++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หลานขี้กลัวไม่มีเพื่อน ปฏิบัติธรรม และจิตอาสาจะช่วยได้ไหม

หลานขี้กลัวไม่มีเพื่อน ปฏิบัติธรรม และจิตอาสาจะช่วยได้ไหม

ปุจฉา - ขอนมัสการสอบถามเรื่องการสอนธรรมะให้กับเด็กค่ะพอดีเลี้ยงหลานสาวอยู่ 1 คน (อยู่ ป.6) พ่อเค้าเอามาให้ช่วยเลี้ยง 3 ปีแล้วค่ะหลานสาวเป็นคนที่มีความวิตกกังวล และความกลัวเป็นเจ้าเรือนค่ะเช่น ตื่นขึ้นมาร้องไห้เพราะกลัวนอนไม่หลับ หรือกลัวจะกินข้าวไม่ลง และกลัวเรื่องอื่นๆ อีกมากมายรวมทั้งเป็นคนมองโลกในแง่ลบ และคิดถึงเฉพาะตัวเอง แม้ว่าเป็นคนหน้าตาดีและเรียนเก่ง แต่ไม่ค่อยมีเพื่อน พราะไม่ค่อยมีน้ำใจให้เพื่อน และขี้อายมาก (อาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูของพ่อเค้าที่ผ่านมาคือไม่ให้ลูกทำอะไรเองเลย และเวลาโมโหมักจะตีลูกค่อนข้างรุนแรง) อีกอย่างพ่อเค้าบอกว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น และพยายามบังคับให้กินยาทางจิตเวชน่ะค่ะ (คือพ่อเค้าเป็นจิตแพทย์)

ก็เลยให้คำแนะนำเค้าว่า เวลาที่มีความคิดที่ไม่ดีเข้ามา ให้พยายามเปลี่ยนไปคิดหรือไปสนใจเรื่องอื่นที่ดีๆ รวมทั้งพาเค้ายกมือสร้างจังหวะทุกวัน วันละ 1/2 ชั่วโมง และคุยกับเค้าว่าจะพาเค้าไปทำบุญเพื่อเจือจางทุกข์ที่เค้ามี ด้วยการไปร่วมกับกลุ่มจิตอาสาที่ทำกิจกรรมเอนเตอร์เทนเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่โรงพยาบาล (กลุ่มชีวาศิลป์) เพราะคิดว่าอาจจะช่วยให้เค้าได้เห็นคนที่ทุกข์กว่าและฝึกให้เป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดถึงคนอื่นมากขึ้นเมื่อคิดถึงตัวเองน้อยลง ความทุกข์อาจจะน้อยลงไปเอง จึงอยากจะขอคำปรึกษาใน ๒ เรื่องค่ะ คือ

๑. สิ่งที่ได้ทำและคิดที่จะทำ จะสามารถช่วยหลานคนนี้ได้มากน้อยแค่ไหนคะ และถูกทางรึเปล่า
๒. ควรพาเค้าไปอบรมปฏิบัติธรรมหรือไม่ เพราะเคยพาไปวัดในวันอาทิตย์ แล้วเค้าเบื่อมากไม่อยากไป และถ้าพาไปปฏิบัติธรรมรวมกับผู้ใหญ่จะได้ประโยชน์มั๊ยคะ หรือต้องพาไปปฏิบัติธรรมที่เค้าจัดสำหรับเด็กโดยตรง และผู้ปกครอง (อากับย่า) ควรไปด้วยรึเปล่า

_/\_ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ค่ะ _/\_

พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา - ที่คุณทำไปนั้นดีแล้ว รวมทั้งที่จะพาเธอไปทำบุญและเป็นจิตอาสา ปัญหาอย่างหนึ่งของเธอ คือ ขาดมนุษยสัมพันธ์ (ซึ่งรวมถึงมุมมอง ท่าที และทักษะในการเกี่ยวข้องกับผู้อื่น) ควรชักชวนให้เธอได้ทำ กิจกรรมร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย จะช่วยให้เธอเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น รวมทั้งความเห็นอกเห็นใจ เกิดความมั่นใจในการสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างน้อยจะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้

นอกจากกิจกรรมจิตอาสาแล้ว คุณควรกระตุ้น ชักชวน หรือพาเธอไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ เช่น เที่ยวเขาดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือเที่ยวทะเล ถ้าค้างคืนได้ก็ยิ่งดี จะได้เพิ่มพูนทักษะทางสังคม (social skill) หรือ ที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือภูมิปัญญาทางสังคม ( social intelligence) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเธอในการดำเนินชีวิต ทั้งหมดนี้คุณควรเป็นพี่เลี้ยงคอยให้กำลังใจและคำแนะนำ รวมทั้งการให้ข้อคิดเพื่อให้เธอเกิดความมั่นใจในการคบค้าสมาคมกับผู้อื่น

สำหรับข้อ ๒ นั้น อาตมาคิดว่า คุณน่าพาเธอไปปฏิบัติธรรมที่จัดสำหรับเด็ก หรือจะเข้าค่ายเด็กก็ได้ ซึ่งไม่จำต้องเป็นค่ายปฏิบัติธรรม อาจเป็นค่ายสิ่งแวดล้อมก็ได้ เพื่อให้เธอได้พัฒนาตนผ่านการทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
พูดถึงการปฏิบัติธรรม สิ่งหนึ่งที่คุณน่าจะช่วยเธอได้ คือแนะนำให้เธอหมั่นตามดูหรือรับรู้ความรู้สึกของตน เวลาเกิดความกลัว วิตกกังวล เช่น กลัวนอนไม่หลับ กลัวกินข้าวไม่ลงให้ ให้เธอหันมารับรู้อารมณ์ดังกล่าว แค่รู้เฉย ๆ ว่า กำลังมีอารมณ์อย่างใดเกิดขึ้น ไม่ต้องทำอะไรกับมัน นอกจากการดูความรู้สึกแล้ว เธอจะดูกายด้วยก็ได้ เช่น รับรู้ว่าตอนที่กำลังกลัว กังวล หรือโกรธวิตกนั้น ร่างกายมีอาการอย่างไร เช่น หัวใจเต็นเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง

คุณสามารถช่วยเธอได้ด้วยการตั้งคำถามให้เธอตอบ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เธอ มีสติ รู้ทันอารมณ์ของตนได้เร็วขึ้น และไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ดังกล่าว นี้ก็เป็นการเจริญสติอย่างหนึ่งที่เธอสามารถทำได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากการยกมือสร้างจังหวะตามวิธีของหลวงพ่อเทียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น