++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อเรียกกันว่า วัดสลักในหนังสือเก่าบางแห่งเรียกว่า วัดฉลัก ก็มีบ้าง วัดชะหลัก ก็มีบ้าง ทั้งสองชื่อหลังนี้คงจะเพี้ยน มาจากชื่อแรกมูลเหตุที่รียกว่า วัดสลัก นั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “จะเป็นเพราะเมื่อแรกสร้างมีของสิ่งใดที่ทำด้วยฝีมือสลักผิดกับที่ทำเกลี้ยง ๆ เป็นสามัญในวัดอื่น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า วัดสลัก มิใช่นามสำหรับวัดแต่เป็นวัดขนาดกลางมิใช่วัดเล็ก ๆ” แต่อีกความเห็นหนึ่งซึ่งเป็นคำเก่าเล่าต่อกันมาว่าวัดนี้แต่ก่อนนั้นมีพระภิกษุ ที่เป็นช่างฝีมือแกะสลักขึ้นชื่ออยู่มาก จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านพากันเรียกชื่อวัดตามเกียรติคุณ ดังกล่าวนั้น ว่า วัดสลัก ไปด้วย
วัดสลัก เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่จะเป็นวัดที่ท่านผู้ใดสร้าง และสร้างในเดือน ปีใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีย้ายราชธานีมาจากอยุธยาแล้วมาตั้งอยู่ ที่กรุงธนบุรีได้กำหนดพื้นที่สร้างพระนครทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาวัดสลักก็ได้เข้าอยู่ในเขตพระนครด้วยจึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวงแต่มิได้ทรงเปลี่ยนแปลงชื่อวัด
ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรด ให้ย้ายพระนคร มาตั้งทางฝั่งตะวันออก วัดสลัก อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง คือ วังหลวงกับพระราชวังบวร คือ วังหน้า โดยเฉพาะพระราชวังบวรฯ นั้นขยายเนื้อที่ทางใต้ลงมากินเนื้อที่วัดสลักเข้าไปด้วยจึงโปรดให้ทำผาติกรรมเอาเนื้อที่ทางตอนใต้วัดให้แก่วัดเพื่อแลกเอาพื้นที่ตอนเหนือ ของวัดไป (บริเวณวัดสลักเดิมตอนใต้สุดเขตตรงหอระฆังและสระน้ำ ซึ่งเรียกว่าสระทิพยนิภา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตัวอาคารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ขยายมาถึงซอยศิลปากรปัจจุบันนี้) และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงทำผาติกรรมเอาที่วัดไปดังนี้ สันนิษฐาน กันว่าคงเป็นมูลเหตุให้ทรงสร้างวัดนี้การสร้างวัด เริ่มตั้งแต่ราว ปีเถาะ ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ อันเป็นปีเดียวกับที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่๑ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้นทรงสร้างสำเร็จก็โปรดขนานนามชื่อไหม่ว่า วัดนิพพานาราม
เหตุที่ทรงเปลี่ยนชื่อวัดสลัก เป็น วัดนิพพานาราม สันนิษฐาน ว่าเดิมทีเดียวจะทรงเปลี่ยน ชื่อวัดสลักเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ เพราะสิ่งก่อสร้างเช่น พระมณฑป ได้ทรงถ่ายแบบมณฑปมาจากวัดพระศรีสรรเพชญที่กรุงศรีอยุธยามาสร้าง เป็นแต่ไม่มีจตุรมุขเท่านั้นและพระประสงค์ที่ทรงสร้างก็เพื่อบรรจุพระอัฐิ แบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญในกรุงศรีอยุธยา คือ บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก(คือพระราชบิดาของพระองค์ซึ่งเป็นต้นพระราชวงศ์จักรี) อันเป็นส่วนของกรมพระราชวังบวรฯ มหาสุรสิงหนาท (พระอัฐิของสมเด็จปฐมบรมมหาชนกอันเป็นส่วนของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประดิษฐ์ฐานอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง) แต่มาติดขัดตรงที่ว่า วัดนี้หาได้อยู่ในพระบรมมหาราชวังดังวัดพระศรีสรรเพชญในกรุงศรีอยุธยาไม่ จึงได้ทรงคิดเปลี่ยนชื่อไปเป็น วัดนิพพานาราม เพราะด้วยพระอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ดังที่กล่าวไว้แล้ว (พระอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกนั้น สันนิษฐานว่าบรรจุไว้ ตอนล่างของพระเจดีย์ทองในโบสถ์พระธาตุ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้านบน) พระมณฑปที่กล่าวถึงนี้ คือ โบสถ์พระธาตุในปัจจุบันนี้ แต่เดิมทำทรงหลังคาเป็นมณฑปโดยเอายอดปราสาทซึ่งเดิมกะจะสร้างในพระราชวังบวรฯ มาสร้าง ครั้นมณฑปนั้นถูกไฟไหม้เมื่อ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ พ.ศ. ๒๓๔๔ เวลายามเศษ เหลือแต่ผนัง เวลาทรงสร้างใหม่ โปรดให้ทำหลังคาจตุรมุข มิให้ทำเครื่องยอดตามเดิม มาแก้โบสถ์พระธาตุ เป็นทรงหลังคาออกมุข ๒ ด้านเช่นที่เห็น ที่อยู่ในปัจจุบันนี้เข้าใจว่าคงจะมาแก้ไข เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชการที่ ๓
เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรฯ มหาสุรสิงหนาทเรื่องทำสังคายนาพระไตรปิฎกและทรงพระราชดำริเห็นพ้องต้องกันว่า วัดนิพพานาราม สมควรเป็นที่ประชุมในการทำสังคายนา เพราะอยู่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า สะดวกที่ทั้งสองพระองค์ จะทำการอุปภัมภ์ให้การทำสังคายนาลุล่วงไปโดยเรียบร้อย สมพระราชศรัทธา จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดไหม่เป็น วัดพระศรีสรรเพชญ แม้มิได้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑. ชื่อวัดนิพพานารามไม่มีแบบแผน ๒. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวังนั้น ชาวบ้านพากันเรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญตลอดมาเพราะเห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ในวังหลวง เหมือนกรุงศรีอยุธยา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่โปรดให้เรียกเช่นนั้น ด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วไม่ได้เก็บพระอัฐิอย่างวัดพระศรีสรรเพชญที่ กรุงศรีอยุธยา และ๓. เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ มหาสุรสิงหนาทมาแต่เดิม คือมีพระประสงค์จะให้วัดนี่ชื่อวัด พระศรีสรรเพชญ ด้วยเหตุ ๓ ประการที่กล่าวมานี้ วัดนิพพานาราม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระศรีสรรเพชญดาราม หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดพระศรีสรรเพชญ และคงจะเรียกพระประธานในพระอุโบสถซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ว่า พระศรีสรรเพชญ มาแต่ครั้งนั้น ตามแบบอย่างพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ ที่ประดิษฐ์ฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ ในกรุงศรีอยุธยาโบราณต่างแต่พระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญในกรุงศรีอยุธยา เป็นพระยืนหุ้มทอง
วัดสลักหรือวัดนิพพานารามเปลี่ยนนามเป็นวัดพระศรีสรรเพชญมาได้ประมาณ ๑๕-๑๖ ปี ครั้งถึงปีกุน พ.ศ.๒๓๔๖ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ เป็น วัดมหาธาตุ ซึ่งในการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาธาตุครั้งนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า“วัดมหาธาตุ ฤๅถ้า เรียกเต็มตามแบบว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นหลักของพระนครย่อมมีทุกราชธานีในประเทศนี้จำต้องมีในพระนครอมรรัตนโกสินทร์นี้ประการ๑ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป (คือในโบสถ์พระธาตุ) เป็นพระศรีรัตนมหาธาตุมีอยู่ในพระอารามแล้วประการ ๑ เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชเหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่านี่อีกประการ ๑ เพราะสมควรแก่นามว่าวัดมหาธาตุ ยิ่งกว่านามอื่น ด้วยประการฉะนี้ จึงพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุ”
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ตั้งมหาวิทยาลัยการศึกษาของสงฆ์ฝ่ายมหานิกายขึ้น ในวัดมหาธาตุ เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัย คู่กับ มหามกุฏราชวิทยาลัย ของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อ ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) โดยมีพระราชปรารภว่า “จำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วมา ได้ทรงทนุบำรุงพุทธศาสนาให้ถาวรเจริญรุ่งเรื่องขึ้นโดยลำดับ แต่พระสัทธรรมในพระบรมพุทธศาสนานี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยอาศัยกันแลกัน เมื่อพระปริยัติสัทธรรมเจริญแพร่หลายอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรมจึงจะเจริญไพบูลย์ได้ เมื่อพระปฏิบัติสัทธรรมไพบูลย์อยู่ พระปริยัติสัทธรรมย่อมเป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งพระพุทธ ศาสนา พระศาสนาจะดำรงอยู่ และ เจริญก็ด้วยพระปริยัติสัทธรรม การที่จะบำรุงพระปริยัติสัทธรรม อันเป็นรากเง้าของพระพุทธศาสนาให้ไพศาลยิ่งขึ้น ก็ย่อมอาศัยการบำรุงให้มีผู้เล่าเรียนแลที่เรียนให้สะดวกยิ่งขึ้น การเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมที่เป็นไปอยู่เวลานี้ ก็ได้โปรดเกล้าฯให้จัดการบำรุงทั่วทุกพระอาราม แต่ยังหาเป็นอันนับบริบูรณ์แท้ไม่ เพราะเป็นแต่สถานที่เล่าเรียนในชั้นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่เล่าเรียนพระไตรปิฎก และวิชาชั้นสูงขึ้นขึ้นไว้ ๒ สถาน สถานที่หนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารพระอารามหลวง พระราชทานนามว่ามหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกสถานหนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้ตั้งไว้ที่ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย ได้เปิดการเล่าเรียนแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ สืบมา”
ครั้นปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมารทรงสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุจนสำเร็จ แล้วโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อชื่อวัดเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น