++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

คำตอบของ 10 อันดับ ปัญหาคาใจเกี่ยวกับการนอน


คำตอบของ 10 อันดับ ปัญหาคาใจเกี่ยวกับการนอน
เชื่อว่าหลายๆคนชอบมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน และชอบตั้งคำถามในใจไม่รู้จะถามใคร ลองอ่าน "10 อันดับปัญหาคาใจเกี่ยวกับการนอน " หวังว่าคงตอบโจทย์ใครหลายๆ คนได้ค่ะ

10. เราควรเลือกปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนอย่างไร
ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนเป็นส่วนที่สัมผัสกับร่างกายโดยตรง เนื้อผ้าที่ใช้ควรเป็นผ้านิ่ม เพราะผ้าที่แข็งเกินไปอาจทำให้เกิดรอยยับ หากรอยยับนั้นมากดบนผิวหน้าหรือร่างกายบ่อยครั้งอาจเกิดปัญหาตามมาได้ การเลือกจึงควรเลือกผ้าที่จับแล้วสบายมือพอสมควร ไม่หลุดเป็นขุย เนื้อผ้าที่นิยมใช้ทำเครื่องนอนได้แก่ ผ้า Cotton หรือผ้าฝ้าย ควรเลือกที่เป็น cotton 100% เพราะเนื้อผ้าจะนิ่ม ไม่ระคายผิว ผ้า Cotton satin เป็นผ้าที่ผสมระหว่างผ้าฝ้ายและผ้าไหม เนื้อผ้าจึงนิ่มและลื่นกว่าผ้า Cotton ซึ่งราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย

9. เครื่องนอนเคลือบสารป้องกันไรฝุ่นเชื่อได้แค่ไหน
ไรฝุ่น (dust mite) เป็นสัตว์ประเภท "แมง" กินเศษผิวหนังและรังแคเป็นอาหาร ไรฝุ่นจึงพบมากที่สุดในห้องนอน และเครื่องนอนต่างๆ 10% ของน้ำหนักหมอนที่เราใช้นาน 2 ปีขึ้นไป มาจากตัวไรฝุ่นและอึของมัน เช่นเดียวกับที่นอนที่ใช้นาน 6 เดือนก็อาจมีไรฝุ่นมากพอที่ทำให้คนเป็นภูมิแพ้เกิดอาการได้ ที่นอน ที่ทำจากใยสังเคราะห์ ฟองน้ำ ใยมะพร้าว หรือยางพารา เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็เกิดไรฝุ่นได้ ที่นอนที่ไม่มีไรฝุ่น คือ ที่นอนน้ำ (water bed) ส่วนหมอน ควรเลี่ยงชนิดที่ทำจากขนสัตว์ ฟองน้ำ นุ่น แต่ถ้าต้องการใช้ควรหุ้มด้วยผ้ากันไรฝุ่นอีกชั้นก่อนใส่ปลอกหมอนธรรมดา เครื่องนอนเคลือบสารกันไรฝุ่นอาจช่วยป้องกันคุณให้ปลอดภัยจากไรฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง สังเกตได้จากคำว่า Microban Allergy Control หรือ Scot guard ควรเลือกปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น ที่ทำจากผ้าเนื้อแน่น ทอละเอียด ปูทับก่อนปูผ้า หรือปลอกหมอนธรรมดา หากเป็นผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรซักผ้าด้วยน้ำอุ่น เพื่อฆ่าไรฝุ่นด้วย แต่ถ้าไม่ได้ใช้ผ้าปูที่นอน หรือปลอกหมอนกันไรฝุ่น ควรทำความสะอาดที่นอนเป็นประจำทุกเดือน ซักผ้าด้วยน้ำร้อน 60 องศาเซลเซียส ทุก 1-2 สัปดาห์

8. การนอนกับพื้นดีกว่านอนบนที่นอนจริงไหม
การนอนกับพื้นแข็งมากๆ ทำให้เกิดการกดทับเป็นเวลานาน ระบบเลือดไหลเวียนลำบาก ทำให้เมื่อย และอาจเกิดอาการชาได้ การนอนพื้นจึงควรปูที่นอนบุนวมนิดหน่อย เพื่อกระจายแรงกดทับของหลังกับพื้นโดยตรง แต่ทั้งนี้การนอนพื้นก็ไม่มีผลกระทบร้ายแรงแต่อย่างใด ถ้าคุณนอนแล้วไม่เกิดอาการปวด หรือเมื่อยหลังก็สามารถนอนได้ค่ะ

7. จะรู้ได้อย่างไรว่าควรเปลี่ยนเครื่องนอนชุดใหม่แล้ว
อายุของที่นอน/หมอนไม่ควรเกิน 15 ปี ถ้าเกินกว่านี้ก็ต้องสังเกตว่าคุณปวดหลัง ปวดตัว ทุกครั้งที่ตื่นนอน หรือที่นอนยุบลงไปเป็นแอ่งหรือเปล่า ทั้งที่คุณกลับด้านหน้า ด้านหลังมาใช้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นคุณควรเปลี่ยนที่นอนหลังใหม่ เช่นเดียวกับหมอน ถ้านอนแล้วไม่รู้สึกสบายรู้สึกปวดคอ ก็ควรเปลี่ยนได้แล้วค่ะ

6. หมอนสุขภาพจำเป็นไหม
หมอนสุขภาพมีการผลิตจากวัสดุหลายประเภท เช่น โฟมลาเทกซ์ หรือยางพารา ฯลฯ ซึ่งอาจผลิตให้โค้งเว้าเพื่อรองรับกระดูกต้นคอให้ได้ระนาบเวลานอนมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือรองรับต้นคอได้พอดีเมื่อนอนหงาย แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ชอบนอนตะแคงเพราะจะคอเอียงและปวดคอได้ ส่วนหมอนที่ผลิตจากเปลือกไม้หรือเปลือกเมล็ดพืช เป็นหมอนที่ผลิตเพื่อรองรับและให้เข้ารูปกับศีรษะและต้นคอของผู้นอนแต่ละคน ซึ่งหลายคนที่เคยทดลองใช้ให้ความเห็นว่านอนหลับสบายขึ้น แต่มีข้อจำกัดคือราคาแพง และต้องผึ่งแดดบ่อยๆ เพื่อป้องกันความชื้นและแมลง

5. เราจำเป็นต้องมีหมอนหนุนของตนเองหรือเปล่า
ควร เพราะสรีระแต่ละคนแตกต่างกัน ขนาดของหมอนที่เหมาะกับแต่ละคนจึงต่างกันไปด้วย การเลือกหมอนต้องดูความเหมาะสมกับร่างกาย เช่น ผู้ที่รูปร่างใหญ่ หรือนอนกรน ควรใช้หมอนที่สูง เพื่อให้คออยู่ระนาบเดียวกับลำตัวพอดี ทำให้รู้สึกไม่อึดอัด และลดการนอนกรน หากเป็นคนตัวเล็กอาจหนุนหมอนต่ำลงมาหน่อยเพื่อรักษาแนวระนาบของลำตัว สำหรับรูปทรงของหมอนขึ้นอยู่กับท่านอนของแต่ละคน ควรเลือกหมอนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร และมีส่วนกว้างออกมาถึงช่วงไหล่ เวลาพลิกตัวจะได้ไม่ตกหมอน หมอนที่มีส่วนเว้าโค้ง ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับต้นคอ จะเหมาะกับท่านอนหงาย หากนำมาใช้นอนตะแคงอาจปวดต้นคอ และลองนอนหนุนหมอนทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อทดสอบความพอดีกับต้นคอ ความสูง ความนิ่ม ว่าเหมาะสมกับตัวเองมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีหมอนเพื่อรองรับการใช้งานรูปแบบอื่นๆ เช่น หมอนรองเอว หมอนรองขา หมอนรองคอ หมอนข้าง ผู้ที่มีปัญหาเวลานอนแล้วปวดขา ปวดเอว อาจซื้อหมอนประเภทนี้มารองเพื่อให้รู้สึกนอนสบายยิ่งขึ้นก็ได้

4. หมอนแบบไหนดีที่สุด
การหนุนหมอนที่ไม่มีคุณภาพนานๆ อาจทำให้กระดูกต้นคอ กดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรือเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตัน หากลิ่มเลือดขึ้นสมองอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ คุณจึงควรสังเกตอยู่เสมอว่ามีอาการปวดช่วงต้นคอหลังจากตื่นนอนด้วยหรือไม่ หมอนที่ดีควรนอนแล้วรับกับกระดูกต้นคอได้พอดี เสมอเป็นระนาบเดียวกับลำตัว นอนแล้วคอไม่แหงนหรือพับ วัสดุที่ใช้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน - ใยสังเคราะห์ มีทั้งแบบนุ่มฟูและแน่นขึ้นอยู่กับความชอบ ข้อดีคือมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตามรูปศีรษะ คืนรูปและระบายอากาศได้ดี ข้อจำกัด คือ เสื่อมสภาพเร็ว อายุใช้งานไม่คงทน - โฟมลาเทกซ์ แข็งและแน่นมากกว่าหมอนประเภทอื่นๆ ข้อดีคือ คงทน อายุการใช้งานนาน ข้อจำกัดคือ การระบายอากาศไม่ดี หากเลือกขนาดไม่เหมาะกับศีรษะอาจนอนแล้วปวดคอได้ - ยางพารา มีทั้งแบบแข็งและแบบนิ่ม ข้อดีคือ คงทน อายุการใช้งานนาน ข้อจำกัดคือ การระบายอากาศไม่ดี - ขนเป็ด มีความนุ่มฟูเป็นพิเศษ เหมาะกับผู้ที่ชอบหมอนนุ่มมากๆ มีข้อจำกัด เรื่องการทำความสะอาด (ซักไม่ได้) และราคาค่อนข้างสูง - นุ่น เป็นวัสดุที่ดีในการทำเครื่องนอน เพราะสามารถปรับให้รับกับสรีระของผู้นอนได้ และราคาไม่แพง แต่มีข้อจำกัด คือ การทำความสะอาดยากและอาจมีเศษนุ่นหลุดเป็นละออง ออกมาจึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้

3. เลือกซื้อที่นอนอย่างไรดี
ที่นอนควรมีขนาดกลางๆ ไม่นิ่ม หรือแน่นเกินไป (แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างที่นอนนิ่ม กับที่นอนแน่น ควรเลือกที่นอนแน่น เพราะที่นอนนิ่มจะทำให้ปวดหลังได้มากกว่า) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและสรีระของแต่ละบุคคล ถ้าคุณลองนอนดูแล้วไม่เกิดอาการปวดหลังก็ถือว่าใช้ได้ และควรเลือกที่นอนที่ยาวกว่าความสูงของตัวเองอย่างน้อย 15 ซม. และพิจารณาสิ่งสำคัญต่อไปนี้ด้วย - ความแน่นของที่นอน (Firmmess) ขึ้นอยู่กับความชอบและรูปร่างของผู้นอน เช่น คนที่รูปร่างใหญ่ จะเหมาะกับที่นอนแน่นเป็นพิเศษ - ชั้นโอบรับ (Conformity) คือมีส่วนที่สัมผัสและโอบรับกับร่างกายอย่างเหมาะสม เข้ากับส่วนโค้งเว้าได้ดี จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและนอนหลับสบายขึ้น - ความแข็งของที่นอน (Edge Support) คือ ความสามารถในการรับน้ำหนัก โดยเฉพาะช่วงขอบของที่นอน ป้องกันการยุบตัว และไม่เกิดการลื่นไหลเวลานั่งขณะขึ้นหรือลงจากที่นอน เมื่อใช้ที่นอนนานเกิน 6 เดือน ควรกลับที่นอนอีกด้านหนึ่งขึ้นมาใช้ เพื่อไม่ให้ที่นอนถูกใช้งานเพียงด้านเดียว เพราะทำให้ที่นอนเสื่อมสภาพเร็ว และควรกลับด้านหัวนอนและปลายเท้าสลับกันด้วย เพื่อใช้งานอย่างทั่วถึงทั้งสี่ด้าน

2. นอนหลับท่าไหนดีที่สุด
การนอนมีความสัมพันธ์กับกระดูกสันหลัง เพราะหากนอนผิดท่า เช่น นอนงอตัวหรือนอนบิดตัว ติดต่อกันหลายๆ ปี อาจทำให้กระดูกสันหลังเลื่อนออกนอกแนวระนาบ ผิดรูป หรือคดงอได้ ท่านอน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นอนหลับสนิท ตื่นนอนอย่างสดชื่นและไม่ปวดเมื่อย - นอนหงาย ควรใช้หมอนหนุนหัวแบบต่ำเพื่อให้ต้นคออยู่แนวเดียวกับลำตัว ป้องกันการปวดคอจากนอนคอพับหรือนอนเงยคอมากเกินไป แต่ท่านี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจ เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมจะกดทับปอดทำให้หายใจไม่สะดวก หัวใจทำงานลำบากขึ้น การนอนหงาย ยังอาจทำให้ผู้มีอาการปวดหลังมีอาการรุนแรงขึ้นด้วย นอนตะแคง การนอนตะแคงขวาช่วยให้หัวใจทำงานสะดวก และอาหารที่ค้างในกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ช่วยลดอาการปวดหลังได้ทางหนึ่ง แต่การนอนตะแคงซ้ายอาจทำให้เสียดลิ้นปี่ เพราะอาหารย่อยไม่หมดและค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร หญิงตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงเพื่อไม่ให้มดลูกไปกดทับกระดูกสันหลังและเส้นเลือดแดงใหญ่กลางลำตัว - นอนคว่ำหน้า อาจทำให้หายใจติดขัดและปวดต้นคอ เพราะคอแอ่นมาทางด้านหลังหรือบิดไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานานๆ ถ้าต้องนอนคว่ำหน้าควรใช้หมอนรองใต้หน้าอกเพื่อไม่ให้ปวดเมื่อยต้นคอ

1. ทำไมการนอนจึงสำคัญ
การนอนทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วนได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ พร้อมสำหรับการทำงานในวันต่อไป เมื่อนอนน้อยอาจส่งผลให้ทำงานผิดพลาด ทำงานได้น้อยลง คุณภาพงานต่ำกว่าปกติ และมีงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า คนที่นอนน้อยกว่า 4 ชม. หรือนอนมากกว่า 10 ชม. ต่อคืน เป็นประจำ อาจมีอายุสั้นกว่าคนที่นอนหลับปกติ คนที่นอนไม่เพียงพอนานๆ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดเมื่ออายุมากขึ้น และการนอนระหว่าง 21.00-22.00 น. จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะโกร๊ธ ฮอร์โมน ( growth homone) หลั่งออกมาอย่างเต็มที่ในช่วง 22.00-24.00 น. ช่วยซ่อมสร้างเซลล์ในร่างกาย และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ต่อวัน

เครดิต: toptenthailand
ภาพ : จากอินเตอร์เน็ต
*****************************************

แบ่งปันความรู้ทั่วไป เพื่อความพอเพียง และสุขภาพที่ดี โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

ชีวอโรคยา อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ไม่ต้องรอให้ป่วยไปเสียค่ารักษาพยาบาลแพงๆ

ติดตามข้อมูลข่าวสารการดูแลตัวเองวิถีธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมีได้ที่ Facebook ชีวอโรคยา
www.facebook.com/pages/ชีวอโรคยา/135957369811772

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น