++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้จักบทบาทและหน้าที่ของ “ไต”



ไตเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ ปอด กระเพาะอาหาร สมอง ซึ่งอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะส่วน แต่มีการประสานงานกันเป็นอย่างดี จึงทำให้ร่างกายเป็นปกติสุขอยู่ได้ หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเสีย หรือถูกทำลาย ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่นได้

ไตมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง อยู่ที่บริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ใต้กระดูกซี่โครง และอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง มีสีแดง เหมือนไตหมูสดๆ มีความยาวโดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางตามความยาวได้ประมาณ 11-12 เซนติเมตร และหนักข้างละ 150 กรัม ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกจากหัวใจ เมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ ที่เรียกว่า เนฟรอน (Nephron) ซึ่งมีอยู่ข้างละ 1 ล้านหน่วย หน่วยไตเล็กๆ เหล่านี้ทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือดผ่านทางท่อไต และเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยไตที่ปกติเพียง 1 ข้าง เพราะมีการปรับสมดุลได้ดีมาก ดังนั้นผู้ที่บริจาคไต 1 ข้างจึงสามารถมีชีวิตที่ปกติด้วยไตที่เหลือเพียงข้างเดียวได้

หน้าที่ของไตมีหลายอย่าง ได้แก่

การปรับสมดุลน้ำในร่างกาย
การปรับสมดุลของสารเกลือแร่และกรด-ด่างในร่างกาย
การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
การผลิตฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย

กล่าวโดยสรุป เมื่อเลือดแดงจากหัวใจไหลเข้าสู่หลอดเลือดแดงของไตเพื่อไปสู่เนฟรอน การกรองของเสียต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว เลือดก็ไหลกลับสู่หลอดเลือดดำของไตเข้าสู่หัวใจต่อไป ไตกรองเลือดและดูดกลับ ส่วนที่เหลือกลายเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกาย

การปรับสมดุลน้ำในร่างกาย

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญในการควบคุมการขับหรือเก็บน้ำไว้ในร่างกาย เมื่อร่างกายขาดน้ำ เช่น อากาศร้อนจัด และเสียน้ำไปทางเหงื่อมาก ร่างกายจะปรับสมดุลน้ำ โดยจะกระหายน้ำและดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนน้ำที่เสียไป ร่างกายจึงจะอยู่ในภาวะสมดุล หรือเมื่อดื่มน้ำเป็นจำนวนที่มากเกินความต้องการ ไตก็จะทำหน้าที่ขับน้ำส่วนเกินออกเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใดที่ไตผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลน้ำได้ จะเกิดภาวะน้ำเกินหรือภาวะขาดน้ำ ซึ่งถ้ารุนแรงมาก จะทำให้มีผลกระทบต่อสมอง จนมีอาการสับสน ซึม และชักได้

การปรับสมดุลของสารเกลือแร่ กรดและด่างในร่างกาย

ตามปกติไตสามารถขับเกลือแร่ส่วนที่เกินความต้องการออกมาในรูปของปัสสาวะได้ เช่น เมื่อรับประทานอาหารรสเค็มจัด ร่างกายจะปรับเกลือแร่จนรู้สึกกระหายน้ำ ทำให้ต้องดื่มน้ำมากขึ้น และจะขับเกลือแร่ส่วนเกินที่คั่งค้างอยู่ออกจากร่างกาย ทางปัสสาวะ แต่ถ้าไตเสียหน้าที่ คือ ไม่สามารถขับเกลือแร่ที่เกินได้ จะทำให้เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ และเท้า ถ้าอาการรุนแรงก็มีผลเสียต่อหัวใจด้วย โพแทสเซียมเป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งใช้ในการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อ เมื่อรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม ไตจะทำหน้าที่ควบคุมระดับของโพแทสเซียมในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ระดับของโพแทสเซียมในเลือดจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนมีผลต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ จะมีการเต้นที่ผิดปกติ จนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ โดยปกติอาหารโปรตีนที่รับประทานจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาพลังงาน และสารเคมีต่างๆ ตลอดจนเกิดกรดซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายเพื่อรักษาสมดุล โดยไตมีหน้าที่หลักในการขับกรด เมื่อใดที่ไตไม่สามารถทำงานได้ ร่างกายก็จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้ร่างกายไม่เป็นปกติสุข

การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

ร่างกายมีกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกายหลายวิธี เช่น ขับออกทางอุจจาระ ทางเหงื่อ ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ การเผาผลาญโปรตีนจากอาหาร และการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้เกิดของเสียที่เรียกว่า ยูเรีย (urea) และครีอะตินิน (creatinine) ซึ่งจะถูกขับออกทางไต นอกจากยูเรียแล้วยังมีสารตกค้างอื่นๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งยาที่รับประทาน และฉีดเข้าสู่ร่างกาย เมื่อใดที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจะเกิดการตกค้างของสารต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมีพิษต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ นอนไม่หลับ อาจซึมลงจนถึงชักได้

การผลิตฮอร์โมนในร่างกาย

ปกติไตผลิตฮอร์โมนหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเรนิน (hormone renin) ฮอร์โมนอิริโทรพอยอีติน (hormone erythropoietin) และวิตามินดี (vitamin D) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ดังนี้

ฮอร์โมนเรนิน

ช่วยควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย และการดูดซึมของเกลือแร่ที่ไต ซึ่งมีผลต่อความดันโลหิตเช่นกัน ดังนั้น ถ้าไตเสื่อม จะเกิดความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนเรนิน มีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้

ฮอร์โมนอิริโทรพอยอีติน

เป็นฮอร์โมนที่จำเป็น ช่วยให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ในกรณีที่ไตเสียหน้าที่ การหลั่งสารนี้จะลดลง ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง และเกิดภาวะโลหิตจางได้

วิตามินดี

ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร และช่วยในการเสริมสร้างกระดูก หากไตเสื่อม จะทำให้วิตามินดีไม่สามารถทำงานได้ มีผลทำให้ระดับของแคลเซียมในเลือดลดลงและกระดูกเสื่อมได้ โดยทั่วไป วิตามินดีได้รับจากอาหารและสังเคราะห์ผ่านกระบวนการของผิวหนังที่ได้รับแสงอาทิตย์ ซึ่งมีแสงอัลตราไวโอเลต

ดูแลรักษาไตด้วยวิธีง่ายๆ
- การเล่นกีฬากลางแจ้ง หรือมีแดดร้อนจัด ทำให้เสียเหงื่อมาก หลังการเล่นกีฬา ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป
- การมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง หรือผลของการเกิดโรคไตเรื้อรัง
- ควรเดินออกกำลังกายกลางแจ้งรับแสงแดด ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
************************ **********************************
เครดิต: เรื่อง ชีวอโรคยา นำมาจาก http://kanchanapisek.or.th/
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
ภาพ: ขอขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต

แบ่งปันความรู้ทั่วไป เพื่อความพอเพียง และสุขภาพที่ดี โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

ชีวอโรคยา อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีไม่พึ่งสารเคมี ไม่ต้องรอให้ป่วยไปเสียค่ารักษาพยาบาลแพงๆ

ติดตามข้อมูลข่าวสารการดูแลตัวเองวิถีธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมีได้ที่ Facebook ชีวอโรคยา
www.facebook.com/pages/ชีวอโรคยา/135957369811772

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น