from MOPH-ข่าวภูมิภาค by สำนักสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
สำนัก งานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง แนะนำผู้ขายอาหารแปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทที่ต้องเติมหรือเสริมไอโอดีน เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตาม กฎหมาย และเป็นการสนับสนุนนโยบาย “ เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว ” ป้องกันคนไทยไอคิวต่ำ ของกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์วิฑูรย์ เหลือดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกเพศทุกวัย และเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก ทารกในช่วง ๓ เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งพบว่าหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ ๖๐ ขาดสารไอโอดีน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และเมื่อสำรวจระดับไอคิวของเด็กไทย พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ ๙๑ จุด ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไอคิวเฉลี่ยสากลที่อยู่ที่ ๙๐ - ๑๑๐ จุด รวมถึงปัญหาความครอบคลุมของการใช้เกลือผสมไอโอดีนในครัวเรือนลดลงเหลือร้อย ละ ๗๗ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานคือ ต้องมากกว่าร้อยละ ๙๐ จากเหตุผลต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๔ ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ ๔ ผลิตภัณฑ์ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป ซึ่งจะคลอบคลุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย
นายแพทย์วิฑูรย์ เหลือดิลก กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของผู้จำหน่ายนั้น ก่อนที่จะนำสินค้าทั้ง ๔ ประเภท ซึ่งได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง มาจำหน่าย ขอให้สังเกตที่ฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยต้องมีข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนหรือการ เติมไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ ดังนี้ เกลือบริโภค ต้องแสดงข้อความว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” ส่วนน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ต้องแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน โดยแสดงข้อความว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน...%” หรือ อาจใช้ข้อความว่า “ใช้เกลือไอโอดีน” หรือ “ผสมเกลือบริโภคไอโอดีน” และกรณีที่เติมไอโอดีน ในผลิตภัณฑ์สุดท้ายให้แสดงข้อความว่า “ไอโอดีน...มิลลิกรัมต่อลิตร” หรือข้อความว่า “ใช้ไอโอดีนเป็น ส่วนผสม” หรือ “ผสมไอโอดีน” โดยผู้ประกอบการจำหน่ายต้องจำหน่ายสินค้าที่มีฉลากถูกต้องตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
นายแพทย์วิฑูรย์ เหลือดิลก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดพัทลุงได้ดำเนินการผลักดันนโยบาย เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานอีกต่อไป และสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสารไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง โทร.๐-๗๔๖๑-๒๔๐๐ หรือ สายด่วน อย.๑๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น