ในสถานการณ์ตอนนี้สำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ และผู้ที่กำลังเตรียมรับภัยพิบัติในกรุงเทพฯ อารมณ์และความรู้สึกโดยรวมคงจะไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะความเห็นที่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร ตั้งแต่เรื่องทำมาหากิน และการที่จำเป็นต้องซื้อของกินของใช้จากบรรดาพวกใจวิบัติ ที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเป็นหลายเท่าตัวจากราคาปกติ โดยไม่ต้องอธิบายว่าของขาดหายไปจากท้องตลาด
อาจจะมีคำพูดที่ฟังดูดี แต่ความหมายมันก็เหมือนกันก็คือ ทุกคนต่างก็กักตุนจึงทำให้สินค้าขาดตลาด แต่ถ้าเราลองมาพิจารณากันให้ดี แล้วจะเห็นว่าผู้บริโภค อย่างไรก็มีข้อจำกัดในการกักตุนคือทั้งจำนวนเงินทองและสถานที่จัดเก็บข้าวของที่จำกัด
มีความจริงอยู่ข้อหนึ่งที่พวกเราอาจจะลืมไปว่าโรงงานผู้ผลิตสิีนค้าหรืออาหาร ตลอดจนคลังเก็บสินค้านั้นก็ประสบภาวะเเช่นดียวกันกับเรา คือน้ำท่วมและไม่สามารถจะดำเนินการผลิตและจัดส่งได้
ที่สำคัญโรงงานยาหรือผู้จำหน่ายยาหลายแห่งก็ประสบภาวะภัยพิบัติ ปัญหาลูกโซ่ก็จะตามมาก็คือคนที่มีโรคประจำตัวก็อาจจะจะขาดยา ถ้าหากไม่ไปพบแพทย์เบิกยาให้พอเพียง น้ำเกลือที่ใช้กับผู้ป่วยหรือยาฆ่าเชื้อบางอย่างก็ยังขาดแคลน ฝากท่านผู้อ่านที่ดูแลตนเองและญาติผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ยาประจำด้วยนะครับ
ผู้เขียนก็ประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกันกับพี่น้องชาวแก่นธรรมและชาวธรรมะสวัสดี เพราะบ้านที่รัชดาภิเษก ก็จมน้ำไปแล้ว คอนโดมีเนียมก็มีน้ำสูงหน้าถนนถึงหนึ่งหรือกว่าหนึ่งเมตร แต่ผู้เขียนก็ยังดีใจที่ได้ออกความเห็นให้คณะทำงานได้จัดทำร้านค้าสินค้าราคาต้นทุนที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งและน้ำ ทำให้ทุกคนมีของจำเป็นประทังชีวิตกัน แม้จะไม่มีส่วนร่วมในการดำเนินการและอีกทั้งไม่อยากมีชื่อเป็นผู้ร่วมดำเนินการเลย แต่ก็ดีใจที่ความคิดนั้นถูกปลูกถ่ายเจือจุนเพื่อนๆในคอนโดมิเนียมได้อิ่มอุ่น
ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ดำเนินการและดูแลชุมชนเหล่านั้น ให้มีลมหายใจที่สุขสงบ แ้ม้จะไม่สบายกายสบายใจสักเท่าไร เพื่อรอให้ภาวะภัยพิบัตินี้ผ่านไป ตามหลักพระไตรลักษณ์ที่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันออกจะนานสักหน่อยสำหรับผู้อ่านบางท่าน แต่เชื่อเถอะเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ผู้เขียนเองก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของที่พัก ที่เพื่อนๆพยายามจะหาให้ นอกจากจะขาดแคลนแล้ว ยังแพงบ้าเลือดเหมือนที่เขาและเธอผู้เป็นเจ้าของสถานที่เหล่านั้นพยามยามจะขูดเลือดจากพวกเรายามเดือดร้อน และเขาหรือเธอเหล่านั้นเรียกมันว่าเป็นโอกาสของตนเองที่จะหาเงินได้มากขึ้นกว่าปกติ เงินที่ได้มาจากการฉวยโอกาสกับผู้คนที่เดือดร้อน หากเอาไปทำบุญก็คงไม่ต่างจากการสร้างวัดคณิกาผลในสมัยรัชกาลที่สามที่เรียกว่าวัดใหม่ยายแฟงตามชื่อผู้สร้างแล้วได้รับพระราชทานชื่อวัดว่าวัดคณิกาผล ดังจะคัดลอกมาให้อ่านด้านล่างนี้ครับ
ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงได้ครองแผ่นดินสยามอยู่นั้น มีหญิงคนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ยายคุณท้าวแฟง หรือบางครั้งก็เรียกว่า ยายแฟง เฉย ๆ ยายคุณท้าวแฟงนี้มีอาชีพเก็บตลาดเอาผลกำไร รวมทั้งเป็นแม่เล้าเจ้าของซ่องนางโลมด้วยยายแฟงนั้นแกรู้ว่า ในหลวงทรงโปรดการทำบุญสร้างวัดแกจึงได้ทำการสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแกขึ้นมา เพื่อต้องการให้สดุดสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินกับเขาด้วยเหมือนกัน ที่ตรอกแฟง ในแหล่งธุรกิจของพระนครสมัยนั้น พวกชาวบ้านจึงเรียกกันว่า " วัดใหม่ยายแฟง " เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แกก็ได้ทูลขอพระราชทานนามของวัดนั้น ทรงโปรดพระราชทานนามของวัดนั้นว่า " วัดคณิกาผล " อันแปลตรงตัวได้ว่า วัดที่เป็นผลได้มาจากหญิงโลมเมือง เพราะรายได้หลักของยายแฟงนั้นก็คือได้จากการเป็นแม่เล้า เจ้าโสเภณี
ในการสมโภชน์วัด ยายแฟงได้ไปนิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต พฺรหฺมรังสี ) ซึ่งสมัยนั้นสมเด็จฯ ท่านยังไม่มีสมณศักดิ์ คงเป็นเพียงแค่มหาโต พระมหาบาเรียนธรรมดาเท่านั้นให้มาเทศน์ฉลอง โดยมีความปรารถนาจะให้ท่านได้สรรเสริญผลบุญของตนต่อหน้าชุมชน แต่ผลก็ไม่ได้เป็นดังใจของยายแฟง เพราะพระมหาโต ท่านกลับเทศน์บอกแก่เจ้าภาพว่า ในการที่เจ้าภาพได้จัดการทำบุญเช่นนี้นั้น เป็นการทำบุญที่มีเบื้องหลังอยู่หลายประการ เป็นเหตุให้เหมือนกับว่า ในเงินทำบุญ ๑ บาทนั้น ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น โดยพระมหาโตท่านได้ยกนิทาน เรื่องตากะยายฝังเงินเฟื้องไว้ที่ศิลาหน้าบันไดขึ้นมาประกอบคำเทศน์ของท่านด้วย ท่านได้เทศน์ว่า เพราะด้วยผลบุญที่ทำนั้นมีสาเหตุมูลฐานในการประกอบการบุญนั้นไว้ผิด แม้ว่าเรื่องที่เจ้าภาพได้สร้างวัดนี้ไว้นั้นจะเป็นการดี แต่ก็เพราะการตั้งฐานในการทำบุญครั้งนี้ไม่ถูกบุญใหญ่ จึงทำให้ผลแห่งการทำบุญนั้นใหญ่โตเหมือนดังที่หวังไว้ไปไม่ได้ คงจะได้บ้างก็แค่เพียงของเศษบุญ หรือจาก ๑ บาทก็ได้เพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น
เมื่อยายคุณท้าวแฟงได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ก็ให้รู้สึกขัดเคืองใจเป็นกำลัง มีอาการโกรธหน้าแดง จนแทบจะระเบิดวาจาออกมาต่อว่า บริภาษมหาโตอย่างรุนแรง แต่ก็ยังเกรงเป็นการหมิ่นประมาท แกจึงได้เพียงแต่ประเคนกัณฑ์เทศน์ด้วยอาการไม่พอใจ กระแทก ๆ ดังปึงปังใหญ่ แล้วหลังจากนั้นแกก็จึงได้ไปนิมนต์เสด็จทูลกระหม่อมพระ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในสมัยเมื่อครั้งที่พระองค์ยังได้ทรงผนวชอยู่ เพื่อจะได้ให้ทรงเสด็จมาประทานธรรมต่อให้อีกสักกัณฑ์หนึ่ง โดยหวังว่า แกคงจะได้รับคำชมจากพระองค์ท่าน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการแก้ลำพระมหาโตไปในคราวเดียวกัน
ทูลกระหม่อมฯ ทรงรับนิมนต์ของยายแฟงแล้ว ได้ทรงประทานธรรม ในเรื่องจิตของบุคคลที่ประกอบการกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวก็จะได้อานิสงส์มาก แต่ถ้าบุคคลใดทำงานการบุญด้วยจิตที่ขุ่นมัว ก็ย่อมจะทำให้เกิดได้ผลน้อย และสำหรับในเรื่องของการสร้างวัดนี้ ก็ดูเหมือนจะเนื่องด้วยเรื่องของจิตที่ขุ่นมัวทั้งนั้น ดังนั้นอานิสงส์ผลบุญจึงมีเพียงเท่านั้น ตามที่ท่านมหาโต ท่านยกเรื่องตากะยาย ไปอ้อนวอนเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่มาประกอบนั้น เป็นเรื่องที่มีปรากฏในฎีกาพระอภิธรรมอยู่ เป็นฉากตัวอย่างที่ช่วยให้ท่านทำการตัดสินบุญของผู้สร้างวัดนี้ว่า ผลแห่งบุญนั้นจะอำนวยให้เกิดได้ไม่เต็มเม็ด เต็มหน่วย คงได้แค่เพียง ๓ ใน ๘ ส่วน เหมือนกับเงิน ๑ บาท โค้งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้อง คงได้เพียง ๓ เฟื้อง คือ เหลือเพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น การที่ท่านตัดสินอย่างนี้ก็นับว่ายังดีนักเทียว ถ้าเป็นความเห็นของเรา (สมเด็จพระจอมเกล้าฯ) คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น คือตัดสินตามเหตุที่ได้เห็น เพราะในการสร้างบุญนั้น วัดกันด้วยระดับของจิตใจ ผลที่เธอควรได้รับจึงควรมีเพียงเท่านี้ แล้วทูลกระหม่อมฯ ก็ลง เอวัง ไว้เท่านั้น
เทศน์ ๒ กัณฑ์ของ ๒ ท่านนี้ นับเป็นเรื่องน่าคิด และในเรื่องนี้ผู้อ่านก็ควรจะคิดวินิจฉัยเองด้วยเหมือนกัน ผู้เรียบเรียงคิดว่า ท่านทั้งสองต้องการให้ยายแฟงรู้จักการทำบุญด้วยการพิจารณาลงไปถึงมูลเหตุต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ และให้รู้จักคำนึงถึงที่มาของสิ่งที่ได้มาใช้ในการทำบุญด้วยว่า เป็นมูลฐานสำคัญของบุญ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านคงทรงพระประสงค์ที่จะตอกย้ำความรู้สึกของยายคุณท้าวแฟง ให้รู้ตระหนักลงไปถึงในเรื่องกุศลจิต และอกุศลจิต มีอำนาจความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องการสร้างวัดของยายแฟงนี้คงจะแสดงให้พวกเราได้เห็นอะไรๆ เกี่ยวกับการทำบุญกุศลได้ชัดขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
อนึ่ง ในเรื่องนี้มีอยู่ตอนหนึ่งที่ทูลกระหม่อมพระท่านได้ตรัสว่า คุณท้าวแฟงควรจะได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น ท่านผู้อ่านที่มีอายุน้อยนั้นอาจจะไม่ทราบมาตราเงินไทยในสมัยเก่า ดังนั้นจึงจะขอเรียนให้ทราบว่า ๔ ไพนั้นมีค่าเท่ากับ ๑ เฟื้อง และ ๒ เฟื้องเป็น ๑ สลึง ดังนั้น หนึ่งไพจึงมีค่าเพียงราว ๑ สตางค์เท่านั้น พระองค์ทรงบอกว่าที่ทำบุญบาทหนึ่งนั้นได้ผลบุญจริงๆ เพียงแค่ ๖ สตางค์ น้อยกว่าที่มหาโตท่านได้ตัดสินไว้เสียอีก คือ ใน ๑๐๐ ส่วน เหลืออยู่เพียง ๖ ส่วน เท่านั้นนั่นเอง
และอีกประการหนึ่ง ควรทำความเข้าใจไว้ให้ชัดว่า คำว่า "จิดขุ่นมัว" ที่มีใช้อยู่ในเรื่องนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงการขุ่นมัวด้วยความโกรธหรือการลุแก่โทสะเพียงอย่างเดียว ถ้าพิจารณากันให้ดีแล้วจะเห็นว่า ท่านหมายถึงความขุ่นมัวด้วยความโลภและความหลงด้วย คือ พร้อมกันทั้ง ๓ ประการ ยายแฟงโลภอยากได้หน้า และหลงไปว่า ในหลวงท่านจะโปรดปราน จึงได้สร้างวัดขึ้นมา ส่วนจิตใจของยายแฟงนั้น ไม่มีใครรู้ได้ แต่เท่าที่ประมาณพอได้ก็คือ แกเป็นแม่เล้าคุมซ่องนางโลม ดังนั้นจิตใจแกจึงน่าจะมีส่วนที่ผ่องใสในการกุศลอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นอกุศลอันขุ่นมัว ซึ่งซ่อนลึกหลบอยู่ภายในใจของแก
คนที่ทำบุญเอาหน้า ได้เงินทองมาโดยไม่บริสุทธิ์นั้น จึงอยู่ห่างไกลบุญมาก ทำให้ไม่สามารถไปสู้คนที่ทำบุญด้วยจิตที่บริสุทธิ์ และด้วยสิ่งของที่บริสุทธิ์สะอาดไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามผู้เรียบเรียงคิดว่า แม้ได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย บุญนั้นไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด ย่อมมีผลให้อุบัติเกิดเป็นความดีมาค้ำจุนผู้กระทำบุญนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว จะมากหรือน้อยก็มีแต่ดี เรื่องของยายแฟงนี้ได้เขียนเล่าเก็บเอาไว้เพื่อเตือนใจผู้ที่อาจจะตีความคิดเอาเองว่า จะหากำไรด้วยการทำชั่วทำบาปให้มาก แล้วก็จะเอาสิ่งของจำนวนมากที่ได้จากบาปกรรมของตัวนั้นมาสร้างความดี จะได้มีความดีมากๆ ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่ผิด เพราะความดีที่เกิดนั้นย่อมมีผลน้อย อย่าคิดว่าทำชั่วไว้มาก ๆ แล้ว ก็จึงค่อยหันกลับมาทำความดี แล้วก็จะทำให้ได้กำไร เกิดเป็นผลบุญขึ้นอีกมากมายได้ตามที่ใจตนเองคาดเดาเอาไว้เลยเป็นอันขาด เรื่องของคุณท้าวแฟง ที่สร้างวัดคณิกาผลนี่นั้นนับว่าเป็นอุทาหรณ์ ที่น่าสังวรอยู่ไม่น้อยเลย จริง ๆ ทีเดียว
แต่ในสภาวะตอนนี้เป็นโอกาสของพวกเราเพื่อนๆชาวชุมชนแก่นธรรมและชาวธรรมะสาธุที่จะได้ความรู้ เพื่อที่จะทำใจ พร้อมทั้งฝึกใจตามที่ตามหาแก่นธรรมได้ชักชวนกันมาตั้งแต่บทแรกจนถึงบทนี้
แม้หลายคนยังอด หิว เหนื่อย ท้อใจ หมดอาลัยตายอยาก โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่น้ำท่วมสูงมาก จนยากจะอยู่ในบ้านได้อีก ปิดบ้านเถอะครับแล้วแวะไปพักที่ศูนย์พักพิงที่เขาจัดหาให้ อย่างน้อยก็ยังอบอุ่นใจในทางดำเนินชีวิตและการปฎิบัติธรรม และน้อยที่สุดก็คลายความยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์ที่เป็นของชั่วคราวอออกไปได้ สำหรับท่านที่สู้อยู่และสู้ได้ ผมก็เชียร์ให้สู้ต่อไปครับ ถ้าไม่เป็นภาระต่อตนเองและผู้อื่น
นาทีนี้อย่าไปตัดสินใจเลยว่าอะไรมันถูกอะไรมันผิด นาทีนี้เป็นนาทีที่ท่านต้องจัดการตัวเองให้เหมาะสมดังที่ว่า"รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเสมอว่าการที่มีจิตใจคิดรอบคอบที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการและมีกัลยาณมิตรที่ดีก็สามารถบรรลุธรรมได้ หากท่านทั้งหลายใคร่ครวญดีแล้วจะรู้ว่าทุกข์นั้นมันก็คลายตัวลงเพราะมันก็มีธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงเช่นกัน ดังทุกข์และสุขที่ติดตามกันมาเหมือนแฝดสยาม เหมือนหน้ามือกับหลังมือ
การที่พวกเรามีพระมหากัลยาณมิตรอย่างพระบรมศาสดา พระเจ้าอยู่หัว ครูบาอาจารย์ ตลอดจนพี่น้องร่วมชาติเป็นกำลังใจให้เรายืนหยัดผ่านภัยพิบัติในครั้งนี้ไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่ดีที่สุด และเป็นกำลังใจสูงสุด
หาแผนที่ให้ตัวเองโดยพิจารณาธรรมทั้งหลาย อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีคนจับมือเราให้ผ่านทุกข์กาย ส่วนทุกข์ใจท่านรู้เห็นอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านทั้งหลายจะปล่อย จะวาง จะเ็ย็นกับมันได้หรือไม่ ถามใจตนเองดูสิครับว่าเราจะจับมือกับตัวเองได้หรือยัง ที่จะใคร่ครวญธรรมทั้งหลายที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนสั่ง ได้เวลาที่เราจะเอาออกมาใช้กันแล้วตอนนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เอวัง
ธรรมะสวัสดี
แทนสะมะชัยโย
ใบโพธิ์แก่นธรรม จากหลวงปู่คำเขียน สุวณฺโณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น