เนื่องในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำ "โครงการชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ" เพื่อแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ เชิญชวนให้ประชาชน จำนวน 1 ล้านคน ร่วมใจกันตั้งปณิธานว่า จะทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายของตนเองหรือครอบครัว เพื่อให้เกิดวินัยการใช้จ่าย และมีเงินเหลือออม อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
คู่มือ ชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
สำหรับ "คู่มือชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริ" ได้เสนอวิธีการออมง่ายๆ ให้กับประชาชนได้นำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ตนเอง และเหลือเงินออม ไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น
เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย...หลักง่ายๆ ในการออม
การเพิ่มรายได้มีหลายวิธี โดยต้องคำนึงถึงความจริงในโลกว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้น เช่น 1.การลงทุนทำมาค้าขาย 2.หาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยอาจต้องลงทั้งทุน ลงทั้งแรง 3.ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มเงินเดือนหรือหาโอกาสก้าวหน้าในอนาคต
รายจ่ายแต่ละอย่างมีระดับความสำคัญไม่เท่ากัน ควรใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตก่อน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
รายจ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัว
รายจ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัว จำนวน 100% จัดสรรใช้จ่ายไปกับสิ่งต่อไปนี้
* ที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า หรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ซื้อบ้าน) 25-30%
* ค่าอาหาร 25%
* ค่าเสื้อผ้า 10%
* ค่าเดินทาง (ค่ารถ ค่าน้ำมัน หรือค่าผ่อนชำระเงินกู้รถ) 10-15%
* ค่าสาธารณูปโภค(ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์) 5%
* ค่ารักษาพยาบาล 5%
* ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และสันทนาการ (ท่องเที่ยว บันเทิง) 5-10%
* เงินเก็บออมหรือเงินลงทุน 5-10%
ถ้าคิดจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อเช่าที่อยู่อาศัย ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 30% ของรายได้ครอบครัว
ถ้าคิดจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 15% ของรายได้ครอบครัว
ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ...ช่วยลดรายจ่ายสบายกระเป๋า
* ฉลาดซื้อ คือการเลือกซื้อแต่สินค้าที่คุ้มค่า คุ้มประโยชน์
* ฉลาดใช้ คือ การรักษาสิ่งของต่างๆ ให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ รวมถึงประหยัดค่าจ่ายจำพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ด้วย
เพิ่มรายได้ = ฉลาดหา
ลดรายจ่าย = ฉลาดซื้อ + ฉลาดใช้
ฉลาดซื้อ = ซื้อตามความจำเป็น ซื้อของต้นทุนต่อหน่วยต่ำ
ฉลาดใช้ = รักษาข้าวของเครื่องใช้ให้อยู่ในสภาพดี ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ
ฉลาดใช้ = มีความสุขอย่างพอเพียง
การออมด้วยสมการง่ายๆ และเลข 10
* เงินออม = รายได้-รายจ่าย
* สมการง่ายๆ แต่ทำไม่ได้สักที อาจเป็นเพราะ เรามีค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดพอมีเงินเหลือ ก็อดใจไม่ได้ที่จะใช้ไปกับการกิน การซื้อของจนหมด
กลยุทธ์การออมแบบลบ 10 บวก 10
1. ใช้สมการ รายได้- เงินออม = รายจ่าย
เมื่อได้รายรับแล้ว ให้กันเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินออมก่อน ส่วนเงินที่เหลือจึงเป็นเงินค่าใช้จ่าย
2. การออมเงินแบบลบ 10
เมื่อเราหาเงินได้มาเท่าไหร่ ให้หักไว้เป็นเงินออม ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายทันที 10% ของเงินที่หามาได้ เช่น รับเงินเดือน 8,000 ก็หักไว้เป็นเงินออมก่อนเลย 800 บาท การออมเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี
3. การออมเงินแบบบวก 10
ถ้าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ ต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของ 2,000 บาท ก็ต้องออมเงินเพิ่ม 200 บาทไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีนิสัยชอบจับจ่ายใช้สอย เพราะจะช่วยเตือนความจำให้เราเก็บเงินทุกครั้งที่จ่ายไป
ข้อ สำคัญในการออมเงิน จะต้องลงมือเก็บออมโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามผลัดวันประกันพรุ่ง และต้องวางแผนการใข้จ่ายเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยการจดบันทึก หรือทำบัญชีรับ -จ่าย เพื่อตรวจสอบการใช้จ่าย วีนี้จะช่วยให้รู้ว่าเราหมดเงินไปกับรายจ่ายประเภทไหนบ้าง และจะเลือกตัดทอนรายจ่ายส่วนใดออกไปบ้าง
7 วิธีมีเงินเก็บออม
1. กำหนดเป้าหมายการเก็บออม - แต่ละเดือน แต่ละปี จะมีเงินออมเท่าไหร่
2. กำหนดเป้าหมายการใช้จ่าย - แต่ละวัน แต่ละเดือนจะมีเงินเท่าไหร่ เมื่อไหร่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่
3. ประหยัดรายจ่าย - จ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับเป้าหมายการใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น
4. จ่ายคุ้มค่า - จ่ายเท่าเดิม แต่ได้ประโยชน์มากขึ้น
5. ใช้เท่าที่จำเป็น - น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ
6. พึงระวังค่าใช้จ่ายที่มักจะนึกไม่ถึง - ค่าธรรมเนียมรายเดือน รายปี ค่าภาษี ค่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต ค่าปรับจ่ายหนี้ช้า
7. ไม่ก่อหนี้โดยไม่จำ้เป็นและเกินกำลัง - หนี้มีได้ แต่ต้องไม่เกิดกำลัง และต้องชำระคืนให้หมดโดยเร็ว
ข้อควรคำนึงในการวางแผนเกษียณอายุ
1. หาระยะเวลาแห่งช่วงชีวิต ปัจจุบันนี้ ช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ชายคือ 72 ปี และผู้หญิง 75 ปี แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน เราอาจยืดอายุไปได้อีก 20 ปี จากค่าเฉลี่ยนั้น
2. ระดับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มหรือคาดว่าน่าจะเป็นไปในช่วงเวลาของการเกษียณ อายุ สามารถทำให้เงินออมที่คุณหามาด้วยความยากลำบากต้องด้อยค่าลงไปอย่างช่วยไม่ ได้
3. โดยทั่วไป เราต้องการเงินประมาณ 70-75% ของรายได้ก่อนการเกษียณอายุ เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ซึ่งจำนวนเงินนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ทั้งนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง
รู้จัก จด จดทุกครั้งที่จ่าย หลักง่ายๆ ในการบริหารเงิน เมื่อจด ...เมื่อจำ...ไม่มีจน คือการเฝ้าติดตามรายจ่ายพร้อมทั้งบริหารการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับชีวิตจริง ...หมั่นสร้างหลักฐานเตือนตัวเองให้เห็นว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไร บ้างที่จำเป็น และไม่จำเป็น อะไรบ้างที่เราพอจะตัดทิ้งได้ในเดือนต่อไป
การทำบัญชีง่ายๆ จะทำให้เราได้รู้ว่า “เงินหายไปไหน” พอรู้เส้นทางการจากไปของเงินแล้ว เราก็จะได้จัดการปิดเส้นทางนั้นซะ แล้วตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนได้อีกแล้ว
ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น