++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธรรมะในงาน ธรรมะในใจ

พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ



อาตมามีความยินดีที่ได้มาบรรยายธรรมในวันนี้เนื่องในวาระสำคัญที่สถาบันวิจัยโภชนาการได้ตั้งมาครบ ๓๐ ปี เป็นโอกาสที่จะได้มาแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกท่านซึ่งกำลังพาสถาบันก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ ๔ และหวังว่าจะก้าวสู่ทศวรรษต่อ ๆ ไป เพื่ออยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมหิดล หรือยิ่งกว่านั้นคืออยู่คู่กับประเทศไทย

หัวข้อที่จะพูดในวันนี้คือ “ธรรมะในงาน ธรรมะในใจ” อาตมาจะเริ่มต้นด้วยเรื่องธรรมะในงานก่อน ธรรมะในงานนั้นมี ๒ ส่วน ส่วนแรกคือธรรมะในตัวเนื้องานหรือจุดมุ่งหมายของงานนั้น เช่น เป็นงานที่ดี มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเช่นทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเลี้ยงชีพให้เป็นไปในทางที่ดีงาม หรือช่วยเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้มากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นก็เช่นที่สถาบันกำลังทำอยู่ ได้แก่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต หรือแก้ปัญหาความทุกข์ของผู้คน



ธรรมะในกระบวนการทำงาน

ธรรมะไม่ได้มีอยู่แต่ในเนื้องานเท่านั้น แต่ยังอยู่ในกระบวนการทำงานหรือวิธีการทำงานด้วย เช่น ทำงานด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มีจริยธรรม ซื่อตรง ไม่หลอกลวง ไม่เอาเปรียบใคร ไม่โกงใคร ถูกต้องตามจรรยาบรรณ เช่น การเรียนหนังสือเป็นสิ่งที่ดี ใคร ๆ ก็ยอมรับ แต่วิธีการเรียนอาจไม่ถูกต้องก็ได้ เช่น ลอกรายงานของเพื่อน โกงข้อสอบ แบบนี้ไม่ใช่ธรรมะ การทำงานราชการเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นงานที่ช่วยเหลือสาธารณะ แต่ถ้าไปเอาผลงานของคนอื่นมาอ้างเป็นของตน อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีธรรมะในการทำงาน

นอกจากวิธีการถูกต้องแล้ว ธรรมะในงานยังหมายถึงหลักการทำงานที่ช่วยให้งานสำเร็จตรงตามเป้าหมาย เช่น ทำงานโดยอาศัยหลักอริยสัจ ๔ เช่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คนไทยเรารู้จักคุ้นเคยกับหลักธรรมข้อนี้มานานแล้ว ถ้าเรารู้จักเอามาใช้กับการทำงาน ก็เรียกว่าทำงานอย่างมีธรรมะได้ เช่น รู้ว่าอะไรเป็นปัญหา จากนั้นก็หาเหตุ แล้วกำหนดเป้าหมายให้แน่ชัด จากนั้นก็หาวิธีทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากหลักอริยสัจ ๔ แล้วยังมีหลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ความมีใจรักในงานที่ทำ (หรือฉันทะ) ความเพียร(หรือวิริยะ) ความจดจ่อใส่ใจ (หรือจิตตะ) การหมั่นไตร่ตรอง (วิมังสา) อิทธิบาท ๔ นี้พุทธศาสนาถือว่าเป็นธรรมะที่นำไปสู่ความสำเร็จโดยตรง ซึ่งอาตมาจะขยายความต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น