++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมื่อหัวใจเต้นครั้งที่ 15,000,000,000


เมื่อหัวใจเต้นครั้งที่ 15,000,000,000
หากบอกว่าตัวเลข 15,000,000,000 คืออายุขัยของดวงอาทิตย์ของเรา ย่อมถูกต้อง หากบอกว่า 15,000,000,000 คืออายุปัจจุบันของจักรวาล ก็พอรับได้ เพราะตัวเลขใกล้เคียง

แต่หากบอกว่า 15,000,000,000 คือจำนวนครั้งการเต้นของหัวใจทั้งชีวิตของสัตว์แทบทุกชนิดในโลกนี้ จะเชื่อไหม?

จำนวนครั้งการเต้นของหัวใจทั้งชีวิตของสัตว์แทบทุกชนิดในโลกนี้? ล้อเล่นหรือเปล่า? ในเมื่อสัตว์ต่างๆ ในโลกมีอายุต่างกัน ขนาดต่างกัน...

หามิได้ ไม่ได้ล้อเล่น! นี่เป็นทฤษฎีที่มาจากการวิจัยอัตราเต้นของหัวใจ ขนาดของหัวใจ และอัตราการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) ของสัตว์โลกชนิดต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า ในช่วงหนึ่งชีวิตของสัตว์ส่วนใหญ่ในโลก หัวใจของสัตว์แต่ละชนิดเต้นหนึ่งหมื่นห้าพันล้านครั้งโดยประมาณ (ตัวเลขแตกต่างกันบ้าง ราว 10,000,000,000 - 15,000,000,000 ครั้ง)

หนูอายุยาว 3 ปี หัวใจเต้นตลอดชีวิตของมัน 15,000,000,000 ครั้ง วาฬอายุ 130 ปี หัวใจเต้นตลอดชีวิตของมัน 15,000,000,000 ครั้งเท่ากัน

ความแตกต่างคือ หัวใจหนูเต้นเร็วมาก (450 ครั้งต่อนาที) ส่วนหัวใจของวาฬเต้นช้ากว่าหนูมาก (10 ครั้งต่อนาที)

ส่วนมนุษย์เรา อายุเฉลี่ย 70 ปี หัวใจเต้นประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที คำนวณตลอดชีวิต 15,000,000,000 ครั้งเช่นกัน

นี่คือสถิติที่วิจัยมา :

กระต่าย อายุเฉลี่ย 9 ปี หัวใจเต้น 205 ครั้งต่อนาที
หนู 3 ปี 450 ครั้ง
แมว 15 ปี 150 ครั้ง
หมา 15 ปี 90 ครั้ง
หมู 25 ปี 70 ครั้ง
ม้า 40 ปี 44 ครั้ง
ช้าง 70 ปี 30 ครั้ง
วาฬ 80-130 ปี 10 ครั้ง
ฯลฯ

การคำนวณนี้มีรากมาจากงานศึกษาของนักเคมีชาวสวิส แม็กซ์ ไคเบอร์ (Max Kleiber) ในปี 1932 เรียกว่า Kleiber’s law

ไคเบอร์พบสูตรว่า สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกมีอัตราพลังงานเผาผลาญต่อหน่วยน้ำหนักเป็นสัดส่วนกับมวลของสัตว์นั้นยกกำลัง 3/4 ยกตัวอย่างเช่น แมวมีมวลมากกว่าหนูร้อยเท่า จะมีอัตราเผาผลาญพลังงาน (metabolism) มากกว่าหนูราว 31 เท่า

ในแต่ละนาที หัวใจออกแรงบีบเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ให้อยู่ต่อไปได้ แรงบีบและจำนวนครั้งแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของโครงสร้างร่างกาย

พูดง่ายๆ คือ อัตราเต้นหัวใจเป็นตัวกำหนดอัตราเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อายุของสัตว์ถูกกำหนดมาจากความต้องการพลังงานของเซลล์ มีสัดส่วนต่ออัตราเต้นของหัวใจ

เซลล์ของสัตว์โลกมีขนาดพอๆ กัน ไม่แตกต่างมาก สัตว์ขนาดใหญ่กว่ามีจำนวนเซลล์มากกว่า และอัตราเต้นของหัวใจลดลง อายุก็ยิ่งยาวขึ้น มนุษย์เมื่อยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์แม่ หัวใจเต้นเร็วมากประมาณ 100-180 ครั้งต่อนาที และลดลงราวครึ่งหนึ่งเมื่อโตขึ้น

ทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่สำหรับเราๆ ไม่ว่าทฤษฎี 15,000,000,000 ครั้งถูกหรือผิด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นคือเราจะใช้จำนวน ‘15,000,000,000 ครั้ง’ นี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดหรือไม่ และอย่างไร?

หัวใจของเราทุกคนทำงานหนักทั้งชีวิต ไม่มีวันหยุด เพื่อให้เรามีกำลังทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ

สมมุติว่าหัวใจของเราเต้นทั้งชีวิต 15,000,000,000 ครั้งจริง ลองถามตัวเองดูว่า เราใช้ประโยชน์จาก 15,000,000,000 ครั้งนี้กี่ครั้ง?

หักลบกิจกรรมที่ไม่มีคุณค่าออกไปแล้ว บางคนอาจแปลกใจที่ใช้ประโยชน์จากหัวใจของตัวเองไม่ถึงครึ่งเดียว บ้างไม่ถึงเสี้ยวเดียว

สูบบุหรี่หนึ่งตัว = หัวใจเต้น 300 ครั้ง
ตั้งวงกินเหล้าหนึ่งกลม = หัวใจเต้น 16,800 ครั้ง
คุยโทรศัพท์ + แช็ต + เฟซบุ๊คทั้งวัน = หัวใจเต้น 16,800 ครั้ง
ทะเลาะกับชาวบ้าน = หัวใจเต้น 1,400 ครั้ง
ดูชาวบ้านทะเลาะกัน = หัวใจเต้น 700 ครั้ง
นินทาชาวบ้านหนึ่งเรื่อง = หัวใจเต้น 700 ครั้ง
ฟังชาวบ้านนินทากัน = หัวใจเต้น 1,400 ครั้ง
เขียนด่าชาวบ้านในเว็บไซต์ = หัวใจเต้น 2,100 ครั้ง
อ่านชาวบ้านเขียนด่ากันในเว็บไซต์ = หัวใจเต้น 2,100 ครั้ง

คราวนี้ลองคูณจำนวนวัน เดือน ปีเข้าไป จะรู้ว่าเราเสียแรงหัวใจไปเท่าไรกับแต่ละกิจกรรมตลอดชีวิต

บางคนใช้แรงหัวใจเหนื่อยเปล่าในการทำกิจกรรมที่ไม่มีค่าอะไรต่อชีวิต หัวใจเต้นเหนื่อยเปล่าในการทำตัวเกเร ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไปจนถึงเป็นมารสังคม ทำร้ายแผ่นดินของตัวเอง

พูดสั้นๆ คือหัวใจเต้นเหนื่อยฟรี เสียแรงเปล่าๆ ปลี้ๆ

ญาติมิตรหลายคนของผมเป็นโรคหัวใจร้ายแรง คนเหล่านี้หายใจแต่ละครั้งด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ละวันอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ญาติคนหนึ่งไม่สามารถนอนหงายได้ เพราะหัวใจเจ็บ ต้องนั่งหลับเท่านั้น

พวกเขาอยากมีชีวิตต่อ อยากทำเรื่องต่างๆ มากมาย อยากอยู่กับคนที่รัก แต่พวกเขาทำไม่ได้ เพราะหัวใจหมดสภาพ จากโลกไปก่อนกำหนด

เห็นคนอยากมีชีวิตเหล่านี้แล้วเสียดายเวลาแทนคนมีชีวิตที่ไม่มีชีวิต!

น่าเสียดายที่คนมีหัวใจสมบูรณ์ไม่ใช้แรงเต้นของหัวใจให้เป็นประโยชน์เต็มที่

สัตว์อย่างหนู กระต่าย มีเวลาสั้นกว่าเรามาก แต่พวกมันแทบไม่มีเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ใช้แรงเต้นของหัวใจขับเคลื่อนชีวิตอย่างคุ้มค่ากว่ามนุษย์จำนวนมาก

ทฤษฎี 15,000,000,000 ครั้งที่เราควรสนใจคือ เราจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร

อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่เสียเวลาทำเรื่องไร้ประโยชน์ เรากำลังใช้แรงหัวใจของเราอยู่

เรามีทางเลือกเสมอ จะเลือกให้หัวใจเต้นฟรีโดยเปล่าประโยชน์ หรือจะเลือกทำอะไรสักอย่างสองอย่างที่เมื่อหัวใจเต้นถึงครั้งที่ 15,000,000,000 เรามองชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด และสามารถเอ่ยว่า “มันเป็นชีวิตที่ดี”

ที่มา http://www.facebook.com/people.khon?ref=stream

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น