จะกรุณาเตือน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น ด้วยหาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติแก่ท่านอย่างไร ในกาลเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์ แก่ฉันนะเถิด”

พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“พรหมทัณฑ์ เป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“อานนท์ การลงพรหมทัณฑ์ นั้น คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอนเลย ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะ อานนท์ เมื่อฉันนะถูกสงฆ์พรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด และสำเหนียกในธรรมวินัย เป็นผู้ว่าง่าย ยอมรับโอวาท ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล”
แล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่าให้ภิกษุทั้งหลายลง พรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะอดีตมหาดเล็กผู้ถือว่าตนมีความสำคัญกว่าผู้ใดเพราะเคย ติดตามพระพุทธองค์ตั้งแต่ครั้งเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ด้วยเหตุนี้พระฉันนะจึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ไม่ยอมฟังคำของพระเถระอื่น ๆ
หลังจากถูกลงพรหมทัณฑ์แล้ว คือ ภิกษุทั้งหลายไม่พึ่งว่ากล่าว ไม่พึงให้โอวาท ไม่พึงสั่งสอน ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น พระฉันนะ จึงยอมสำนึกตัวและในที่สุดได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพาน
นลำดับต่อมา พระอานนท์หรือสาวกอื่น ต่างก็พากันคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์สมควรจะแต่งตั้งใครผู้ใดผู้หนึ่งให้อยู่เป็นผู้นำหรือเป็นหลัก ของพระพุทธศาสนาแทนพระบรมศาสดาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคได้ประทานโอวาทแก่พระอานนท์และภิกษุทั้งหลายว่า

"อานนท์ บางทีพวกเธอพึงมีความคิดเช่นนี้ว่า ปาพจน์(ศาสนา) เมื่อพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว
ไม่ควรดำริว่าพระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว ศาสดาของเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงคิดเช่นนั้น
ด้วยแท้จริงแล้ว ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้วและบัญญัติไว้แก่พวกเธอแล้ว ธรรมและวินัยอันนั้น
จักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา แทนเรา"


เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน ปัจฉิมโอวาท ดังความว่า

"อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน
และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ”


ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็หยุดมิได้ตรัสอะไรอีกเลย
ทรงทำพระนิพพาน บริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลม (ตามลำดับ) ดังนี้

ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑ ) ออกจากปฐมฌานแล้ว
ทรงเข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ออกจากทุติยฌานแล้ว
ทรงเข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ออกจากตติยฌานแล้ว
ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ออกจากจตุตถฌานแล้ว
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าอากิญจักญายตนะ ออกจากอากิญจักญายตนะแล้ว
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ๙ อันเป็นนิโรธสมาบัติที่มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา
คือไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ
ผู้ไม่คุ้นเช่นพระอานนท์เข้าใจว่าพระบรมศาสดาเข้าสู่นิพพานแล้ว
แต่พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่าบัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ใน
สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงเสด็จออกจาก

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมยาม
(เหมือนขึ้นสู่ตึกชั้นที่ ๙ แล้วถอยลงมาสู่ชั้นที่ ๘ ตามลำดับจนถึงชั้นที่ ๑)
แล้วย้อนจากปฐมยาม ขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย
จึงปรินิพพานอยู่ในฌาน เป็นธรรมเนียมนิยมทั่วไปเพราะขณะอยู่ในฌาน
อานุภาพของฌานย่อมรักษาตลอดเวลาที่ยังดำรงอยู่ในฌานนั้น ๆ
เป็นการนิพพานโดยไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน

หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหว กลองทิพย์บรรเลง เสียงกึกก้องกัมปนาท ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเป็นอาทิ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรแห่งสังขาร ด้วยความเคารพเลื่อมใส เหล่ามหาชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ ณ สาลวันนั้นต่างก็โศกเศร้าร้องร่ำไรรำพัน พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเจ้าได้แสดงธรรมกถาปลุกปลอบ เพื่อให้คลายความเศร้าโศกโทมนัส

ท้าวสหัมบดีพรหมทรงกล่าวคาถาว่า
"สัตว์ทั้งปวงทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดา ผู้ไม่มีใครเปรียบปาน
ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

ท้าวสักเทวราชหรือพระอินทร์ทรงกล่าวคาถาว่า
"สังขาร ทั้งหลายไม่เที่ยงแท้หนอ เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
การดับสังขารทั้งหลายได้ เป็นความสุขแท้"

ซึ่ง คาถาของพระอินทร์ได้ถูกนำมาเป็นคาถา "บังสุกุล" ของพระภิกษุสงฆ์เมื่อมีคนตายและการพิจารณาสวดศพก่อนที่จะกระทำการฌาปนกิจ ดังมีคาถาว่า
"อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข"

พระอนุรุทธะเถระได้กล่าวคาถาว่า
"พระพุทธเจ้าผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว
พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่
ทรงระงับเวทนาได้ พระทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิทแล้วดุจเปลประทีปดับฉะนั้น"

พระอานนท์กล่าวคาถาว่า
"เมื่อพระพุทธองค์ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยประการทั้งปวง
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว"

พระ พุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ใน เมืองกุสีนคร) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะพุทธศาสนิกชน ได้สูญเสียดวงประทีปของโลก ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนา

ที่มา : เนื้อความพระไตรปิฏก เล่ม ๑ หน้า ๖๕๔-๖๕๕ บรรทัดที่ ๑๖๙๙๔-๑๗๐๓๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น