++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นิตยสารไทม์ตีพิมพ์เรื่อง "20 วิธีทำให้(ตัวเรา)มีความสุข" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ


...
(1). แสดงความชื่นชมสัปดาห์ละ 5 ครั้ง
อ.ซอนย่า ลิวโบเมียสกี แห่งมหาวิทยาลัย UC Riverside พบว่า คนที่แสดงความชื่นชมออกมาภายนอก (โดยการเขียน) สัปดาห์ละ 5 ครั้งมีความสุขมากกว่าคนที่ทำได้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ถ้าไม่ชอบเขียน... พูดชมคนอื่นออกมาจากใจก็ใช้ได้ แต่อย่าเก็บความรู้สึกดีๆ แบบนี้ไว้ในใจอย่างเดียว
(2). ฟังเพลง
ผลการศึกษาทำในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดตาพบว่า การได้ฟังเพลงช่วยให้ชีพจร และความดันเลือดเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนไข้ที่ไม่ได้ฟังเพลง
ผลการศึกษาทำในคนไข้ที่เข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) พบว่า คนไข้ที่ได้ฟังเพลงมีความเครียดน้อยกว่า และใช้ยานอนหลับน้อยกว่าคนไข้ที่ไม่ได้ฟังเพลง

(3). จูบกอดกันหน่อย
การสัมผัสร่างกายกับคนที่ "คุ้นเคย" ทำให้คนเรามีความสุข... ทีนี้ถ้าไม่คนให้กอดก็อย่าเพิ่งตกใจ กอดน้องหมาน้องแมว หรือกอดหมอน-ตุ๊กตาก็ใช้ได้
(4). ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ (สำนักปฏิบัติที่ไม่เน้นการบริจาคมีแนวโน้มจะปลอดภัยกว่าสำนักที่เน้นการบริจาค หรือมากไปด้วยการเรี่ยไร) หรือการออกกำลังแบบตะวันออก เช่น ไทเกก-ไทชิ โยคะ มวยจีน รำกระบองชีวจิต ฯลฯ ช่วยให้คนเรามีความสุขได้

(5). เคลื่อนไหว
การเดิน เดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน หรือทำอะไรที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวมักจะทำให้คนเรามีความสุขมากกว่าการอยู่นิ่งๆ นานๆ
วิธีหนึ่งที่จะทำลายความ "เศร้า-เหงา-เซง" ได้ดีคือ พอเบื่อๆ ก็ให้เดินเร็วสุดๆ ติดกันอย่างน้อย 10 นาที แล้วอะไรๆ มักจะดีขึ้นเอง
(6). หัวเราะ
คุยกันเรื่องขำๆ หาหนังสือขำขันมาอ่าน หรือดูวิดีโอขบขัน... ถ้าทำเป็นกลุ่มได้ยิ่งดี คนเรามีแนวโน้มจะหัวเราะเวลาอยู่กันหลายๆ คนมากกว่าตอนอยู่คนเดียว 30 เท่า

(7). ทำให้คนอื่นมีความสุข
ผลการศึกษาพบว่า คนที่ทำให้คนอื่นมีความสุขวันละ 5 ครั้งมีความสุขมากกว่าคนที่ทำให้คนอื่นมีความสุขสัปดาห์ละ 5 ครั้ง
กลไกที่เป็นไปได้คือ ความสุขเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่สะท้อนกลับไปกลับมาได้ตามหลัก "ทำดี-ได้ดี"
(8). ทำเงิน
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สเตทในปี 2548 พบว่า คนที่ทำเงินได้มากกว่าเพื่อนๆ มีความสุขมากกว่า
ข้อสำคัญคือ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนที่หาเงินได้มากกว่าเรา แต่ให้ลองเปรียบเทียบกับคนที่หาเงินได้น้อยกว่าเรา และเก็บความสุขแบบนี้ไว้ในใจ เพราะความสุขแบบนี้พูดมากไปจะทำให้คนหมั่นไส้เพียบเลย

(9). ทำงาน
ผลการวิเคราะห์งานวิจัย 225 รายงาน รวมกลุ่มตัวอย่าง 275,000 คนพบว่า คนเรามีความสุขใหญ่ๆ จากการทำงานให้สำเร็จ จากการมองโลกในแง่ดี สุขภาพดี สติปัญญา ครอบครัว และความเชี่ยวชาญ
สรุปคือ คนขยัน (ในการศึกษาเล่าเรียน การฝึกงาน การทำงาน) มองโลกในแง่ดี ให้เวลากับครอบครัว และสุขภาพมีแนวโน้มจะมีความสุขมากขึ้น
(10). กลับสู่รากเหง้า
ผลการศึกษากลุ่มชนหลายแห่งทั่วโลกพบว่า คนที่ไม่ลืมรากเหง้าทางสังคม เช่น ใส่ใจ และรักษาวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ฯลฯ มีความสุขมากกว่าคนที่ทิ้งรากเหง้า

(11). กตเวที (บุญคุณควรทดแทน)
คนที่ระลึกถึงความดีงามของผู้มีพระคุณ และตอบแทนคุณเป็นรูปธรรม เช่น เลี้ยงดูคุณแม่คุณพ่อ มีของฝากให้คุณครูสมัยเด็กๆ ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณ
(12). มองโลกในแง่ดี
คนที่มองโลกในแง่ดีมีความสุขมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย... วิธีฝึกง่ายๆ คือ ให้ลองมองเรื่องร้ายๆ (วิกฤต) ในชีวิตเราว่า เรื่องร้ายๆ นำโอกาสดีๆ อะไรมาให้เราบ้าง และฝึกพลิกวิกฤตที่เราพบทุกวันให้กลายเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา
ธรรมดาของข่าวดีคือ มักจะมาคู่กับข่าวร้าย และธรรมดาของข่าวร้ายคือ มักจะมาคู่กับข่าวดี... ชีวิตของคนส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนี้
คนมองโลกในแง่ดีมักจะมองเห็น "โอกาส" ในท่ามกลาง "วิกฤต" ได้มากกว่า และฟันฝ่าอุปสรรคได้ดีกว่า
การฝึกมองโลกในแง่ดีมักจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ และเป็นเรื่องที่น่าลงทุนมากๆ เลย

(13). ลองสิ่งใหม่
อ.ริช วอล์คเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยวินซทัน-ซาเลมทำการศึกษาบันทึกความทรงจำ 30,000 ฉบับ และไดอารีอีกกว่า 500 ชุดพบว่า คนที่มีประสบการณ์มากกว่ามีแนวโน้มจะมองโลกในแง่ดีมากกว่าคนที่มีประสบการณ์น้อย
การลองสิ่งใหม่ในด้านดี เช่น ท่องเที่ยวไปในที่ที่ปลอดภัย การชมสารคดี การศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ ฯลฯ มักจะทำให้คนเรามีประสบการณ์มากขึ้น เห็นธรรมดาของโลกมากขึ้น และมองโลกในแง่ดีมากขึ้น
(14). ระบายความในใจกับเพื่อนที่รู้ใจ
การมีเพื่อนที่รู้ใจและระบายความในใจไปบ้างมักจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น... อ.ริช วอล์คเกอร์แนะนำว่า การมีเพื่อนหลากหลายสไตล์จะช่วยให้การระบายความในใจได้ผลดีขึ้น เช่น มีเพื่อนต่างวัย ต่างอาชีพ ฯลฯ เนื่องจากทำให้เรามีมุมมองในเรื่องชีวิตกว้างขวางขึ้น

(15). งานเป็นงาน-บ้านเป็นบ้าน
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตทพบว่า คนที่รู้จักแยกแยะ "งานเป็นงาน-บ้านเป็นบ้าน" หรือทำงานเต็มที่ หมดเวลาแล้วพักงาน กลับบ้านแล้วให้เวลากับคนที่บ้าน มีความสุขมากกว่าคนที่แยกแยะไม่เป็น
(16). คาดหวังบนความเป็นไปได้จริง
งานวิจัยในยุโรปพบว่า คนเดนมาร์กมีความสุขมากกว่าคนชาติอื่นๆ ในยุโรปติดกันมานานกว่า 30 ปี
สาเหตุสำคัญคือ คนเดนมาร์กมีระดับความคาดหวังที่ตั้งอยู่บนความเป็นไปได้จริง ไม่คาดหวังอะไรที่เกินจริง ทำให้คนที่นั่นมี่ความสุข

(17). ทำตัวให้ว่าง
คนที่เหลือเวลาให้กับตัวเองบ้าง ไม่รับงานหรือวุ่นวายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ไม่ดู TV หรืออ่านหนังสือพิมพ์มากเกินไป โดยเฉพาะข่าว 3 จังหวัดภาคใต้กับข่าวพวกประท้วงในไทย ฯลฯ มีความสุขมากกว่าคนที่ชอบทำตัวให้ไม่ว่าง
คนที่สนใจเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งวัน เช่น หมกมุ่นกับการเมือง ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขน้อยลง
(18). คิดเรื่องดีๆ
คนที่คิดเรื่องดีๆ บ่อยๆ เช่น คิดถึงการทำความดีของคนรอบข้างทุกเช้า คิดถึงการทำความดีของตัวเองก่อนนอน ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่คิดแต่เรื่องร้ายๆ

(19). ยิ้มให้เป็น
คนที่ยิ้มเก่งมีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่ยิ้มไม่เก่ง... วิธีฝึกง่ายๆ คือ ส่องกระจกทุกครั้งให้ยิ้มกับ "คนในกระจก" ทุกครั้ง เวลาพูดโทรศัพท์ให้หากระจกมาตั้งไว้ใกล้ๆ (ส่องเป็นพักๆ)... พูดไปยิ้มไป
(20). แต่งงานกับความสุข
ผลการศึกษาพบว่า คนโสดที่แสนเศร้า (คนโสดที่มีอารมณ์ซึมเศร้าบ่อย) มีความสุขจากการแต่งงานมากกว่าคนโสดที่ไม่ค่อยเศร้า และคนที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนโสด
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิคพบว่า คนที่มีความสุขสุดๆ ไปเลยคือ คนที่แต่งงานกับคนที่มีความสุข... ทีนี้ถ้าแต่งงานแล้วยังรู้สึกไม่ค่อยจะพึงพอใจก็ไม่ต้องตกใจ เพราะมีงานวิจัยพบว่า พวกขี้บ่นก็บ่นไปอย่างนั้นเอง จริงๆ แล้วส่วนลึกๆ ยังมีความสุขมากกว่าคนโสด
ถ้ายังโสดก็ไม่ต้องตกใจอีกนั่นแหละ เพราะมีวิธีทำให้มีความสุขอีก 19 วิธี (ข้อ 1-19)... เมื่อชีวิตมาถึงตรงนี้แล้ว ขอให้พอใจกับสิ่งที่เรามีและเป็น... แล้วความสุขจะเข้ามาหาเราเอง
...

เรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนยุดนี้คือ ถ้าไม่อยากมีความทุกข์แบบสุดๆ... อย่าเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเป็นหนี้เกินตัว อย่าไปค้ำประกันหนี้สินให้คนอื่น และอย่าเล่นการพนัน
คนที่ไม่มีหนี้นั้น... เวลาหายใจเข้าก็หายใจเข้าเป็นสุข เวลาหายใจออกก็หายใจออกเป็นสุข ไม่หายใจติดขัดแบบคนมีหนี้
...
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น