++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เท่าทุน

แก่นกับเพื่อนโชคดีแต่หัววัน อยู่ ๆ ก็เจอลาพลัดหลงมาตัวหนึ่ง ทั้งสองกำลังร้อนเงินอยู่พอดี จึงตกลงให้แก่นจูงลาไปขายที่ตลาด

ระหว่างทางพบชายคนหนึ่งหิ้วปลามาสองตัว ชายผู้นั้นถามว่า

"พี่ชาย ลาตัวนี้จะขายไหม"

"ขายสิ"

"ถ้างั้นพี่ชายช่วยถือปลาให้ผมด้วย ผมจะลองขี่มันดู ถ้าถูกใจค่อยมาตกลงเรื่องราคากัน"

ชายคนนั้นขี่ลาวนอยู่หลายรอบ ยิ่งวนก็ยิ่งไกลออกไปทุกที จนหายวับไป แก่นรออยู่นานก็รู้ว่าถูกหลอกเสียแล้ว จึงได้แต่ถือปลากลับไป เพื่อนเห็นเข้าก็ถามว่า

"ขายลาไปแล้วใช่ไหม"

"ฮื่อ" แก่นตอบ

"ขายได้เท่าไร"

"ขายได้เท่าทุน แต่ปลาสองตัวนี้เป็นกำไร"



เรื่องนี้มองได้หลายแง่มุม อาจมองว่าเป็นเรื่องของโชคที่หลุดลอยจากมือของคนโง่ก็ได้ แต่จะมองให้ลึกไปกว่านั้นก็ได้

แก่นคงไม่ใช่คนที่ฉลาดนัก ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ถูกหลอกจนเสียลาไป แต่ถ้ามองให้ดี ก็จะเห็นสัจธรรมจากคำพูดของเขา ใช่หรือไม่ว่า ทั้งสอง 'เท่าทุน' ทั้งนี้เพราะพวกเขาได้ลามาฟรี ๆ เมื่อเสียลาไปฟรี ๆ จะเรียกว่า 'ขาดทุน' ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องมีอะไรที่ต้องเสียใจ ที่จริงแก่นพูดถูกแล้วที่บอกว่าเขา 'ได้กำไร' เพราะได้ปลาสองตัวมาจากเดิมที่ไม่มีอะไรเลย ดังนั้นจึงน่าที่จะดีใจด้วยซ้ำ

คนเรามักจะเสียใจทุกครั้งที่สูญเสียอะไรไปโดยไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา เราเสียใจที่เงินหาย เสียรถ เสียบ้าน ฯลฯ แต่เรามักลืมไปว่าที่จริงเราแค่ 'เท่าทุน' เราไม่ได้ 'ขาดทุน' หรือสูญเสียอะไรไปเลย เพราะแต่เดิมเราก็ไม่ได้มีสิ่งเหล่านั้นมาก่อน ถ้าสาวกันจริง ๆ แล้ว แต่เดิมเราก็มีแต่ตัวเปล่า ๆ เท่านั้น เราคลานออกมาจากท้องแม่โดยไม่มีอะไรติดตัวมาเลยแม้แต่อย่างเดียว

ถ้ามองจากจุดที่ว่า เราเกิดมาตัวเปล่า ก็จะพบว่าถึงแม้เราจะสูญเสียอะไรไปมากมาย เราก็ยัง 'กำไร' อยู่ เพราะตอนนี้เราก็ยังมีทรัพย์สินติดตัว มีครอบครัว วิชาความรู้ และอะไรต่ออะไรอีกเยอะแยะ คุณอาจบอกว่าของที่สูญเสียไปนั้น ไม่ได้เกิดจากโชคเหมือนอย่างสองคนในเรื่องที่ได้ลามาเปล่า ๆ แต่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและวิชาความรู้ของคุณเอง แต่ลองสืบสาวดูก็จะพบว่า 'ทุน' ที่คุณลงไปนั้นส่วนใหญ่ก็ได้มาฟรี ๆ เหมือนกัน น้ำนมและอาหารทั้งหลายที่เลี้ยงคุณมาแต่เกิด จนทำให้มีกำลังวังชาและกำลังความคิดนั้น ใช่ว่าคุณเป็นคนซื้อมาหรือลงทุนลงแรงหามาเอง ก็เปล่า การศึกษาที่ได้รับจากพ่อแม่และครูอาจารย์ ก็ไม่ได้เกิดจากเงินทองของคุณเลยแม้แต่น้อย ถึงที่สุด ร่างกายของคุณก็เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ที่ดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เป็นตัวอ่อน ชีวิตทรัพย์สิน และอะไรต่ออะไรที่คุณมีนั้นเป็นของที่คุณได้มา 'ฟรี ๆ' แทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป อย่างแย่ที่สุดคุณก็เพียงแต่ 'เท่าทุน' เท่านั้น

ในเมื่อสิ่งที่คุณมีอยู่เวลานี้เป็นของฟรีแทบทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น 'ของคุณ' จริง ๆ กรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทั้งหลายจึงเป็นเพียง 'สมมติ' เท่านั้น สมมตินั้นใช้การได้ในบางที่ บางแห่ง บางเวลาเท่านั้น (เช่นกรรมสิทธิ์ในภรรยาใช้ได้ในอินเดียสมัยก่อน แต่ใช้ไม่ได้ในเมืองไทย พ.ศ. นี้) แต่บ่อยครั้งเราคิดว่า สมมติเป็นความจริงสูงสุด และดังนั้นเราจึงติดยึดกับมัน การติดยึดกับมันมาก ๆ นอกจากจะทำให้เราทุกข์เวลาสูญเสียมันไปแล้ว ยังอาจทำให้เรากลายเป็นคนโง่ได้อย่างเรื่องข้างล่าง



ลูกค้าคนหนึ่งไปซื้อของที่ร้านชำ

"ขอซื้อน้ำตาลทรายขาวหนึ่งกิโล"

เจ้าของร้านหยิบกล่องสังกะสีใบหนึ่งลงมาจากชั้น กล่องนั้นปิดฉลากพริกป่น ลูกค้าจึงท้วงว่า

"ผมต้องการน้ำตาลทรายขาวนะครับ ไม่ใช่พริกป่น" เจ้าของร้านหัวเราะ ตอบว่า

"อย่าห่วง กล่องนี้บรรจุน้ำตาลทรายขาว แต่ผมกลัวว่ามดแดงมันจะขึ้นน้ำตาล ก็เลยเอาฉลากพริกป่นปิดหลอกมันไว้ไง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น