++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความเสื่อมของคนห่มจีวรพระ.โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ

ความเสื่อมของคนห่มจีวรพระ


โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ

26 กุมภาพันธ์ 2558 11:53 น.


สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับกรณีของธรรมกายโดยการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ ประจวบกับธรรมกายมีความเกี่ยวพันกับทักษิณและครอบครัว ทั้งยังมีหลักฐานว่า ธรรมกายยังเป็นที่พักพิงและเกื้อหนุนการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำให้หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องการเมือง

รวมทั้งเห็นคนเสื้อแดงและพระสายเสื้อแดงหลายคนออกมาแสดงความเห็นปกป้องธรรมกาย จนมองได้ว่า ธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ ที่ทักษิณเดินในแนวทางโลก แต่ธัมมชโยเดินในแนวทางธรรม โดยร่วมมือเกื้อกูลอาศัยกันเพื่อยึดครองประเทศ

แต่ความจริงแล้วกรณีธรรมกายเป็นเรื่องของความผิดถูกชั่วดีต่อพระธรรมวินัยที่มองเห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยักยอกทรัพย์ที่คนบริจาคมาเป็นของตัวเอง การบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่ว่านิพพานเป็นอัตตา การอวดอุตริมนุสธรรมของธัมมชโยหลายครั้ง

ธัมมชโยเคยถูกพระลิขิตสมเด็จสังฆราชฯ ว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้วตั้งแต่ปี 2542 แต่ธัมมชโยก็หลุดรอดมาได้จากวินัยสงฆ์และอาญาแผ่นดินยืนยงอยู่ได้จนปัจจุบัน จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้มีผู้เรียกร้องให้ตรวจสอบว่า การกระทำของธัมมชโยถือว่าต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ หรือยัง

หลังการประชุมพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส.ได้อ้างว่าธัมมชโยยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตในการคืนที่ดินทุกประการ โดยได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิดของพระธัมมชโย และได้มีผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด จึงถือเป็นอันยุติ ตามมติ มส.ที่ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นได้มีการคืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้นสถานภาพปัจจุบันของธัมมชโยยังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม

ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามต่อมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มาจากการเป็นกรรมการโดยสมณศักดิ์ และโดยการแต่งตั้งซึ่งแบ่งเป็นพระเถระจากฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติฝ่ายละ 10 รูป ว่า เป็นมติที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถือว่าความผิดของธัมมชโยสำเร็จแล้ว และเป็นการคืนทรัพย์สินหลังจากพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ หลายปี โดยมีรายงานข่าวว่าพระเถระฝ่ายมหานิกายทั้ง 10 รูปลงมติสนับสนุนธัมมชโยและมีพระฝ่ายธรรมยุติสองรูปที่สนับสนุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลือบแคลงสงสัยต่อตัวของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดภาษีเจริญ ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพราะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับวัดธรรมกาย โดยสมเด็จช่วงเป็นพระอุปัชฌาย์ของธัมมชโยเคยไปร่วมเดินธุดงค์กลางเมือง และมีหลักฐานว่า ธัมมชโยเคยถวายเงินให้สมเด็จช่วงหลักหลายล้านในหลายครั้งรวมถึงการถวายรถเบนซ์

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีผู้อ้างว่า การประชุมเถรสมาคมวันนั้นไม่มีการลงมติแต่อย่างใด และกรรมการเถรสมาคมบางรูปไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย วันนั้นมีแต่เพียงการนำผลการชี้แจงที่นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมที่นำมติ มส.ปี 2549 เกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายที่นำไปชี้แจงยังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนามารายงานให้ มส.ได้รับทราบเท่านั้น

อ้าวหากเป็นเช่นนั้นการออกมาแถลงเป็นตุเป็นตะของพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส.ก็เป็นความเท็จใช่หรือไม่

ดังนั้นกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปที่เข้าร่วมประชุมวันนั้น จึงควรจะออกมาชี้แจงความจริงต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และหากยังไม่มีมติของมหาเถรสมาคมจริงก็ควรจะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบว่ามติของมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นที่ประชุมของพระสงฆ์ผู้เจริญในยศถาบรรดาศักดิ์นะมีความเห็นต่อเรื่องธัมมชโยอย่างไร

แต่ถ้ามหาเถรสมาคมเห็นว่า ธัมมชโยยังไม่ปาราชิก พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ไม่มีความหมายจะต้องอธิบายให้ได้ทั้งทางธรรมและทางโลกว่า ไม่ผิดอย่างไร เพราะในทางโลกนั้นถือว่า การกระทำความผิดสำเร็จแล้ว เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้แม้จะคืนทรัพย์สินที่ยักยอกไปกลับคืนมาแล้วก็ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากความผิดได้ ในทางโลกนั้นถือเป็นกฎที่ใช้กับบุคคลธรรมดาในทางสงฆ์ย่อมจะต้องเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยและศีลธรรมยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป

อย่ามาอ้างว่า เพราะหลุดพ้นจากคดีอาญาแล้วจึงไม่มีความผิด เพราะการถอนคดีของนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุดในขณะนั้น เป็นที่เคลือบแคลงว่า ขัดกับหลักของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ไม่เพียงแต่เรื่องยักยอกทรัพย์เท่านั้น พฤติกรรมของวัดธรรมกายและธัมมชโยที่ปรากฏต่อสายตานั้น มหาเถระต้องมีมติให้ชาวพุทธที่มองเห็นว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ผิดถูกอย่างไรในสายตาของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในนามมหาเถรสมาคมที่มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม และรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

ต้องชี้ให้ชัดว่า การอวดอ้างว่า สามารถขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ สามารถสื่อสารกับพระพุทธเจ้าได้ในอายตนะนิพพาน หรือการอ้างว่าใช้ญาณตรวจสอบภพภูมิของสตีฟ จอบส์ หลังความตายได้ รวมทั้งคำสอนที่ว่ายิ่งทำบุญมากๆ ยิ่งได้ขึ้นสวรรค์ชั้นที่สูงขึ้นนั้นเป็นอย่างไรถูกต้องกับหลักการของพุทธศาสนาหรือไม่ รวมไปถึงการทำการตลาดแบบแชร์ลูกโซ่ในการหาคนเข้าวัดด้วย

หลายวันมานี้ ผมเห็นว่า มีพระหลายรูปออกมาปกป้องมหาเถรสมาคมและสมเด็จช่วง โดยอ้างว่านี่เป็นเรื่องการเมือง พระบางองค์บอกว่า เป็นแผนสกัดกั้นเพื่อไม่ให้สมเด็จช่วงซึ่งเป็นฝ่ายมหานิกายได้รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ผมไม่ได้ยินพระเหล่านั้นกล้าพูดเลยว่าพฤติกรรมของวัดธรรมกายและธัมมชโยถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาหรือพระธรรมวินัยหรือไม่ หรือกล้าที่จะพูดว่า การที่พระยักยอกทรัพย์ของวัดไปเป็นของตัวเองนั้นมีความผิดหรือไม่

ในขณะนี้ คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนนั้นมองเห็นปรากฏการณ์ของธรรมกายและธัมมชโยว่า ผิดแผกไปจากพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แต่ถ้าคนเป็นพระแล้วมองไม่เห็นก็ยิ่งเป็นเรื่องมืดมนของวงการสงฆ์อย่างถึงที่สุดแล้ว

โดยมีคนบอกว่าทุกวันนี้เงินของธรรมกายแผ่กระจายไปสู่วัดวาและพระสงฆ์องค์เจ้าทั่วทุกหัวระแหง และมีคนหน้ามืดตาบอดจำนวนไม่น้อยที่หลงศรัทธา

อย่างไรก็ตาม อย่าไปกังวลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ความแท้แห่งพระธรรมไม่มีกำหนดอายุกาล จริงแท้อยู่ตลอดกาล จริงแท้อย่างนั้นทุกยุคทุกสมัย

ถ้าจะเห็นความเสื่อมก็เป็นเรื่องของคนโกนหัวที่ห่มร่างกายด้วยจีวรของพระสงฆ์เท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น