เผยทั่วโลกสนใจกิจกรรมทางกาย หวังดันไทยเป็นสังคมคนสุขภาพดีทั้งกาย ใจ ด้านป.GAPA แนะไทยเป็นสังคมกิจกรรทางกาย ต้องวางแผนระดับชาติ รัฐบาล ทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้างเป้าหมาย พร้อมลงลึกระดับชุมชน
วานนี้(3 ธ.ค.) ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เรื่อง “Physical Activity for Healthy Thailand: from Policy to Actions”หรือ “การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย-ตัวอย่างจากนานาประเทศและโอกาสในการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า จากชั่วโมงเรียนของนักเรียนไทยในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีชั่วโมงพละศึกษาเพียงสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงซึ่งนับว่าน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั้งโลก เมื่อมองไปยังระดับมหาวิทยาลัยและวัยทำงานก็ยิ่งทำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าคนไทยมีการออกกำลังกายน้อยมาก จากปัจจัยส่วนนี้ทำให้มีความตั้งใจว่าภายใน3 ปีข้างหน้าจะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในระดับนานาชาติได้มีการเคลื่อนไหวการทำกิจกรมทางกายมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทั้งระดับภูมิภาค ระดับโลก เห็นได้จากองค์การอนามัยโลกได้มีกรอบยุทธศาสตร์ระดับโลกเรื่องการออกกำลังกายในปี2004 โดยมีการจัดประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องในแต่ละภูมิภาคของโลก มีความพยายามให้แต่ละประเทศมีการวางยุทธศาสตร์วางแผนการทำงานของตนเอง
“ตอนนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการออกกำลังกายให้ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมีสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี สามารถป้องกันโรคและเป็นการสร้างสัมพันธ์ด้านสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเอื้อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้ เนื่องจากคนไทยแต่ละปีให้เงินในการรักษาโรคกว่าสามแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นในการส่งเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีไม่มีอะไรดีกว่าการเชิญชวนให้ประชาชนมาออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังนั้นในระดับโลกจึงมีการสร้างเครือข่ายภาคีส่งเสริมสุขภาพทางกาย 55 ประเทศ มีการประชุมที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เพื่อประกาศกฎบัตรโตรอนโตเพื่อกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นการเสนอแนะแนวทางกิจกรรมทางกายและพัฒนาสุขภาพที่เอื้อต่อสุขภาวะ และเรียกร้องให้มีการขับเคลื่อนในระดับประเทศด้วย โดย สสส.ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมลงนามกฎบัตรนี้ และมุ่งหวังอีกว่าจะเป็นการยกระดับกิจกรรมทางกายในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งใช้กรอบแนวคิดนี้ในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน”ที่ปรึกษา สสส.กล่าว
ศาสตราจารย์ฟีโอนา บูล ประธานเครือข่ายกิจกรรมทางกายระดับโลก(Global Advocacy for Physical Activities)หรือ GAPA และประธานคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกพัฒนาแนวทางระดับโลกเรื่องกิจกรรมทางกาย รวมทั้งยังเป็นผู้ยกร่างและอยู่เบื้องหลังการผลักดันกฎบัตรโตรอนโตด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า กิจกรรมทางกายได้กลายเป็นประเด็นระดับโลก โดยกิจกรรมทางกายเป็นการเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน เล่นกีฬา และไม่จำเป็นว่าการทำกิจกรรมทางกายจะต้องทำเฉพาะที่หรือสถานออกกำลังกายเท่านั้น และในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตของประชาชน เด็ก หรือผู้ใหญ่เปลี่ยนไป เป็นการนั่งอยู่กับที่ เล่นคอมพิวเตอร์ นั่งดูโทรทัศน์หรือการใช้มือถือ เครื่องเล่นแบบพกพานั่งเล่นคราวละนานๆ ไม่ได้มีการขยับร่างกาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้การทำกิจกรรมทางกายเข้าถึงครอบคลุมทุกภาคส่วนทุกชุมชน ให้เด็ก เยาวชน ประชาชนหันมาสนใจทำกิจกรรมด้านนี้มากขึ้น เพราะกิจกรรมทางกายสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานที่ตอนนี้โรคเหล่านี้ได้คร่าชีวิตก่อนเวลาอันควรของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้วกว่า35ล้านคน รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสนุกสนานสานสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างอีกด้วย
“มีหลายประเทศที่ได้ทำกิจกรรมทางกายจนประสบความสำเร็จประชาชนสนใจปฏิบัติตามเป็นอย่างดี เช่น ฟินแลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ และยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเริ่มลงมือปฏิบัติกิจกรรมนี้อยู่ สำหรับในประเทศไทยก็มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่สนใจด้านนี้ ถ้าจะให้เสนอแนะหรือแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้เกิดกิจกรรมทางกายในไทยให้ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องเริ่มจากการทำแบบแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติให้รัฐบาล ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน มีการตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผล ต้องทำอย่างต่อเนื่องระยะยาว มีการสัมมนาในภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัดเพื่อสร้างองค์ความรู้ นำแนวทางไปสู่การปฏิบัติจริง จัดให้มีการอบรมในวงกว้าง และนำความสำเร็จจากที่หนึ่งไปเผยแพร่อีกที่หนึ่ง ”ประธานGAPAกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น