++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระนิพนธ์เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต
และพระคติธรรมเพื่อเป็นแสงส่องใจ

พระคติธรรม
พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจในกรรมนั้น ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน

คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น อันเป็นส่วนจิต และศีลอันหมายถึงตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำให้ขอบเขตอันควร

ทางพระพุทธศาสนา สอนให้ทุก ๆ คนพิจารณาหลักกรรมเนือง ๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาท พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาในหลักกรรม และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อในผลของกรรม ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธาเชื่อดังกล่าว จึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามสมควร

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่วและอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดีอย่างมากที่สุดที่มีอยู่ คือ อำนาจของกรรมดีแม้ให้มาก ให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามมาถึงได้ยาก ดังมีเครื่องขวางกั้นไว้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ย่อมยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมชั่ว ก็หาใช่อะไรอื่น คือ ความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง

โรคทางใจมีอยู่ทั่วทุกตัวคน
หนักเบาต่างกันที่อำนาจของกรรมที่ตนกระทำ

คนน่าสงสารในโลกนี้มีมากนัก ทั้งน่าสงสารทางกาย และน่าสงสารทางใจ เราเองแทบทุกคนก็เป็นโรคน่าสงสารเช่นที่กล่าวแต่เมื่อไม่ใช่โรคทางกาย ก็ไม่เห็นกันไม่รู้กันว่า ตนเป็นคนหนึ่ง จำนวนมหาศาลที่น่าสาร และน่าสงสารยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย น่ากลัวน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย โรคน่าสงสารทางใจตัวเอง ต้องรู้ด้วยตัวของตัวเอง ต้องยอมรับด้วยตัวของตัวเอง จึงจะแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีทางจะรักษาโรคทางใจได้เลย แม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นโอสถรักษาโรคทางใจของผู้ที่ ไม่ยอมรับรู้ว่าใจของตนมีโรค นั่นก็คือผู้ไม่ยอมรักการรักษา ไม่ยอมรับโอสถของพระพุทธเจ้า เขาย่อมเป็นคนน่าสงสารตลอดไป พบคนเช่นนี้พึงย้อมดูตนเอง คงจะต้องพบโรคทางใจด้วยกันเพียงแต่ว่าจะมากน้อยหนักเบากว่ากันเพียงไร ตามอำนาจของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วเท่านั้น

กรรมให้ผลตรงตามเหตุแห่งการกระทำ

กรรมนั้นน่าเชื่อถือนักในการให้ผลตรงตามเหตุ ไม่มีอคติด้วยอำนาจใดเลย แม้เกิดอยู่ในฐานะที่สุขสบาย ก็มิใช่ว่าไม่จำเป็นต้องนึกถึงกรรม มิใช่ว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อกรรม สุขสบายเพียงไร ก็จำเป็นต้องนึกถึงกรรม ถ้าไม่ได้ทำกรรมดีอันควรแก่เหตุแล้ว จะอยู่ในฐานะสุขสบายได้อย่างไร ใครอื่นอีกมากมายหาได้อยู่ในฐานะเช่นนั้น อดอยากยากไร้เข็ญใจกันนักหนา ทำไมเป็นได้เช่นนั้น มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เป็นไป แม้ไม่ตั้งข้อคิดในเรื่องเช่นนี้เสียเลย ย่อมไม่อาจอบรมปัญญาให้เห็นถูกในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญแก่ทุกชีวิตที่ปรารถนาความสวัสดี

ทั้งคนและสัตว์ ต่างถูกอำนาจกรรมทำให้เป็นไป

คนก็ตาม สัตว์ก็ตาม เกิดด้วยอำนาจของกรรม กรรมนำให้เป็นคน และกรรมนำให้เป็นสัตว์ เชื่อไว้ก่อนย่อมมีโอกาสที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ เพราะเมื่อเชื่อว่ากรรมมีอำนาจถึงเพียงนั้น ก็ย่อมขวนขวายทำกรรมที่จะไม่นำให้ต้องไปเป็นสัตว์ ไม่มีใครที่ไม่กลัวความเป็นสัตว์ และมีโอกาสที่จะได้เกิดเป็นสัตว์แน่ในภพภูมิข้างหน้า แม้บังเอิญไปทำกรรมที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้นโดยจะรู้หรือไม่รู้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม พลาดพลั้งไปทำกรรมผิดเข้า ก็จะไม่อาจปฏิเสธผลของกรรมได้เลย

ไม่มีผู้ใดปรารถนารับผลของกรรมที่ไม่ดี

อันผู้ไม่ทำดีประการต่าง ๆ ด้วยกายวาจา อันเนื่องมาจากใจที่ไม่ดีของเขานั้น ที่จริงแล้วผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาพอสมควร ประกอบด้วยความเชื่อในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมไม่น่าจะมีผู้ใดปรารถนาเป็นคนไม่ดี แต่ทำไมจึงมีคนไม่ดีมากมาย ทั้ง ๆ ที่มิได้ปรารถนา คิดให้เข้าใจในเรื่องของกรรมจะรู้ชัดว่ากรรมที่คนผู้นั้นทำไว้ในอดีต ได้ติดตามห้อมล้อมจิตเขามาให้ปรากฏเป็นผลในปัจจุบัน ทั้งที่ในปัจจุบันเขาก็มิได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น และหากเขาเข้าใจเรื่องของกรรมบ้างแล้ว เขาจะกลัวไปถึงชาติในอนาคต เขาจะพยายามไม่ทำกรรมไม่ดี เพราะเข็ดกลัวผลของกรรมที่ทำให้เขาต้องเป็นคนไม่ดีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เขาไม่ปรารถนาเลย

ความรักผู้อื่น ทำให้หลีกเลี่ยงการทำกรรมไม่ดีได้

เป็นผู้ใหญ่ก็อย่าทำกรรมไม่ดี เป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มสาวก็อย่าทำ กรรมไม่ดี แม้รักตัวเองก็อย่าทำกรรมไม่ดี จงทำแต่กรรมดี หรือแม้รักพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน ก็อย่าทำกรรมไม่ดี ผลไม่ดีที่ผู้ทำได้รับนั้นจะทำให้บรรดาผู้ที่รักตนพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย ลองนึกถึงใจตนเอง เมื่อเห็นผู้ที่ตนรักทำความไม่ดี แม้ผลไม่ดี ยังไม่ทันปรากฏชัด ตนก็ไม่สบายใจ ยิ่งเมื่อได้ผลร้ายเกิดขึ้นสนองผู้ทำกรรม เราผู้มีความผูกพันกับเขา ก็ย่อมเหมือนพลอยได้รับผลร้ายด้วย

ถ้าเราทำกรรมไม่ดี ผู้ที่รักเราก็ได้รับผลไม่ดีไปด้วย

ดังนั้นแม้ไม่รักตนเอง ก่อนจะทำอะไรก็ควรนึกถึงใครทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีผู้เป็นที่รักอยู่ด้วย ถ้าเราทำกรรมไม่ดีได้รับผลไม่ดี ผู้ที่รักเราและผู้ที่เรารักก็จะต้องพลอยได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจไปด้วยอย่างไม่ยุติธรรม เพราะมิได้เป็นผู้ทำกรรมไม่ดีด้วย แต่ต้องพลอยได้รับผลไม่ดีเพราะความผูกพัน ดังนั้นจะทำความไม่ดีใด ก็น่าจะนึกถึงบรรดาผู้ที่มีความผูกพันกับเราบ้าง อาจจะช่วยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการหลีกเลี่ยงการทำกรรมไม่ดี

ใช้สติยั้งคิดให้เคยชินก่อนทำกรรมไม่ดีใด ๆ

ก่อนจะทำกรรมใด แม้หยุดยั้งตั้งสติ คิดให้ดีว่ากรรมนั้นดีหรือไม่ดี ก็จะทำให้ไม่ทำกรรมไม่ดีอย่างเต็มใจ อย่างสบายใจ แต่จะมีเวลายับยั้งชั่งใจ อันเป็นความสำคัญควรจะทำให้เป็นความเคยชินด้วยกันทุกคน

หมั่นพิจารณาให้กลัวกรรมไม่ดีอยู่เนือง ๆ

การพิจารณากรรมให้กลัวกรรมไม่ดีนั้น อาจทำได้แม้เมื่อเป็นสิงสาราสัตว์ จะเห็นตัวจริงหรือเห็นเพียงรูปภาพก็ตาม สัตว์เหล่านั้นล้วนมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด แต่ก็เหตุใดเล่าที่ทำให้ต้องมาเกิดเป็นสัตว์ ไม่ได้เกิดเป็นผู้เป็นคน เป็นมนุษย์ที่สูงกว่าประเสริฐกว่าเป็นอันมาก ต้องกรรมที่สัตว์เหล่านั้นได้ประกอบกระทำมาให้อดีตชาติปรุงแต่งให้เป็นไป ให้มีรูปลักษณ์ของสัตว์ ที่แม้บางชนิดจะน่ารักน่าเอ็นดู แต่ก็เป็นสัตว์ แม้จะได้รับความรักความเอ็นดูอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงดูอย่างดี ก็เป็นแบบที่ให้แก่สัตว์ และก็ไม่แน่ใจน่าสัตว์จะมีความคิดอย่างไร จะเศร้าเสียใจในความต้องการเป็นสัตว์หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพ้นจากภพภูมิมนุษย์ทันทีก็ได้ภพภูมิของสัตว์ อาจจะยังไม่ลืมชีวิตในภพภูมิมนุษย์ อาจจะยังจำผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วยได้ จิตของสัตว์นั้นจะน่าสงสารสักเพียงไหน แต่เมื่อเกิดแล้วก็เลือกไม่ได้แล้วที่จะเกิดเป็นอะไรอื่น ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกคนมีโอกาสที่จะเลือกชีวิตข้างหน้า ภพภูมิข้างหน้าได้ ถึงทำความดีให้เต็มความสามารถ อย่าละโอกาสที่จะทำความดีเลย นั่นแหละจะเป็นการเลือกภพชาติข้างหน้าสำหรับตนได้ จะเลือกเป็นอะไรก็ได้ ไม่เป็นอะไรก็ได้

ผู้ไม่ประมาท ระวังในการกระทำกรรม

อนิจจัง ... ความไม่เที่ยง
ทุกขัง ... ความเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง
อนัตตา ... ความไม่เป็นไปตามปรารถนาต้องการ
นี้ คือ ไตรลักษณ์ ลักษณะสามที่มีในทุกคนทุกสิ่ง ความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ความเป็นมนุษย์ ความเป็นสัตว์ เหล่านี้ตนอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นแม้ว่าชาติหนึ่งกรรมไม่ดีจะแต่งให้เป็นสัตว์ ก็มิใช่ว่าจะต้องเป็นสัตว์ทุกชาติ และแม้ว่าชาติหนึ่งกรรมดีจะนำให้เป็นมนุษย์ ก็มิใช่ว่าจะได้เป็นมนุษย์ทุกชาติ นั่นก็คือสัตว์ย่อมเป็นคนได้ และคนก็ย่อมเป็นสัตว์ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน แต่ละสัตว์ ผู้ไม่ประมาทระวังในการกระทำกรรม ย่อมสามารถพ้นจากการถือภพชาติอันไม่ปรารถนาได้

ผู้ไม่ประมาทพึงทำใจให้พ้นจากความยึดมั่น

กรรมที่อาจทำให้มนุษย์ในชาติหนึ่งต้องเป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่ง หรือทำสัตว์ในชาติหนึ่งให้กลับเป็นมนุษย์ในอีกชาติหนึ่ง มีผู้เขียนบ้างเล่าบ้างไว้หลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องที่มีปรากฏในพุทธกาล จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามพึงไม่ประมาท กรรมใดที่เคยมีแสดงไว้ว่า ทำให้มนุษย์ต้องเกิดเป็นสัตว์ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่พึงทำ กรรมสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นกรรมทางใจคือความผูกพัน ผู้ตายมีความผูกพันในภพภูมิของตน เช่น ผูกพันในทรัพย์สมบัติของตนในภพภูมินั้น ความผูกพันยึดมั่นอาจนำให้กลับมาเกิดในบ้านเรือนตนอีกได้ แต่จะมิใช่เป็นมนุษย์ มีเรื่องเล่าว่า เกิดเป็นเล็นก็มี เกิดเป็นสุนัขก็มี ซึ่งน่าจะไม่มีผู้ใดปรารถนาจะเป็น จึงน่าจะต้องระวังกรรมทางใจให้มาก เช่นเดียวกับกรรมทางกายทางวาจา อย่ายึดมั่นห่วงใยในอะไรให้มากนัก วางเสีย ปล่อยเสีย ท่องพุทโธไว้เสมอนั่นแหละจะทำให้ถอนใจจากความยึดมั่นได้ เคยมีผู้เล่าเรื่องของพระพุทธรูปงดงามองค์หนึ่ง สิ้นชีวิตไปในขณะที่จิตใจกำหลังรักและหวงแหนพระพุทธรูปองค์นั้นอย่างยิ่ง เมื่อมีผู้มาขอชมพระพุทธรูป ก็มีงูใหญ่เลื้อยมาแผ่พังพานขู่อยู่ต่อหน้าแสดงความหวงแหน เมื่อผู้มาขอชมพูดว่าเพียงมาขอชมไม่ได้คิดจะนำไปเป็นของตน งูก็เลื้อยห่างไป ว่ากันว่าเจ้าของพระพุทธรูปได้มาเกิดเป็นงูเสียแล้ว เพราะความผูกพันหวงแหนพระพุทธรูป ความยึดมั่นผูกพันจึงเป็นกรรมทางใจที่น่าจะเป็นเหตุแห่งการทำให้มนุษย์ในชาติหนึ่งต้องเป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งได้ จึงไม่พึงประมาท จะจริงหรือไม่จริง เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็อย่าประมาทไว้ก่อน พยายามทำกรรมทางใจให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นให้ได้เต็มความสามารถเถิด

อำนาจแห่งมโนกรรม

ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องที่พระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อมรณภาพลงพระรูปหนึ่งจะนำจีวรไป พระพุทธเจ้าทรงห้ามและรับสั่งเล่าว่า พระภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้น ได้มาเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวรที่ท่านซักตากไว้ เพราะจิตของท่านเมื่อจะมรณภาพนั้นผูกพันอยู่กับจีวรผืนนั้น ที่ท่านเพิ่งได้มาและชอบมา กรรมทางใจหรือมโนกรรมมีโทษหนักเพียงนี้ ทำมนุษย์ในชาติหนึ่ง ให้เป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งก็ได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเมื่อเป็นสัตว์แล้ว ก็ยังระลึกถึงครั้งเมื่อเป็นมนุษย์ได้ จะเดือนร้อนใจเพียงไหน พระพุทธเจ้ารับสั่งห้ามไม่ให้นำจีวรไป เพราะเล็นที่เป็นเจ้าของจีวรครั้งยังเป็นพระภิกษุนั้นหวงอยู่ ถ้านำจีวรไปก็จะโกรธแค้นขุ่นเคือง จะทำให้ไม่ได้ไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก อำนาจกรรมแม้เพียงมโนกรรมทางใจ ไม่ได้ปรากฏเป็น กายกรรม วจีกรรม ถึงเป็นการเบียดเบียนทำร้ายผู้ใด ก็ยังมีอำนาจใหญ่ยิ่งเพียงนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงเตือนให้ระวัง ทุกคนจึงควรระวังให้จงหนัก

กรรมส่งผลแน่นอนต่อผู้กระทำ

ทุกวันนี้มีข่าวฆ่าฟันกันอย่างทารุณ โหดเหี้ยม มิได้เว้นแต่ละวันพบแล้ว เห็นแล้ว ก็ให้นึกถึงกรรม เคยฆ่าเขามาก็ถูกเขาตามมาฆ่า คนละภพคนละชาติ ข้าภพข้ามชาติแล้วก็ยังตามกันมาได้ มาส่งผลได้ เรื่องกรรมเป็นเช่นนี้ จึงน่ากลัวกรรมนัก พึงกลัวกรรมนัก ไม่พึงคิดว่าการเชื่อว่าการฆ่าฟันตามล้างตามผลาญกัน เป็นเรื่องกรรมนั้นเป็นความเชื่อที่เหลวไหล ไม่มีเหตุผล ไม่พึงคิดเช่นนี้ เพราะไม่มีคุณอย่างใด จะถูกหรือจะผิด ถ้านึกเชื่อไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องการให้ผลของกรรม ก็จะทำให้ไม่กล้าทำกรรมไม่ดีโดยตั้งใจ ก็จะพ้นจากผลของกรรมไม่ดีนั้นแน่นอน อุบัติเหตุในยุคนี้สมัยนี้ ที่รุนแรงก็มีมากมาย บางเรื่องไม่น่าเป็นก็เป็น บางคนไม่น่าประสบอุบัติเหตุเช่นนั้นก็ต้องประสบ ดูไปแล้ว คิดไปแล้ว ก็น่าจะรู้สึกว่าอุบัติเหตุอย่างนั้น ๆ เกิดขึ้นเพื่อให้คนนั้นคนนี้ต้องบาดเจ็บหรือล้มตายไปเท่านั้น เมื่อคิดเช่นนี้ เพราะไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ ก็ย่อมจะทำให้คิดว่าต้องเป็นเรื่องที่กรรมจะส่งผลแก่ผู้นั้น ในที่นั้น ในเวลานั้น อุบัติเหตุจึงต้องเกิดขึ้นดังนี้ การถูกฆ่าของเด็กไร้เดียงสาหาความผิดไม่ได้ ซึ่งปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในยุคนี้ น่าจะทำให้ความเชื่อในเรื่องกรรมและการทำให้ผลของกรรมหนักแน่นขึ้น ทำไมต้องเป็นเด็กคนนั้นที่ถูกฆ่าทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องขุ่นเคืองโกรธ แค้นกัน อยู่ดี ๆ มีความสุข ก็ปุบปับถูกนำไปประหัตประหาร ในฐานะเป็นผู้ดู จงดูด้วยความรู้สึกกลัวกรรม ไม่ควรดูด้วยความรู้สึกอาฆาตขุ่นเคือง เพราะจะไม่เป็นคุณแก่จิตใจตนเอง มีแต่จะเป็นโทษ รู้แล้ว ปลงลง นี่แหละอำนาจของกรรมยิ่งใหญ่นัก พึงกลัวนัก

ใจจักร้อนรุ่ม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรมและผลกรรม

แม้ในฐานะเป็นผู้ดู มิใช่ผู้พลอยได้รับความเดือนร้อนทนทุกข์ทรมานด้วย ถ้าไม่สามารถทำใจอบรมใจให้เข้าใจในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมได้แล้ว เมื่อตนต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์อันร้ายแรง ก็ย่อมยากที่จะช่วยใจตนเองให้พ้นจากความร้อนได้ แม้เพียงพอสมควร

รับรู้สิ่งใด พึงถือโอกาสอบรมจิตใจเรื่องกรรม

เรื่องร้ายแรงที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เกิดขึ้นอยู่มากมายทุกวัน ทุกคืน แม้จะอยู่ในบ้านเรือนตนสมัยนี้ก็สามารถรับรู้ได้ เห็นได้ ได้ยินได้ พึงถือโอกาสอบรมใจตนเองให้เชื่อในเรื่องของกรรม กรรมน่ากลัวเพียงไร คิดให้ดี เมื่อกรรมมาถึง หนีได้หรือไม่ คนดีในชีวิตนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยทำกรรมไม่ดีมาก่อนในอดีตชาติ ดังนั้น จึงปรากฏย่อย ๆ ว่าคนดีแสนดีกลับต้องได้ความทุกข์หนักหนา ด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ด้วยความไม่สมหวังในเรื่องใหญ่โตสำคัญแก่จิตใจบ้าง เป็นเหตุให้ต้องเศร้าหมองทรมานอย่างยิ่ง

ผู้มีปัญญาพึงรับผลของกรรมให้ถูกต้อง
เราได้ รู้ได้เห็นอย่าพิศวงสงสัย อย่าได้คิดผิดว่าคนทำดีไม่ได้ดี แต่จงวางใจให้ถูก ให้เป็นประโยชน์แก่ตน วางใจลงในกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก ยากที่จักเข้าใจ แต่ก็ไม่ยากที่จะเชื่อไว้ก่อน อะไรที่เชื่อไว้ก่อนแล้วไม่มีโทษมีแต่คุณ ผู้มีปัญญาแม้พอสมควรย่อมไม่ดื้อปฏิเสธ การรับผลของกรรมนั้นสำคัญมาก สำคัญทั้งการับผลของกรรมชั่วและการรับผลของกรรมดี ไม่สำคัญแต่เพียงการรับผลของกรรมชั่วเท่านั้น การรับผลของกรรมดีก็สำคัญ การรับผลของกรรมดีนั้น ถ้ารับไม่ถูกก็มีโทษร้ายแรงแก่จิตใจน่าจะรุนแรงกว่าการรับผลของกรรมชั่วอย่างไม่ถูกวิธีเสียอีกด้วย ผู้ทำกรรมดีไว้เป็นบารมี ส่งให้ชาตินี้สมบูรณ์พร้อม แม้รับผลแห่งกรรมดีหรือผลของบารมีไม่ถูก ผลเสียที่จะเกิดตามมาคือ ความหลงตน อันความหลงตนนั้นจะพาความหลงอีกมากมายให้ตามมา เป็นโทษมหันต์นัก

ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มีคุณและโทษในตัว
ผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่ว มีทั้งคุณและมีทั้งโทษอยู่ในตัว คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิดแก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะต้องตามมา

การทำใจให้รับผลของกรรมดีอย่างถูกต้อง

ผู้ ได้รับผลดีของกรรมดี คือ การได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นเอง ต้องรับให้ดี ต้องรับให้ถูก วิธีทำใจให้รับโลกธรรมอย่างถูกต้อง ที่สุดก็คือให้คิดว่า ลาภก็ตาม ยศก็ตาม สรรเสริญก็ตาม สุขก็ตาม ล้วนอยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ได้รับผลดีของกรรมดี คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดีเมื่อไร เมื่อนั้นให้ถึงคิดไตรลักษณ์ให้ทันที จะรับผลดีของกรรมดีที่ดียิ่งกว่าผลดีทั้งนั้น การคิดถึงไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ คือ การทำความดีทางใจ เป็นมโนกรรมที่ดี จึงย่อมได้รับผลเป็นความดีตรงตามเหตุที่ได้กระทำ ที่จริงมโนกรรม กรรมทางใจ คือ คิดดีนั้น แม้ตั้งใจจริงที่จะทำก็น่าจะง่ายกว่ากรรมทางกาย ทางวาจา เพราะเรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของเราเองอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวกับผู้ใดหรืออะไรเลย ความคิดอยู่กับเราจริง ๆ ไม่มีผู้ใดอาจล่วงล้ำก้ำเกิดไปบังคับบัญชาได้

การทำใจเมื่อได้รับผลของกรรมชั่วอย่างถูกต้อง

ได้รับผลของกรรมชั่ว คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดี ก็ควรต้องทำใจให้รับให้ถูก เช่นเดียวกับการทำใจรับโลกธรรมฝ่ายดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ หรือความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท รับผลไม่ดีของกรรมไม่ดี ด้วยวิธีคิดเช่นเดียวกับเมื่อได้ รับผลดีของกรรมดี คือ คิดถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกข์แล้วก็สุข เป็นธรรมดา

ผลของกรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทั้งผลของกรรมดี และผลของกรรมชั่ว ล้วนมีลักษณะสาม คือ ไม่เที่ยง ทนทุกข์อยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งผลของกรรมดีและกรรมชั่วนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่มีที่จะยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป

พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมทั้งปวง

สิ่งทั้งปวงเกิดแล้วต้องดับ คือมีลักษณะสาม มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ โลกธรรมผ่ายดีคือผลของกรรมดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ โลกธรรมฝ่ายไม่ดีคือผลของกรรมไม่ดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ตามเป็นจริงแล้ว ก็พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมที่ได้ประสบอยู่ ไม่ว่าจะเมื่อประสบผลดีหรือเมื่อได้ประสบผลชั่วก็ตาม

ถึงทุ่มเทจิตใจให้กระทำแต่กรรมดี

ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ แต่เมื่อยังละความยึดทุกอย่างไม่ได้ ก็พึงทุ่มเทจิตใจให้ยึดมั่นการทำกรรมดี ยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความดี ว่าทำดีจักได้ดีจริง มีความยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความชั่ว ว่าทำชั่วจักได้ชั่วจริง ความยึดมั่นเช่นนี้จักเป็นทางนำไปดี ให้ได้ทำดี ไม่ทำไม่ดี ซึ่งก็ย่อมจักนำให้พ้นทุกข์โทษภัยของกรรมไม่ดี ได้รับแต่คุณประโยชน์สารพัดของกรรมดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น