++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทบาทของน้ำ ในพระพุทธศาสนา

พระมหา ภาสกรณ์ ปิโยภาโส
บรรยายธรรม ณ ตึกสหประชาชาติ ถนน ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ขอ เจริญพร ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน นับว่าเป็นเกียรติแก่อาตมภาพอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาแบ่งบันและแสดงมุมมองทางพุทธศาสนา เกี่ยวกับบทบาทของน้ำกับท่านทั้งหลาย

เราทุกคนต่างรู้ดีว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับความอยู่รอดของเหล่าสัตว์มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ดี น้ำยังทำให้แหล่งธรรมชาติต่างๆ เช่น ป่าไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้า เป็นต้นดำรงอยู่ได้ น้ำเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ไม่มีมนุษย์คนใดหรือไม่มีสังคมใดจะอยู่ได้โดยปราศจากน้ำ

น้ำเป็นธาตุอันหนึ่งในบรรดาธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีปรากฏในสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกชีวิตแล้ว ฉะนั้น เราทุกคนจึงควรช่วยกัน รักษาน้ำให้สะอาด ไม่ทำน้ำให้สกปรกโดยการทิ้งขยะลงในแม่น้ำ
การทำอย่างนี้ก็เพื่อรักษาน้ำไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคตนั่นเอง

วันนี้ หน้าที่ของอาตมาก็คือตรวจสอบว่าน้ำมีบทบาทอย่างไรบ้าง ในมุมมองของพระพุทธศาสนา เราจะพูดถึงบทบาทของน้ำใน ๒ แง่มุม คือ

น้ำที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และคติธรรมคำสอนที่เราได้จากน้ำ

น้ำที่ใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
๑. น้ำพระพุทธมนต์ หรือน้ำศักดิ์สิทธ์
ในพิธีปฏิบัติทางศาสนาพุทธ พระจะทำน้ำมนต์ในพิธีต่าง ๆ เนื่องในโอกาสที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสมีงานอันเป็นมงคล เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

เมื่อ ว่าตามหลักการ ของพระพุทธศาสนาแล้ว ในอรรถกถาธรรมบท พระพุทธองค์ได้รับสั่งให้พระอานนทเถระ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากทำน้ำพระพุทธมนต์ คราวเมื่อเกิดภัยพิบัติ ๓ ประการ คือ
ข้าวยากหมากแพง ปีศาจ และเกิดโรคระบาด ที่เมืองเวสาลี

เมื่อท่านได้เรียนเอารัตนสูตรจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านได้สาธยายพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วตามสถานที่ต่างๆ ผลปรากฏว่า
ภัยพิบัติ ๓ ประการก็บรรเทาเบาคลาย และหายไปในที่สุด

เพื่อเป็นการประพฤติตามข้อปฏิบัติอันนี้ ชาวพุทธเชื่อว่าน้ำมนต์สามารถขจัดปัดเป่า
ความโชคร้ายหรือภัยพิบัติต่างๆ ได้ ดังนั้น เมื่อมีงานพิธีต่างๆ จึงนิมนต์พระสงฆ์ ไปเจริญพุทธมนต์ที่บ้าน

ในการทำน้ำมนต์นั้น พระสงฆ์จะสวดพระปริตต์ ด้วยสมาธิจิตที่แน่วแน่ น้ำกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์ขึ้นมาได้ก็อยู่ตรงที่ความที่จิตของพระผู้สวดเป็นสมาธิ และความเชื่อมั่นในพระคุณของพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนนั่นเอง

ก่อนจบพิธีกรรมทุกอย่าง พระสงฆ์จะสวดมนต์อีกครั้ง (ชยมงคลกถา) ในขณะที่หัวหน้าพระสงฆ์เดินประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กับผู้คนที่มาร่วมงาน ก่อนที่จะเดินทางกลับวัด

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของน้ำมนต์ ก็อยู่ที่การทำให้เกิดสติปัญญา และส่งเสริมกำลังใจแก่อุบาสกอุบาสิกา
ในงานแต่งงาน เพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาว แขกผู้มาร่วมงานจะรดน้ำสังข์ลงบนมือหรือศีรษะของคู่บ่าวสาวทั้งสองคน เพื่อที่จะอวยพรให้เขาทั้งสองมีความสุขกับชีวิตการแต่งงาน พร้อมทั้งสอนว่า ขอให้รักสามัคคีกัน ไม่แตกแยกกันเหมือนน้ำนี้นะ แต่พิธีนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาฮินดู

๒. พีธีอาบน้ำศพ หรือสรงน้ำศพ
ในสังคมชาวพุทธเมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เสียชีวิตลง ก่อนที่จะนำศพบรรจุลงในโลงศพ
จะมีพิธีรดน้ำศพก่อน บรรดาญาติๆ และเพื่อนๆ ของผู้ตายก็จะมารดน้ำลงบนฝ่ามือของผู้ตาย เพราะนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นผู้ตาย ญาติๆ และเพื่อนๆ
ยังถือโอกาสนี้ขอขมาลาโทษต่อความผิดต่างๆ ที่อาจจะเคยล่วงเกินต่อผู้ตาย
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ และอวยพรให้ผู้ตายไปสู่สุคติ

เมื่อเห็นศพของผู้ตาย เราสามารถ สอนตัวเราเองได้ว่า เมื่อก่อนบุคคลผู้นี้ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรา
ตอนเมื่อเขาเกิดมา ก็ไม่มีอะไรติดตัวมาด้วย และเมื่อตายไปก็ไม่มีอะไรติดตัวไปด้วยเช่นกัน
เราอาจจะภาวนาในใจว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในที่สุด
เหมือนผู้ตายที่กำลังนอนอยู่นี้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรอยู่ด้วยความประมาทมัวเมา เพราะวันหนึ่งความตายจะต้องมาถึงเราเป็นแน่
เราสามารถพูดได้ว่า พิธีกรรมนี้สามารถเจริญกุศลให้เกิดขึ้นในใจได้

สรุปได้ว่าพิธีนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ให้บรรดาญาติๆ และเพื่อนๆ ของผู้ตายมีโอกาสขอขมาลาโทษต่อผู้ตาย และพบหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมทั้งสอนให้ผู้มาร่วมรดน้ำศพได้เข้าใจถึงพระไตรลักษณ์ คือ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย เพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ด้วยความไม่ประมาท

๓. ใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการให้
เมื่อเราคิดจะถวายที่ดินสักแปลง สวน หรือสิ่งอื่นๆ ที่ไม่สามารถยกขึ้นได้ เราอาจจะรินน้ำลงบนฝ่ามือของผู้รับเช่นพระสงฆ์ได้ พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเป็นอันดับแรก

เมื่อพระองค์ถวายพระเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่) เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่พระพุทธองค์ พระองค์ทรงจับพระเต้าทอง หลั่งน้ำอุทิศสวนนั้น เจาะจงแด่พระพุทธองค์ด้วยการตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถวายเวฬุวันนี้ ซึ่งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ แก่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประมุข

อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารได้ทรง หลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่ออุทิศผลบุญ
ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญแก่บรรดาอดีตพระญาติ ที่ไปเกิดเป็นเปรต เพื่อประพฤติตามข้อปฏิบัตินี้

หลังการทำบุญทุกประเภทแล้ว ในงานศพ ชาวพุทธจะกรวดน้ำ
เพื่ออุทิศผลบุญกุศลแก่บรรดาญาติที่ตายไปแล้ว ในงานอื่นๆ ทั่วไป
ก็จะกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญไปให้สรรพสัตว์ต่างๆ ในขณะที่พระสงฆ์กำลังสวดให้พรเป็นภาษาบาลี นี่ก็เป็นกุศโลบายอันหนึ่งในการที่จะทำให้จิตใจเป็นสมาธิจดจ่อและเป็นกุศล
เมื่อนั้นจึงอุทิศแผ่ผลบุญ ที่เกิดจากการทำบุญไปให้สรรพสัตว์ที่เราเจาะจงถึง
ขณะที่กรวดน้ำลงพื้นดิน เราใช้น้ำเป็นสื่อ ใช้ดินเเป็นพยานในการแผ่ส่วนบุญ

การกรวดน้ำมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ
๑. เพื่อแสดงอาการให้
๒. เพื่อตั้งความปรารถนา ขอให้ผลบุญกุศลที่ได้ทำไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ประสบความสำเร็จตามที่ตนปรารถนา
๓. เพื่ออุทิศ แบ่งปัน และให้ส่วนบุญแก่เพื่อนหรือญาติที่จากไป และแก่บรรดาสัตว์อื่น ๆ โดยไม่เลือกหน้า เป็นวิธีการแสดงความใจกว้างในบุญ เพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในบรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
ที่เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการแผ่แบ่งปันส่วนบุญ

น้ำในเทศกาลต่างๆ
๑. เทศกาลสงกรานต์
เป็นวันปีใหม่แบบไทยและถือว่าเป็นโอกาส การกลับมารวมตัวกัน ของคนในครอบครัว เทศกาลสงกรานต์
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุก ๆ ปี หรือที่รู้กันอีกอย่างหนึ่งว่า "เทศกาลน้ำ"

เพราะ ผู้คนเชื่อว่าน้ำสามารถขจัดความโชคร้ายหายนะ ทั้งปวงได้สำหรับชาวพุทธ เมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็จะพากันไปวัดใกล้บ้าน เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ ชาวพุทธยังแสดงความเคารพต่อ ผู้แก่ผู้เฒ่าโดยรดน้ำอบน้ำหอมลงบนฝ่ามือของท่านเหล่านั้น ในทางกลับกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะอวยพร ให้คนหนุ่มสาวประสบโชคดีและเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตต่อไป

๒. ลอยกระทง
เป็นเทศกาลที่เป็นที่รู้จักกันมาก ซึ่งจะมีขึ้นราวต้นเดือน พฤศจิกายน ความจริงแล้ว ประเพณีลอยกระทงมีต้นกำเนิดมาจากพราหมณ์หรือฮินดู โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้คนได้แสดงความขอบคุณต่อพระแม่คงคา
ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราจะใส่เทียน ธูป ๓ ดอก และดอกไม้ลงในกระทง
เมื่อ จุดเทียนและธูปแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานแล้วก็ปล่อยกระทงลงในคลอง แม่น้ำ หรือแม้แต่สระเล็ก ๆ จุดประสงค์ก็เพื่อน้อมบูชารอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธองค์ทรงทำไว้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา และเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาด้วย

คติธรรม คำสอน จากน้ำ
เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวพุทธมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ ดังนั้น น้ำจึงใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ
และทุกพิธีกรรมก็มีเหตุผลทั้งสิ้น เมื่อเราได้พิจารณาถึง ลักษณะของน้ำแล้ว
เราจะได้แง่คิดคติธรรมบางประการเกี่ยวกับน้ำ น้ำมีลักษณะที่สำคัญอยู่ ๖ ประการ คือ

๑. ละลายของแข็ง
โดยธรรมชาติ น้ำเป็นของอ่อน แต่มีอานุภาพสามารถ ทำลายสิ่งของที่เป็นของแข็งเช่นหินได้
เรา จะเห็นว่า ถ้าน้ำหยดลงบนหินทุกวัน หินมันยังกร่อน พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรารู้จักสร้างบุญกุศลโดยการอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "คารโว จ นิวาโต จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ……
" ความมีสัมมาคารวะ และอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมงคลสูงสุด

๒. แรงสามัคคี
โดยธรรมชาติแล้ว น้ำจะอยู่รวมตัวกัน เมื่อเราใช้มีดฟันลงไป น้ำจะกลับเข้าหากันทันทีทันใด
ถ้าเรามีความสามัคคี ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็จะสำเร็จได้
เช่นเดียวกับน้ำ เมื่อน้ำรวมกันเป็นจำนวนมากเข้า น้ำก็จะมีพลังมาก
สามารถสร้างประโยชน์ ให้กับมนุษย์ได้ เช่นทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่
ใจของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อใจรวมกันเป็นหนึ่ง
มีสมาธิแน่วแน่ใจก็จะมีพลังสามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย มหาศาลเลยทีเดียว

๓. มีความชุ่มเย็น
ลักษณะของน้ำอีกประการหนึ่งก็คือความชุ่มชื่นหรือชุ่มเย็น และเพราะความชุ่มชื่นของน้ำนี่เอง
จึง ทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกนี้อยู่รอด และสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ข้อนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับหลักธรรมคือเมตตา เมื่อคนเราต่างมีเมตตาต่อกันและกัน
ไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนาของตัวเท่านั้น ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง
เรา ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เราใช้น้ำชำระล้างสิ่งของโสโครกต่าง ๆ เช่นเดียวกับหลักคำสอนของศาสนาที่มุ่งชำระกาย วาจา และใจของศาสนิกผู้ปฏิบัติให้สะอาด

๔. เน้นความยุติธรรม
น้ำ มีลักษณะของความยุติธรรม ซื่อตรง และเที่ยงตรง พวกช่างจะใช้น้ำสำหรับวัดระดับของสิ่งต่าง ๆ หรือของพื้นที่เมื่อจะสร้างบ้านหรือตึก ข้อนี้เปรียบได้กับความซื่อสัตย์ และความยึดหลักคุณธรรมของคน ถ้าคนเราทุกคนมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกันแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะอยู่ร่วมกันได้
โดยปราศจากข้อระแวงสงสัย และปราศจากความไม่ไว้ใจต่อกันและกัน

๕. นำประสาน
น้ำใช้สำหรับประสานสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากัน อย่างเช่น ในการสร้างบ้านหรือตึก
ก่อนที่จะเป็นตึกหรือบ้านขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะใช้น้ำประสานสิ่งต่าง ๆ เช่น
อิฐ หิน ปูน ทรายให้เข้ากัน ถ้าไม่มีน้ำเสียแล้ว ตึกก็สร้างขึ้นมาไม่ได้ ศาสนาทำหน้าที่คล้าย ๆ กับน้ำตรงที่ศาสนาช่วยประสานผู้คนจากครอบครัวและประเทศต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ มนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็ต้องประกอบด้วยธรรมคือ
สังคหวัตถุ ๔ ประการคือ โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย
(ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา)

๖. พัฒนาการตน
น้ำจะปรับตัวเองได้ดีไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็ตาม เช่นเมื่ออยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หรืออยู่ในวัตถุอื่น ๆ ก็ตาม
เมื่อน้ำอยู่ในที่ใด รูปร่างลักษณะของน้ำ ก็จะเหมือนกับภาชนะนั้น ๆ
เช่น เมื่อน้ำอยู่ในขวด เราก็จะเห็นน้ำ เป็นรูปของขวด ข้อนี้เพื่อที่จะสอนว่า คนเราควรปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้เข้ากับสถานที่ และสังคมที่ตัวเองอยู่


ข้อสังเกตส่งท้าย

จากที่ได้พูดมา ทำให้เราสามารถค้นพบบทบาทของน้ำจากมุมมองต่าง ๆ ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาน้ำจะถูกใช้เพื่อสื่อหลักคำสอน พิธีกรรมเป็นเพียงวิธีการที่จะชักจูง คนให้เข้ามาและเรียนรู้เพิ่มขึ้น และจากลักษณะของน้ำ
ทำให้เราได้แนวคิดเกี่ยวกับหลักคำสอน ของพระพุทธศาสนา
และเราควรนำเอาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับโลก

น้ำมีบทบาทที่สำคัญโดยการหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่นเดียวกับศาสนา ทุกศาสนาก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับน้ำตรงที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คน และให้แนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อจะได้ประสบความสุข ศาสนาที่แตกต่างกันเปรียบได้กับสายน้ำที่แตกต่างกันซึ่งไหลมาจากทิศต่างๆ แต่เมื่อแม่น้ำทุกสายไหลมารวมกันที่มหาสมุทรอันเดียวกันแล้ว
เราแยกแยะไม่ได้ว่า นี้เป็นน้ำจากแม่น้ำสายนั้น นั่นเป็นแม่น้ำจากมหาสมุทรนั้น ผู้คนจากศาสนาต่างๆ ควรหันหน้าเข้ามาหากัน ทำงานร่วมกันเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น