++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

คุณค่าของชิ้นส่วนเล็กๆ

คุณค่าของชิ้นส่วนเล็กๆ
เกมจิ๊กซอว์ (jigsaw puzzle) เป็นเกมต่อภาพ เล่นโดยประกอบชิ้นส่วนจำนวนหลายสิบหรือหลายร้อยชิ้นเข้าด้วยกันเป็นภาพรวม แต่ละชิ้นส่วนมีรูปร่าง ขนาด และสีสันต่างกัน เมื่อประกอบเข้ากันถูกชิ้น จะล็อคกันพอดี ภาพของแต่ละชิ้นก็จะเชื่อมกันเป็นภาพเดียว

เกมชนิดนี้มักทำด้วยกระดาษบอร์ดแข็ง ขั้นตอนการผลิตคือพิมพ์ภาพบนกระดาษบอร์ดแล้วปั๊มฉลุออกเป็นชิ้นๆ ในสมัยโบราณทำด้วยแผ่นไม้ ฉลุออกเป็นชิ้นๆ ด้วยเลื่อย นี่คือที่มาของชื่อ jigsaw puzzle (jigsaw แปลว่า เลื่อยฉลุ)

เชื่อกันว่าเกมนี้ประดิษฐ์เป็นครั้งแรกในราวปี ค.ศ. 1760 โดยนักทำแผนที่และนักแกะสลักชาวอังกฤษชื่อ จอห์น สปิลส์เบอรี เกมจิ๊กซอว์ในยุคหลังผลิตด้วยกระดาษการ์ดบอร์ด เพราะถูกกว่า ง่ายกว่า เบากว่า ภาพบนบอร์ดเกมมักเป็นภาพสวยๆ เช่นทิวทัศน์ ภูเขา น้ำตก ชายทะเล ดอกไม้ เด็กน่ารัก เป็นต้น

ก่อนยุคคอมพิวเตอร์ การเล่นเกมจิ๊กซอว์หมายถึงการควักกระเป๋าสตางค์ซื้อเกมในรูปกล่องขนาดใหญ่ หน้ากล่องเป็นรูปภาพต้นแบบหรือ ‘โจทย์’ ภายในกล่องบรรจุชิ้นส่วนจิ๊กซอว์จำนวนตามระบุ เช่น 100 ชิ้น 300 ชิ้น 500 ชิ้น ไปจนถึง 1,000 ชิ้น ขนาดหน้ากว้างยาวของกล่องเท่ากับขนาดรูปภาพเมื่อประกอบเสร็จแล้ว

จิ๊กซอว์บางชนิดมีชิ้นส่วนที่มีขนาดต่างกันมากๆ เช่น เล็ก กลาง ใหญ่ ออกแบบมาให้สมาชิกต่างวัยหลายคนเล่นพร้อมกัน เด็กเล่นชิ้นใหญ่ ผู้ใหญ่อาจเล่นชิ้นเล็ก จึงเรียกเกมชนิดนี้ว่า จิ๊กซอว์ครอบครัว เพราะเล่นกันได้ทั้งพ่อแม่ลูก

การเล่นเกมจิ๊กซอว์ต้องใช้พื้นที่ เนื่องจากอาจต่อไม่เสร็จในวันเดียว ต้องวางคาไว้จนกว่าจะต่อเสร็จ ขยับเขยื้อนไม่ได้ เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็มักทากาวติดบนบอร์ด หรือใส่กรอบรูป บางคนคลั่งไคล้เกมนี้เล่นทุกภาพที่มีจำหน่าย แล้วติดทุกรูปที่ต่อสำเร็จบนกำแพงบ้านแทนวอลล์เปเปอร์!

เมื่อโลกเดินทางมาถึงยุคดิจิตัล เกมเลื่อยฉลุก็ถูกแปลงเป็นข้อมูลไฟฟ้า มีเว็บไซต์ให้เล่นเกมนี้ฟรี มีคลังภาพให้เล่นได้ไม่จำกัด ไม่ต้องมีที่เก็บ

การต่อจิ๊กซอว์แทบทั้งหมด ผู้เล่นมักจะรู้ก่อนว่ากำลังต่อภาพอะไร ดังนั้นเมื่อหยิบแต่ละชิ้นขึ้นมา ก็พอเดาออกว่ามันควรอยู่บริเวณไหนของภาพ แต่มีเกมจิ๊กซอว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีภาพ เป็นตัวจิ๊กซอว์เปล่าๆ การเชื่อมชิ้นส่วนแบบนี้ต้องใช้ฝีมือขึ้นมาก แต่ที่ยากขึ้นไปอีกคือจิ๊กซอว์สามมิติ มาในรูปกล่องบ้าง ทรงกลมแบบลูกโลกบ้าง สำหรับคอจิ๊กซอว์จริงๆ

เกมจิ๊กซอว์เป็นกิจกรรมที่ดีอย่างหนึ่ง ช่วยคลายเครียด และน่าจะช่วยพัฒนาสมองในระดับหนึ่ง มีการวิจัยว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ผมเองก็เล่นเกมจิ๊กซอว์ฉบับดิจิตัลเป็นประจำ เพราะผ่อนคลายไม่แพ้ดูละครตบตีกัน! แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันแตกต่างจากความบันเทิงชนิดอื่นคือ มันเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง!

สิ่งหนึ่งที่มากับการเล่นเกมจิ๊กซอว์อย่างเลี่ยงไม่พ้นคือ การต้องสังเกตรายละเอียดของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น เชื่อไหมว่าการมองภาพชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งอย่างวิเคราะห์ ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของภาพของโลกและชีวิตอย่างประหลาด!

การมองภาพและชำแหละเป็นชิ้น มองอย่างละเอียดทีละจุด ทำให้เราเห็นบางอย่างในมุมที่เราอาจไม่เคยมองมาก่อนเลย ยิ่งมีจำนวนชิ้นมาก ก็ยิ่งเห็นลึกขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการต่อภาพจิ๊กซอว์รูปชายทะเลยามเย็น แต่ละชิ้นส่วนเป็นส่วนหนึ่งของภาพชายทะเล บางชิ้นส่วนเป็นเม็ดทราย บางชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของเงาบนหาด บางชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้า เมฆ นก คลื่น เรือ ฯลฯ การมองชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทำให้ต้องพิจารณาว่ามันคืออะไรกันแน่ จะพบว่าทุกชิ้นส่วนเล็กๆ ยังประกอบด้วยองค์ประกอบที่เล็กลงไปอีก เช่น กราบเรือประกอบขึ้นด้วยแผ่นไม้หลายชิ้น ตะปู ยาชัน ฯลฯ

สรรพสิ่งในโลกประกอบด้วยสิ่งเล็กๆ มารวมกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว มันประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ ที่โดยตัวมันเองเดี่ยวๆ อาจไม่มีตัวตน แต่เมื่อมารวมกันแล้ว ได้สาระ ได้ความหมาย

มองภาพละเอียดแบบนี้ก็อาจมองเห็นว่าโลกรอบตัวเรามีอะไรและเกิดอะไรขึ้นในโลก และการมองโลกแบบนี้อาจทำให้เราเห็นคุณค่าของชิ้นส่วนเล็กๆ รอบตัวเรา

เคยนึกไหมว่า หากเราสามารถแปลงชีวิตทั้งชีวิตของเราเป็นรูปภาพ มันจะเป็นรูปอะไร

ชีวิตของเราก็คือจิ๊กซอว์ ชีวิตเราทุกคนประกอบด้วยชิ้นส่วนของเหตุการณ์ต่างๆ หากเราเปรียบว่าจิ๊กซอว์หนึ่งชิ้นเท่ากับหนึ่งกิจกรรมหรือหนึ่งเหตุการณ์ แต่ละคนก็จะมีจิ๊กซอว์ชีวิตอยู่หลายพันชิ้น บางคนอาจมีเป็นหลายหมื่นชิ้น

หากเปรียบว่าจิ๊กซอว์เป็นเวลา สมมุติว่าหนึ่งชิ้นเท่ากับหนึ่งวัน แต่ละคนก็จะมีจิ๊กซอว์ชีวิตอยู่ราว 20,000-30,000 ชิ้น เป็นจิ๊กซอว์ที่ใหญ่เอาการ และต่อไม่ง่ายนัก

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หรือเวลา ในบรรดาจิ๊กซอว์หลายหมื่นชิ้นแห่งชีวิตของเรา มีบางชิ้นที่เป็นสีสันสวยงาม บางชิ้นหม่นหมอง บางชิ้นไม่มีสีสัน

ทว่าข้อแตกต่างระหว่างเกมจิ๊กซอว์ธรรมดากับเกมจิ๊กซอว์ชีวิตก็คือเราสามารถเลือกรูปร่าง ขนาด สีสัน และรอยหยักของแต่ละชิ้นได้ และแต่ละชิ้นมีความยืดหยุ่นต่อกันได้

นี่เป็นข่าวดี เพราะหมายความว่า เราเป็นคนวาดภาพแต่ละชิ้นส่วนเอง แล้วประกอบมันขึ้นมาให้สำเร็จ เสร็จแล้วก็เผยภาพรวมของชีวิตว่าสวยงามหรือไม่ เป็นชีวิตที่ดีหรือไม่

แต่ข่าวร้ายคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนกำลังประกอบภาพอะไร บางคนปฏิเสธชิ้นส่วนบางชิ้นที่ดูไร้ความหมาย เช่น ไม่รู้ว่าจะเรียนวิชาหนึ่งๆ ไปทำอะไร แต่เมื่อประกอบรวมแล้ว อาจพบว่ามันมีเหตุผลของการดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

บางคนไม่ยอมวาดภาพทิวทัศน์แห่งชีวิตของตัวเอง ปล่อยให้คนอื่นวาดให้ บางคนไม่แม้จะขยับตัวลงมือประกอบชิ้นส่วนภาพ และบางคนเลือกที่จะวาดภาพหม่นหมองสกปรกแล้วยังประกอบมันขึ้นมา เสร็จแล้วก็เป็นภาพกองขยะอาจม

จะเลือกต่อภาพใหญ่หรือเล็ก สว่างหรือมืด สะอาดหรือสกปรก ก็เป็นทางเลือกของเราแต่ละคน แต่อย่าลืมว่า ทุกๆ เกมมีเวลาเล่นที่จำกัด ดังนั้นจะต่อภาพอะไรก็ได้ ขอให้ลงมือทำก่อนจะถึงเวลา Game over!
ที่มา http://www.facebook.com/people.khon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น