จักษุแพทย์ ม.รังสิต แนะวิธีถนอมดวงตาเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน เตือน วัยรุ่นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ควรกระพริบตา 10-15 ครั้งต่อนาที เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง เผยคอมพิวเตอร์ไม่ใช่สาเหตุของการเป็นต้อ ยังมีโรคตาอีกมากมายที่ไม่ใช่ต้อแต่ทำให้คนไทยตาบอด
พญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร รองคณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการใช้สายตาในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันดังนั้นควรใช้สายตาในการใช้งานให้ถูกต้อง โรคตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเรียกว่า Computer Vision Syndrome (CVS) ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ปัญหาปวดเมื่อยตา เกิดจากการใช้สายตานานๆ จึงควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ ทุก 20-30 นาที ให้มองไปยังพื้นที่กว้างนอกจอคอมพิวเตอร์ 30-60 วินาที แล้วจึงมาทำงานต่อไป
2. ปัญหาเคืองตา ปกติดวงตาของมนุษย์จะมีน้ำตาเคลือบตลอดเวลา เพื่อช่วยในการหักเหของแสง ทำให้มองเห็นชัด และล้างสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษออกจากดวงตา ถ้าน้ำตาเคลือบผิวตาน้อยกว่าปกติ จะทำให้มีอาการแสบตา ตามัว เคืองตาเป็นระยะ การใช้คอมพิวเตอร์ทำงานนานๆ ทำให้ผู้ใช้กระพริบตาน้อยกว่าปกติ หรือ ลืมกระพริบตา โดยปกติแล้วคนเรากระพริบตา 10-15 ครั้งต่อนาที ทั้งนี้การใช้คอมพิวเตอร์มักทำให้ผู้ใช้ติดนิสัยเบิกตานานๆ หรือมีพฤติกรรมการมองตรงโดยไม่ได้มองลงเหมือนเช่นการอ่านหนังสือที่หนังตาต้องปิดลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์มักมีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จึงควรหลับตาพักขณะใช้งานบ้าง เพื่อให้น้ำตามาหล่อเลี้ยงตาได้ หากอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อแก้ปัญหาตาแห้ง
3. ปัญหาตามัว มักพบในเด็กที่เล่นคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานเกินไป ปกติภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง จะถูกกำหนดมาจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้สายตาอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก แต่ถ้าเด็กใช้สายตาเพ่งนานๆ อาจเกิดภาวะคล้ายสายตาสั้น คือ มองไกลไม่ชัด ในระยะแรกอาจเป็นชั่วคราว จึงไม่ควรให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานๆ ในผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน การใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้มีอาการปวดศีรษะ เมื่อยตา โดยเฉพาะคนที่มีสายตาผิดปกติต้องใส่แว่นแก้ไขให้พอเหมาะ
4. ปัญหาอื่นๆ เช่น กระดูกและข้อ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องให้ความสำคัญกับการนั่ง โดยศีรษะควรอยู่สูงกว่าจอคอมพิวเตอร์เล็กน้อยจะได้ไม่ต้องเงยหน้ามาก ป้องกันอาการล้าบริเวณลำคอ ทั้งนี้หลายคนเกรงว่าคอมพิวเตอร์อาจมีรังสีแผ่ออกมาจากจอภาพเป็นอันตรายต่อดวงตา แต่ปัจจุบันนี้กลับพบน้อยมากเพราะคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตาและต่อร่างกาย ผู้ใช้จึงไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นกรองแสงหรือแว่นตากรองแสงช่วยเหมือนที่ผ่านมา
“การใช้สายตาในสถานที่ที่มีแสงสว่างน้อย จะทำให้ต้องเพ่งสายตามากจนเกิดอาการเมื่อยตา หากมีการใช้สายตานานๆ ทุก 20-30 นาที ควรพักสายตาโดยมองออกไปไกลๆ หรือมองออกไปนอกหน้าต่าง 30-60 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย ทั้งนี้ใน 1 ชั่วโมงของการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้ควรพักสายตา 5-10 นาที ในชีวิตประจำวัน ทุกคนควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงจึงจะเพียงพอต่อการพักผ่อนร่างกายและสายตา การอดนอนจะทำให้ดวงตาพักผ่อนน้อย จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับการใช้สายตาติดต่อกันนานๆ คือ แสบตา เคืองตา ตาแห้ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา และปวดศีรษะ” พญ.วัฒนีย์ กล่าวว่า
การใช้คอมพิวเตอร์มักทำให้ผู้ใช้ติดนิสัยเบิกตานานๆ
รองคณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมถึง “โรคต้อ” ว่า ต้อ เป็นคำรวมเรียกโรคตาหลายชนิดที่ทำให้ตามัว แต่การใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันไม่ได้มีผลทำให้ผู้ใช้เป็นต้อ ทั้งนี้ โรคต้อที่ได้ยินบ่อยๆ ได้แก่
1. ต้อลม เป็นเยื่อหรือก้อนนูนสีขาวปนเหลืองบริเวณหัวตา เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่น แสงแดด เป็นเวลานานๆ ทำให้เคืองตา แต่ไม่ทำให้ตาบอด ป้องกันโดยใส่แว่นกันแดด
2. ต้อเนื้อ เป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากต้อลม แต่เยื่อหรือก้อนนูนลามเข้ามาถึงกระจกตา เห็นเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมบริเวณหัวตาและหางตา ส่วนมากจะมีสีแดง เกิดจากการถูกสิ่งระคายเคืองมานานหลายปี ทำให้มีอาการเคืองตา ถ้าต้อลามมากถึงรูม่านตา จะมีอาการตามัว บางครั้งทำให้เกิดสายตาเอียงได้ ถ้าเป็นไม่มากให้ใส่แว่นกันแดดและหยอดตาแก้ระคายเคือง ไม่ควรซื้อยาหยอดเอง เพราะอาจมียาที่ผสมฮอร์โมนสเตอรอยด์ ทำให้ตาบอดได้ ถ้าเป็นมากแนะนำให้ผ่าตัดออก การดูแลหลังผ่าตัดสำคัญมาก มิฉะนั้นจะเป็นซ้ำอีกได้ ป้องกันโดยใส่แว่นกันแดด
3. ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์ตา เป็นการเสื่อมสภาพ พบมากในผู้สูงอายุ แต่อาจมีบางชนิดเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นหลังจากมีอุบัติเหตุบริเวณหน้าและตาได้ เมื่อมองผ่านรูม่านตาผู้สูงอายุเข้าไป จะเห็นเป็นฝ้าขาวแทนสีดำใส มองคล้ายกระจกที่เป็นฝ้า ทำให้ผู้ป่วยมองภาพมัวคล้ายเป็นหมอกที่เห็นไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์ (แก้วตา) เทียม บางครั้งหลังผ่าตัดไปนานๆ จะเกิดตามัวอีก เพราะเปลือกเลนส์ขุ่น เมื่อมายิงเลเซอร์ก็จะเห็นดีเหมือนเดิม เป็นโรคตาบอดที่รักษาให้กลับมาเห็นดีเหมือนเดิมได้
4. ต้อหิน เป็นโรคตาที่ร้ายแรงที่สุด เพราะมีการทำลายขั้วประสาทตา เกิดจากความไม่สมดุลของน้ำที่ไหลเวียนในตา เช่น การระบายออกของน้ำน้อยเกินไป ทำให้มีน้ำมาก กดดูพบว่าตาแข็งกว่าปกติ มีความดันตาสูงกว่าปกติ จึงเรียกว่าต้อหิน หรือการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงขั้วประสาทตาไม่ดี ทำให้ขั้วประสาทตาตายโดยความดันตาไม่สูง พบมากในหมู่คนไทย ทำให้ตาบอดได้อย่างช้าๆ โดยบอดมาจากบริเวณริมๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้อหินบางชนิดมีความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน มีการปวดหัว ปวดตา ตามัวทันที ทำให้ตาบอดได้อย่างรวดเร็ว แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาจนความดันตาลดลง และยิงเลเซอร์หรือผ่าตัดทันที การไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต้อหินจะใช้เวลามาก เพราะต้องวัดความดันตา ตรวจลานสายตา ดูขั้วประสาทตา ผู้ที่มีประวัติต้อหินในครอบครัว ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ ต้องมาตรวจคัดกรองจากจักษุแพทย์ โดยเฉพาะเมื่ออายุ 40 ปี หากเริ่มใส่แว่นอ่านหนังสือครั้งแรกจะต้องวัดความดันตาครั้งแรกด้วย
ทั้งนี้ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการปวดหัว ปวดตา ตามัว ควรไปพบจักษุแพทย์ทันที ต้อหินเป็นโรคตาที่รักษาให้กลับมาเห็นดีเหมือนเดิมไม่ได้ จึงป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ในทางการแพทย์ทำได้เพียงการรักษาไม่ให้ตามัวมากกว่าเดิม โดยการยิงแสงเลเซอร์ป้องกันในคนที่มีมุมม่านตาแคบ และเมื่อทราบว่าเป็นต้อหิน ก็ต้องใช้ยาสม่ำเสมอ และไม่ซื้อยาหยอดตาใช้เอง
พญ.วัฒนีย์ กล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า การลอกหรือผ่าตัดตาสามารถทำได้ข้างละ 1 ครั้งเท่านั้น การจะผ่าตัดตาจะขึ้นกับโรค หากเป็นต้อเนื้อและ ต้อกระจกผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดก็ต่อเมื่อสายตามัวมากจนใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวก
“ในกรณีต้อกระจก หากผ่าตัดแล้วมีอาการกลับมาตามัวอีก แพทย์จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์ สำหรับต้อหิน ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดก็ต่อเมื่อควบคุมความดันตาด้วยยาหยอดตาไม่ได้หรือไม่สามารถใช้ยาหยอดตาให้สม่ำเสมอได้แล้ว ทั้งนี้กรณีของต้อหินอาจพบการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้งได้ อย่างไรก็ตามยังมีโรคตาอีกมากมายที่ไม่ใช่ต้อ แต่สามารถทำให้ตาบอดได้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น