++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

@ ป้องกันและคัดกรอง วิธีหลีกเลี่ยงมะเร็งที่ดีที่สุด

@ ป้องกันและคัดกรอง วิธีหลีกเลี่ยงมะเร็งที่ดีที่สุด
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์เป็นวันมะเร็งโลก หรือ World Cancer Day เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกหันมาสนใจป้องกันตัวเอง และเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น HealthToday จึงเรียนเชิญแพทย์หญิงสุดสวาท เลาหวินิจ อายุรแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลกับผู้อ่านเกี่ยวกับอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งในเมืองไทย รวมถึงวิธีการตรวจคัดกรองและป้องกันตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งมากขึ้น
อุบัติการณ์และการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งในเมืองไทย
สถิติล่าสุดของการเกิดมะเร็งในเมืองไทยทั้งประเทศยังเป็นตัวเลขของปี พ.ศ. 2544-2546 ซึ่งรายงานในปี พ.ศ. 2553 ที่พบว่า คนไทยเป็นมะเร็งประมาณ 241,051 ราย ใน 3 ปี หรือเฉลี่ย 80,350 รายต่อปี ถ้าคิดเป็นต่อประชากรแสนคนจะพบว่า ผู้หญิงเป็นมะเร็ง 120 คน ส่วนผู้ชายเป็นมะเร็ง 140 คน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสถิติปี พ.ศ.2541-2543 ที่คนไทยป่วยเป็นมะเร็ง 195,780 คน หรือ 65,260 รายต่อปี ก็จะพบว่าคนไทยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 23
สำหรับสถิติการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะพบว่า ในปี 2552 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 ราย หรือ 88.34 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 4,671 รายต่อเดือน 156 รายต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10.7 % เมื่อเทียบกับสถิติปี พ.ศ. 2548
5 อันดับมะเร็งยอดนิยม
สำหรับชนิดของมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในช่วงปี 2544-2546 มีดังนี้
ผู้ชาย
1. มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
2. มะเร็งปอด
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่
4. มะเร็งต่อมลูกหมาก (ขยับจากอันดับ 9 ในปี 2541-2543)
5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผู้หญิง
1. มะเร็งเต้านม (ขยับจากอันดับ 2 ในปี 2541-2543)
2. มะเร็งปากมดลูก
3. มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
4. มะเร็งปอด
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่
แต่สำหรับมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต 6 อันดับแรกในปี พ.ศ. 2551 ได้แก่
1. มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
2. มะเร็งปอด
3. มะเร็งเต้านม
4. มะเร็งเม็ดเลือดขาว
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
6. มะเร็งปากมดลูก
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แม้ว่าปัจจุบันวงการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งหลายประเภท แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเลย ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดมะเร็งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น อาทิ
- การหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง ซึ่งได้แก่ การสูบบุหรี่ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ความอ้วน ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งหลายประเภท ตั้งแต่มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของการได้รับไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งตับ การมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- การรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะการรับประทานผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ให้พลังงานสูง แอลกอฮอล์ เนื้อแดง อาหารปิ้งย่างต่างๆ รวมถึงไม่กินปลาดิบ เพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งทางเดินน้ำดี
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและไม่อ้วน
การตรวจคัดกรอง
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งหรือการตรวจมะเร็งระยะแรกยังเป็นวิธีการที่สำคัญมากที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และลดโอกาสการเสียชีวิต เพราะจากสถิติทางการแพทย์พบว่า หากมีการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าการเป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย แต่ที่น่าเสียดายคือ ผู้ป่วยมักไปพบแพทย์เมื่อเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายแล้วค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่นมะเร็งเต้านม สถิติในปี พ.ศ. 2544-2546 พบว่าผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 9-66.4 เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดยพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกร้อยละ 3.5-41.7 และพบในระยะแพร่กระจายไปแล้วร้อยละ 2.4-18.2
ทั้งๆ ที่อัตราการอยู่รอดชีวิตที่ 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาเมื่อโรคยังอยู่เฉพาะที่จะสูงถึงร้อยละ 98 ขณะที่หากโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ร้อยละ 81 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 26 หากโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายไปไกล ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งปากมดลูก คือหากตรวจพบในระยะเฉพาะที่ (localized) จะอยู่ที่ร้อยละ 92.2 แต่หากพบเมื่อโรคแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้วจะอยู่ที่ร้อยละ 54.7 ถ้าโรคมีการแพร่กระจายไปไกลจะอยู่ที่ร้อยละ 16.5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น