from MOPH-ข่าวเพื่อสื่อมวลชน by สำนักสารนิเทศ
สาธารณ สุข เผยเกษตรกรไทยราว 6 ล้านคน เสี่ยงได้รับอันตรายสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แนวโน้มเพิ่มสูงกว่าปี 2540 ถึง 2 เท่าตัว โดยมีรายงานเกษตรกรป่วยเฉลี่ยปีละเกือบ 2,000 ราย กำแพงเพชรพบมากที่สุดในประเทศ เร่งแก้ไขโดยจัดโครงการเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส เทิดพระเกียรติในหลวงทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษาในปี 2554 เริ่มให้บริการจริงในวันวาเลนไทน์ 2554
วันนี้ (20 ธันวาคม 2553) ที่ตลาดไท จ.ปทุมธานี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดตัวโครงการ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ซึ่งเป็นโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมา ยุครบ 84 พรรษาในปี 2554 ในการรณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านล้างสารพิษในร่างกาย ส่งเสริมให้มีตลาดกลางผักผลไม้ปลอดสารพิษทุกภาค เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย โดยมีเกษตรกร อาสาสมัครสาธารณสุขจากจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมี เกษตรกรกว่า 14 ล้านคน ส่วนใหญ่ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งตัวเกษตรกรและประชาชนที่รับประทานผัก ผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างปนเปื้อน โดยผลการตรวจสุขภาพเกษตรกรในปี 2550 เพื่อประเมินความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผู้เสี่ยงและอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยมากถึงร้อยละ 39 หรือเกือบ 6 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2540 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว นอกจากนั้นข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยได้รับสารพิษจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,998 ราย ล่าสุดในปี 2552 มีผู้ป่วย 1,691 ราย โดยพบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม เนื่องจากเป็นฤดูการเพาะปลูกและมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกันมาก สำหรับผลการสุ่มตรวจผักผลไม้สดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2552 พบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างร้อยละ 28 จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มดำเนินการโครงการ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 จะเริ่มให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพร้อม กันทั่วประเทศฟรี ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกร 840,000 คนทั่วประเทศ เฉลี่ยอำเภอละ 1, 000 คน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข ค้นหาเกษตรกรที่มีความเสี่ยงและตรวจเลือดเพื่อหาสารพิษตกค้าง โดยใช้ชุดตรวจสารพิษในเลือดภาคสนามขององค์การเภสัชกรรม รู้ผลเร็วภายใน 10 นาที หากพบว่าเกษตรกรมีสารพิษในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัย จะรักษาโดยใช้สมุนไพรพื้นบ้านคือ รางจืดในรูปชาชงรับประทานวันละ 6 กรัม ติดต่อกัน 7 วัน และให้คำแนะนำการป้องกันตัวจากสารพิษและดูแลเยียวยาด้านสุขภาพจิตด้วย
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกษตรกรได้รับอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยการสัมผัสตรง การปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มและจากการสูดทางการหายใจ โดยสารเคมีที่ใช้ในขณะนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพรีทอยด์ โดย 10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดในปี 2552 ได้แก่ กำแพงเพชรอัตราป่วยแสนละ 25 คน รองลงมาคืออุทัยธานีแสนละ 12 คน ตราดแสนละ 10 คน เชียงราย สุโขทัยแสนละ 9 คน พะเยา นครสวรรค์แสนละ 8 คน และแม่ฮ่องสอน จันทบุรี ศรีสะเกษ แสนละ 7 คน ทั้งนี้ อันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีทั้งพิษเฉลียบพลันและเรื้อรัง โดยมีผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย มึนงง ชักหมดสติอาจเสียชีวิตได้
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการสาธิตการจัดบริการในโครงการเกษตรปลอดโรคฯ ประกอบด้วยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีบริการการตรวจประเมินความเสี่ยงการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามแบบ สัมภาษณ์ ถ้าพบว่าเสี่ยงจะทดสอบหาสารตกค้างในเลือดโดยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วหยดใน กระดาษทดสอบ วิเคราะห์ผลและส่งพบแพทย์ การให้ความรู้วิธีการล้างผักผลไม้เพื่อลดสารพิษ กิจกรรมการผ่อนคลายความเครียด บริการให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับเกษตรกรที่มีปัญหา และแจกชารางจืดแก่ผู้ที่มีสารเคมีตกค้างในเลือดจำนวน 2,000 ชุด สาธิตการทำเครื่องดื่มสมุนไพร และแจกกล้าพันธุ์รางจืด 500 ต้นพร้อมเอกสารวิชาการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น