++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

“จำแนกขบวนการกระทำใจ”



บันทึกย่อ พุทธาภิเษกครั้งที่ ๓๗  ณ ศาลีอโศก
พุธ ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๖  แรม ๓  ค่ำ เดือน ๓  ปีมะโรง เริ่ม 04:05 น.
ตอน..  “จำแนกขบวนการกระทำใจ”

1. พ่อครูว่า จะพยายามบรรยายความมหัศจรรย์ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ นำมาทำความเข้าใจจนมนุษย์เกิดความเปลี่ยนแปลง มีผลดีจากการมีชีวิตเป็นหมู่กลุ่มสังคม ที่แปลกแยกกับมนุษย์โลกียสามัญ เช่น การมีสติระลึกรู้ตัวสามัญที่มีกิเลสเข้าไปปรุง ไม่มีสัมปชัญญะที่จะทำให้สติสมบูรณ์ เป็นเพียงผู้มีสติลอยๆของปุถุชนไปเท่านั้น  2. การมีสติแค่รู้แล้วทำใจให้ว่างๆ สบายๆ มีความเพียรปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น ก็ล่องๆแล่งๆ ไม่มีการตั้งตนไว้บนความลำบาก ไม่มีสัมมาวายามะที่เข้าช่วยสัมมาทิฏฐิ ... ไม่ได้มีสติกำหนดสัญญารู้ไปกับนามรูป เจตนาไปอย่างไร เมื่อมีผัสสะมีการทำใจอย่างไรก็ไม่รู้เวทนา ไม่รู้วิญญาณ๖  ไม่รู้มโนสัญเจตนาในอาหาร๔ ฯลฯ

3. การปฏิบัติจึงต้องเรียนรู้ไปกับการสัมผัส อ่านอาการในเวทนา อย่างไรเข้าข่ายกาม เข้าข่ายพยาบาท เข้าข่ายวิหิงสา เกิดภพ เกิดชาติ ที่จะเกิดการผลักการทำลาย เกิดอยากได้เอามา  ในขณะที่กำลังสัมผัสอยู่ จิตจะมีขบวนการมนสิการในการปฏิบัติธรรม จะรู้ความต้องการออกจากโลกียะ มีเจตนามุ่งหมายที่ไม่ใช่มีสติลอยๆ เท่านั้น  รู้การกระทำทางกาย รู้เจตนาเข้าไปควบคุมเข้าไปสู่ทางที่จะไปนิพพาน งานก็ทำ พูดก็พูด ในจิตก็มีการริเริ่มดำริ เริ่มสังขารปรุงแต่ง มีกายนอกที่สำเร็จอิริยาบทอยู่ มีกายในที่ต่อเนื่องเข้ามา

4. มีการสังขารชำระขจัดอกุศลด้วยปุญญาภิสังขาร ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีสติลอยๆ แต่ก็ยังอวิชชาไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งสังขาร ... พ่อครูสอนแบบนี้เพื่อให้ตรวจสอบว่า ตรงกับอนุสาสนีย์คำสอนของพพจ.ไหม เราสามารถทำสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ก็ได้ทั้งปุญญาภิสังขาร เพราะปฏิบัติได้สัมมา ได้ละเลิกมิจฉาทางอาชีพ ทางพฤติกรรม จิตสังขารอยู่ก็รู้ว่าไม่มีกาม  เพราะฝึกมาตั้งแต่รู้ทันวจีสังขารก็ไม่มีลีลาของกามทั้งหลายมาปะปน  จิตก็มีนิโรธ ไม่มีกามที่เป็นอบาย แม้กายจะสังขารร่วมสัมผัสอยู่ ผ่านปุญญาภิสังขารมาได้จนได้กามาภิภู คือ เอาชนะกามได้แล้ว ครอบงำกามได้แล้ว

5. เราจึงมีวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารทั้ง ๓ ที่ไม่มีกามอีกแล้ว ย่อมเห็นรูปทั้งภายนอก-ภายใน (ในวิโมกข์ข้อสอง) เพราะได้ทำใจ มีมนสิการ ที่มีกายสังขาร จิตสังขารอยู่ร่วมกันไปหมด ไม่ใช่ไปดับจิตสังขารอย่างเดียวจนไม่เกี่ยวกับกายภายนอกเลย  จริงๆแล้วย่อมรู้จักเวทนาทั้ง ๑๘ ที่สามารถแยกแยะเวทนาแบบเคหะ และแบบเนกขัมมะ แล้วรู้จักแยกแยะอาการ-ลิงคะ-นิมิตของกิเลส

6. ภูมิคือชั้น เช่น ชั้นอรูปาวจรภูมิ หรืออรูปฌาน ที่กำลังจะทำลายกำจัดกิเลสอันละเอียดด้วยไฟฌาน กำลังตรวจจิตรู้มรรควิธีว่ากำลังเจริญอยู่ในเจโตปริยญาณ มีฌาน๑ที่ยังลำบากอยู่ แต่ก็มีปีติอยู่ มีสุขอยู่ ..ฯลฯ.. พ่อครูแจกองค์ธรรมหลายอย่างในขณะปฏิบัติ

7. ซึ่งความรู้แยกแยะอันหลากหลายนี้เราได้ผ่านการรู้ การอบรมปลุกเสกหรือพุทธาภิเษกมานานหลายสิบปีแล้ว  ผู้มาใหม่ก็ติดตามไป อย่างน้อยก็ผ่านหูไปเป็นเสบียง ต่อไปเมื่อมีสภาวะก็จะเข้าใจขึ้น สรุปแล้ว อะไรก็ไม่ได้แยกกัน กาย วจี มโน มันก็ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่กายนอกจนเข้ามาเป็นกายในหรืออรูป มันก็เป็นสายสืบเนื่องต่อกันมา

8. กามก็คืออัตตา หรือสภาวะตัวตนของกิเลส หมดกามานุสัย ก็เหลือแต่ภวราคานุสัย พ่อครูสอนภูมิอนาคามีด้วยสัตตาวาส หรือวิญญาณฐีติ ที่หากไม่มีวิญญาณรับรู้แล้วก็ย่อมไม่ได้รู้อะไร สัตตาวาสที่๑ กายต่างกัน สัญญาก็ต่างกัน เช่น วิญญาณมนุษย์ วิญฯเทวดา วิญฯสัตว์นรก  ไม่ศึกษาแต่คุณก็เป็นอันนั้น มีองค์ประชุมของกายที่ต่างกัน เช่น คนที่ปฏิบัติฌานอยู่ในพุทธเดียวกันแท้ๆ  แต่ก็ยังมีกายสังขารไปปฏิบัติต่างกัน สัญญากำหนดรู้จึงต่างกันไป

9. ความสงบของจิตจึงต้องต่างกัน  ของพุทธนั้นมีจิตสงบแล้ว แต่การพูดการทำงานก็ย่อมทำการงานอยู่อย่างอึกทึกได้  แต่จิตนั้นก็สังขารอยู่ด้วยความสงบ ... ๒.สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เหล่าเทพจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน เป็นต้น ... ๓. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพสว่าง อาภัสราพรหม  (ว่าง ใส สว่าง แผ่กว้าง) พ่อครูสอนให้รู้ความต่างกันของพวกที่มิจฉาทิฏฐิ ย่อมกำหนดสัญญาความสว่าง ความใสนั้นต่างกัน แต่ก็ไปมีองค์ประชุมที่เป็นอาภัสราพรหมเช่นเดียวกัน  ส่วนของพุทธนั้นสว่างใสแบบลืมตา ที่ยากกว่ากันเยอะ เพราะต้องเปิดตาทำงานและต้องปฏิบัติการปรุงแต่ง จึงมีสัญญากำหนดรู้อันหลากหลาย (นานัตตสัญญา)

10. สัตตาวาสที่๔ พ่อครูว่าอธิบายยากมาก  ๔.สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน  มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพมืด สุภกิณหพรหม (ได้นิโรธมืดเป็นโชค) พ่อครูว่าอธิบายยาก ก็เพราะไปอธิบายเปรียบเทียบกับของพุทธ  ทั้งที่จริงแล้ว สัตตาวาสทั้ง ๙ นั้น เป็นของฤาษีทั้งนั้น  ข้อที่ ๔ ฤาษีจึงดับมืดตรงกันหมด เขาจึงอธิบายไม่ยาก แต่พอพ่อครูจะนำมาเปรียบเทียบกับของพุทธ จึงอธิบายยาก

11. การตรวจสัญญาทั้งสี่ ด้วยอากาสาฯ วิญญาณัญจาฯ อากิญจัญญาฯ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ได้ดับสัญญา แต่จะต้องมีอายตนะที่มีสัญญารู้การเคล้าเคลียอารมณ์ (พ่อครูถามให้ตื่นแบบขำๆว่า “มีคนรึเปล่าเนี่ย ทำไมเงียบจัง” เพราะว่าทำความเข้าใจยาก จึงต้องมีพื้นฐาน มีความตั้งใจฟัง ไม่เบื่อ ไม่โงกง่วง)

12. มีความรู้ตัวไปตามสภาวะเหล่านี้ คือ สัมปชัญญะ = ความรู้ต่อจากการมีสติรู้สึกตัว , สัมปชานะ = ความรู้สึกตัวในการปฏิบัติอยู่ , สัมปาเทติ = เหตุไปสู่การละเลงเพื่อสัมปัชชติ , สัมปัชชติ = ความรู้จากการแยกแยะขจัด , สัมปาเปติ = การสังเคราะห์กันขึ้นอย่าง อวจร , สัมปฏิสังขา = ญาณรู้จักการทบทวนกระทำซ้ำ , สัมปัชชลติ = เข้าสู่การโหมไหม้ สว่างเรืองรอง , สัมปัตตะหรือสัมปันนะ =  การเข้าบรรลุผล , สัมปฏิเวธ = ความรู้ที่รู้แจ้งแทงตลอด

13. การฝันของผู้บรรลุธรรมแล้ว ก็คือการฉายเรื่องด้วยรูปนิทานเป็นธรรมะ หรือสายปัญญาก็เป็นภาษาพยัญชนะบอกเรื่องราว คนอื่นที่สายหลับตานั่งหลับตาทำนิโรธ ก็จะหาว่าไม่มีการฝันเพราะดับเก่ง อนาคามีท่านฝันเป็นนิมิตบอกเรื่องราว ผู้ที่ไม่ได้ฝึกหัดดับก็ย่อมเห็นเรื่องราว  ที่สำคัญก็คือต้องหัดละอารมณ์เสพในขณะปรุงรูป มีเจตนาไม่ให้มีภพชาติทางกาม  มีสำนึกด้วยจิตพรหมที่สะอาด ไม่ได้ปรุงแต่งจิตทำไปเพื่อตัวตน แต่รู้จักการรับที่สมควรรับอาศัย ไม่ใช่รับมาแบบบ้าหอบขยะ

14. คนชนิดนี้ก็คือคนชนิดนี้ มาอยู่ร่วมกันก็ย่อมเป็นแบบอย่างให้กัน มีเอกภาพที่เจริญกันไปเป็นปึกแผ่น  วันนี้ภาคบ่ายพ่อครูจะตอบปัญหา ในรายการ “ตอบปัญหาละ-ดับชาติ”

ที่มา http://www.facebook.com/notes/asokeboonniyom/%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%88/339330546167114

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น