มีคนถามผมเสมอว่า, ถ้าต้องเลือกระหว่าง “คนเก่ง” กับ “คนดี” ผมจะเลือกคนประเภทไหน?
ทุกครั้งผมจะตอบว่า ทำไมผมต้องเลือกด้วย, ทำไมคนเก่งของสังคมไทยเรา จึงไม่ใช่คนดีกระนั้นหรือ?
คำตอบที่ผมได้รับจากเพื่อนคนที่ตั้งคำถามนี้ ก็มักจะทำให้ผมประหลาดใจพอสมควร
นั่นคือ, ทุกวันนี้ คนเก่งมักจะไม่ค่อย อยากเป็นคนดี
ก็ยุ่งซิครับ
เขาบอกว่าใช่, มันถึงได้ยุ่งทุกวันนี้ เพราะคนดีกับคนเก่ง ไม่ได้มาบรรจบพบกัน,
คนเก่ง ๆ กับคนดี ๆ กลายเป็นคนสองประเภท ที่ยืนอยู่คนละข้าง
และเมื่อคนเก่ง กลายเป็นคนไม่ดี และคนดีดูเหมือนจะไม่เก่ง,
บ้านเมืองจึงได้เกิดปัญหา อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เขาวิเคราะห์ว่า คนเก่งที่มี IQ สูงนั้น ถ้าไม่มี EQ หรือ Emotional Quotient
อันหมายถึง “ความฉลาดทางอารมณ์” หรืออาจจะเรียกว่า “สติสัมปชัญญะ”
ก็จะเสี่ยงที่จะเป็น คนที่เป็นปัญหากับสังคม
ไอคิวเกี่ยวกับสมอง, อีคิวเกี่ยวกับใจและอารมณ์
ผมไม่ใช่นักวิชาการ จึงต้องมองในฐานะชาวบ้าน ที่สัมผัสกับคนเก่งกับคนดีหลายประเภทที่เคยเห็นมา
คนเก่งที่ดีมีสติและมีสติสัมปชัญญะก็มีไม่น้อย เป็นคนน่านับถือ น่าคบหา และเสวนาด้วย
เพราะคนเก่งที่มีอารมณ์หนักแน่นและมั่นคง นั้นคือคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
ยิ่งถ้าเป็นคนมีศีลธรรม รู้ดีรู้ชั่ว ไม่เห็นแก่ตัว และมีจิตวิญญาณงดงามด้วยแล้ว,
ก็ถือว่า เป็นเพชรมีค่าล้ำของสังคมไทย
คนเช่นนี้หายาก, เจอแล้วก็ต้องอนุรักษ์เอาไว้ จนสุดความสามารถ
เพราะเขาเหล่านี้คือ สมบัติของชาติที่หาได้ยากยิ่ง
คนที่เป็นปัญหาของบ้านเมือง นั้นคือคนไอคิวสูง แต่อีคิวต่ำนั่นแหละ เพราะแปลว่าเป็นคนหัวไว, รอบรู้, คล่องแคล่ว,
แต่จิตใจไม่มั่นคง, หวั่นไหวง่าย, เชื่ออะไรได้ง่าย, ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง,
และมี “อัตตา” สูงเกินกว่าที่ปุถุชนทั่วไปจะรับได้
คนเหล่านี้ไม่น่าคบหา, และไม่ค่อยจะเป็น ประโยชน์ต่อองค์กรของตนเท่าไหร่นัก
เพราะไม่ได้ใช้ความเก่งของตน ให้เป็นประโยชน์กับสังคมเท่าไหร่นัก
ทำงานกับใคร ก็ไม่ค่อยจะได้, และหากใครทำท่าว่า จะมีความสามารถใกล้เคียงกับตน, ก็จะเกิดความอิจฉาเร้าร้อน,
แทนที่ตนจะเป็น ผู้แก้ปัญหา, ก็จะกลายเป็น ปัญหาเสียเอง
นักวิชาการบอกว่า ยังมี “Q” อีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย, และทำให้ “คนเก่ง” ไม่สามารถเป็น “คนดี” ได้,
นั่นคือ Moral Quotient หรือ “คุณภาพด้านจริยธรรมและศีลธรรม”
ถ้าคนเก่งที่มี IQ สูง, แต่มี MQ ต่ำ, นั่นคืออันตราย
เพราะคนเก่งคนนี้ จะใช้ปัญญาที่มีมากกว่าคนอื่น กระทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมและศีลธรรม
ซึ่งก็จะทำให้คนเก่งคนนั้น ทำความชั่วร้ายที่เป็น อันตรายต่อประเทศชาติได้หนักหนากว่าคนอื่น
คนไอคิวต่ำนั้น แม้ว่าเอ็มคิวสูงบ้าง, ก็อาจจะไม่สามารถสร้างความเสียหายให้คนคนอื่นได้มากนัก
เพราะไม่สามารถ “ซิกแซ่ก” กฎกติกาที่สังคมวางเอาไว้...เรียกว่าถึงพยายามจะทำชั่ว, ก็จะถูกจับได้ง่าย
แต่คนไอคิวสูง, อีคิวก็มาก, และมิหนำซ้ำยังมี เอ็มคิวเป็นเลิศอีกด้วยนั้น จะเป็นตัวอย่างของ “perfect storm”
นั่นคือ รวบรวมเอาความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ที่พึงจะมี มาอยู่ที่คนคนเดียวกัน
คนอย่างนี้ หากอยู่ในตำแหน่งฐานะที่สำคัญ ก็สามารถจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับบ้านเมืองได้อย่างยิ่ง
เป็นลูกน้อง, ก็จะแนะนำ และรับใช้เจ้านายให้ทำผิดกฎหมาย
พร้อมกับวิธีการที่จะหลบเลี่ยงกฎและกติกาของสังคมได้อย่างแนบเนียน, ไม่มีใครสามารถจับได้
ถ้าคนอย่างนี้ เป็นหัวหน้าเสียเอง, ก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาหนักหน่วงได้อย่างยิ่ง
เพราะนอกจากจะใช้ความฉลาดเฉลียวของตนเองที่อยู่เหนือคนอื่นแล้ว, ก็ยังสามารถ จะสั่งการให้ลูกน้องทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ควรทำ
หรือทำแล้ว จะมีผลให้เกิดความเสียหายให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศชาติได้อีกด้วย
ยิ่งถ้าหากคนเดียวกันนี้ มีอีคิวที่แย่ด้วย จะกลายเป็น “สามเด้ง”
นั่นคือ ฉลาดเหลือล้น, โกงเหลือหลาย และเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้นอย่างสุด ๆ อีกแล้ว
มีคนอย่างนี้ในบ้านเมืองไม่กี่คน ก็ยุ่งยากวุ่นวายเหลือประมาณ
ดังนั้น, เราจึงต้องช่วยกันสร้าง และส่งเสริม “คนดี” มาก ๆ ที่มีไอคิวดี แต่ก็มีอีคิวและเอ็มคิวในระดับที่น่าพอใจด้วย
ไม่ต้องหวังว่า จะมีคนดี คนเก่ง อย่างนี้มากมาย แต่อย่างน้อย ถ้าให้ตัวเอ็มคิวคือ ความตระหนักในจริยธรรมเป็นหลักนำ ในความประพฤติประจำวันแล้วไซร้,
ก็จะทำให้ พอจะมีความหวังได้บ้างว่า เราจะสามารถสร้างป้อมปราการ เพื่อป้องกันไม่ให้คนเก่งแต่เลวนั้น ทำร้ายประเทศชาติมากเกินไป
ในท้ายที่สุด, หากสังคมไทย ก้าวไปถึงจุดที่เราเรียกหา, ก็ไม่ควรที่เราจะต้องเลือกระหว่าง “คนดี” กับ “คนเก่ง”
เพราะบ้านเมืองของเรา ควรจะให้ คนดีกับคนเก่งนั้น คือคนเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น