++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ในหลวง สนทนาธรรม เรื่อง พุทธภูมิ กับหลวงตามหาบัว

"ในหลวง สนทนาธรรมเรื่อง"พุทธภูมิ"กับองค์หลวงตาพระมหาบัว"

..เหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จไปนิมนต์หลวง ตาไปในงานในวัง ปกติหลวงตาท่านไม่ค่อยไปไหน แต่ตอนที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ไปนิมนต์ ท่านไปนิมนต์ด้วยพระองค์เอง

วันนั้นเป็นวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๑ เป็นปีเฉลิมราชรัชมังคลาภิเษกที่ทรงครองราชย์มากกว่ากษัตริย์ใด ในประวัติ ศาสตร์ไทย ท่านได้เสด็จมานิมนต์หลวงตาเข้าวัง มาเป็นขบวนใหญ่ หลวงตาท่านจะอยู่ที่กุฏิ พระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาตอน ๖ โมงเย็น

เมื่อขบวนเสด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาถึง เรายืนตรงนี้ ผู้ว่าฯ หมออวย แล้วใครต่อใครยืนเป็นแถวรอรับเสด็จ แล้วท่านก็ขึ้นไปข้างบนซึ่งหลวงตารอท่านอยู่แล้ว ส่วนเราก็อยู่ตรงบันได ส่วนหลวงตาอยู่ข้างบน ที่ขึ้นไปก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จครบหมดเลย พระราชินี พระบรมฯ พระเทพฯ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ หมดทั้งครอบครัวเพื่อจะนิมนต์หลวงตาไปงานพิธีในวัง

พอพระองค์ท่านกราบหลวงตาเสร็จ ท่านก็ถวายคำถามแรก
( พระเจ้าอยู่หัวเรียกหลวงตาว่า "หลวงปู่" )

"หลวง ปู่... สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร" โอ้... พระเจ้าอยู่หัวถามปัญหาหลวงตาขนาดนี้

หลวงตาตอบว่า...
"..พุทธภูมิ ก็เหมือน ดั่งเรานั่งรถไฟ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่หรือนั่งรถไฟไปอุดรนั่นแหละพุทธภูมิ แต่ถ้าเรานั่งจักรยานมาหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปนั่นแหละ...สาวกภูมิ เพราะฉะนั้นการเป็นพุทธภูมิก็คือการ นำคนไปได้เยอะ ๆ ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆ ไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ ๑ คน หรือ ๓-๔ คน ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิ เข้าใจไหมล่ะพ่อหลวง.."

พระเจ้าอยู่หัวฯ ตอบหลวงตาว่า "..เข้าใจแล้วหลวงปู่ แล้วนิพพานเป็นอย่างไรนะ หลวงปู่.."

หลวงตาตอบ : "..อ้อ พ่อหลวงเหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ! รู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยุ่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะ แต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี้แหละ แต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาด นี่แหละพระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน.."

..และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอบารมีหลวงตาช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (คือสมเด็จย่า) ตอนนั้นสมเด็จย่าทรงประชวรอยู่ หลวงตาท่านก็ตอบปฏิเสธเลยว่า... "พ่อหลวงนั่นแหละก็ จัดการเองได้ ขอเองได้" ท่านว่างั้นนะ... "พ่อ หลวงก็สามารถจัดการได้เอง" ท่านบอกไปเลยนะว่า... ให้พระเจ้าอยู่หัวขอเอง จัดการเอง จัดการเองอาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก

พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้กราบลาว่า "..เอาล่ะ ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้ว ท่านหลวงปู่มีอะไรจะบอกไหม.."

หลวงตาท่านได้เทศน์สั้น ๆ ว่า..

"..การเป็น พุทธภูมิ สร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็นพระพุทธเจ้า แล้ว พระพุทธเจ้าก็มีพุทธกิจ ๕ คือ ตอนเช้าบิณฑบาต ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไป ตกเย็นสอนนักบวช สมณะชีพราหมณ์ ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดา พอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ ท่านก็จะเล็งญาณดูรีบไปโปรดก่อน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่างนี้ แต่... ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไร ทำงานกันจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน..เอาล่ะ ๆ ... อาตมาจะให้พร.."

พอฟังมาถึงตรงนี้นะ เรายังจำได้แม่น เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านถามเรื่องพุทธภูมิ เสร็จแล้วพอท่านจะลากลับ หลวงตาท่านสรุปให้เสร็จสรรพเลย... "..ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของไทยทำงานปรารถนาความเป็นอะไร... ทำงานกันจนไม่มีเวลาพักผ่อน... เอาล่ะ ๆ ...อาตมาจะให้พร.."

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จลงมา ท่านก็ตรัสว่า อยากให้ท่านอาจารย์อยู่กับหลวงตาไปนาน ๆ ...เราก็ได้ตอบท่านว่า เจริญพร...มหาบพิตร อาตมาก็อยากจะอยู่ แต่ถ้าถึงเวลาที่อาตมาจะต้องเอา ตัวเองให้รอด อาตมาก็ขอเอาตัวเองให้รอดก่อน เพราะทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงเวลาไปก็ต้องไปเหมือนกัน แล้วพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็บอกขอทำบุญกับหลวงตา ๒๐๐,๐๐๐ ถวายอาจารย์ ๒๐,๐๐๐ แล้วท่านก็ถามว่าพระที่อยู่ในวัดนี้กี่รูป เราก็ตอบท่านทั้งหมด ๒๙ รูปรวมหลวงตานั่นแหละ... ท่านจึงถวายให้รูปล่ะ ๒,๐๐๐ "แล้ว ปัจจัยจะให้ไว้กับใคร" ท่านถาม...ท่านหยิบออกมาให้เลยนะ ท่านผู้ว่าฯ ยังรับมือสั่น พระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงมากราบหลวงตา ท่านมาที่วัดท่านยังมาทำบุญกับพระด้วยปัจจัยที่เตรียมพร้อมจากพระหัตถ์ของท่านเอง จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เสด็จออกไปเยี่ยมประชาชนแล้วก็ขึ้นรถไป

..นั่นแหละ!เราได้ฟังมา เรื่องของพุทธภูมิ เรื่องของพระโพธิสัตว์ สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร เสร็จแล้วพอตอนจบขอพร หลวงตาท่านก็สรุปและให้พร จึงบอกได้ว่าเป็นบทสนทนาของจอมปราชญ์..

ที่มา:นิตยสาร น่านฟ้า ปีที่๑ ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ หน้า๑๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น