++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทรรศนะของพระพุทธศาสนาต่อน้ำ

น้ำเป็นธาตุที่สำคัญในธาตุ ๔ ทำหน้าที่ประสาน/เชื่อมสิ่งอื่น ๆ ให้จับตัวกันได้ ในสิ่งต่างๆ จึงมีธาตุน้ำเป็นส่วนผสมที่ลงตัวร่วมกับธาตุอื่น ๆ
น้ำเป็นทรัพยากร ที่สำคัญต่อมนุษย์ พืชและสัตว์ ในชาดกแสดงว่า คนในสมัยพุทธกาลมีความเชื่อว่า น้ำ (คือฝน) เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์ และถือว่าฝนนั้นมีวิญญาณหรือเทพเจ้าแห่งฝนสิงอยู่
น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อสรรพสัตว์ทั้งในด้านบริโภค อุปโภค ทำเกษตรกรรม ในปีที่เกิดฝนแล้งและมีน้ำไม่พอใช้ในการทำเกษตรกรรม จึงเป็นเหตุให้วิวาทกัน เช่น การวิวาทระหว่างเจ้าศากยะและโกลิยะเรื่องการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี

เมื่อขาดน้ำฝน สรรพสัตว์จึงต้องเผชิญกับอันตรายและความทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณาคุณต่อสรรพสัตว์ จึงรับหน้าที่ทำฝนให้ตก ดังปรากฏในมัจฉชาดกว่า

“ในสมัยหนึ่ง ในแคว้นโกศล ฝนไม่ตกเลย ข้าวกล้าทั้งหลายเหี่ยวแห้ง ตระพัง สระโบกขรณี และสระในที่นั้นๆ ก็เหือดแห้ง แม้สระโบกขรณีเชตวัน ณ ที่ใกล้ซุ้มพระทวารเชตวันก็ขาดน้ำ ฝูงกาและนก เป็นต้น รุมกันเอาจะงอยปากอันเทียบได้กับปากคีม จิกทึ้งฝูงปลาและเต่าอันหลบคุดเข้าสู่เปือกตม ออกมากินทั้งๆ ที่กำลังดิ้นอยู่ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นความพินาศของฝูงปลาและเต่า พระมหากรุณาเตือนพระทัยให้ทรงอุตสาหะ จึงทรงพระดำริว่า วันนี้เราควรจักให้ฝนตก ครั้นราตรีสว่างแล้ว ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระเสร็จ ทรงกำหนดเวลาภิกษาจาร มีพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ด้วยพระพุทธลีลา ภายหลังภัตรเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เมื่อเสด็จจากพระนครสาวัตถีสู่พระวิหารประทับยืนที่บันไดสระโบกขรณีเชตวัน ตรัสเรียกพระอานนท์มาว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเอาผ้าอาบน้ำมาเราจะสรงน้ำในสระโบกขรณีเชตวัน พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีเชตวันแห้งขอด เหลือแต่เพียงเปือกตมเท่านั้นมิใช่หรือพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาว่ากำลังของพระพุทธเจ้าใหญ่หลวงนัก เธอจงนำเอาผ้าอาบน้ำมาเถิด พระเถระนำผ้ามาทูลถวาย พระศาสดาทรงนุ่งผ้าอาบน้ำด้วยชายข้างหนึ่ง อีกชายข้างหนึ่งทรงคลุมพระสรีระประทับยืนที่บันได ตั้งพระทัยว่า เราจักสรงน้ำในสระโบกขรณีเชตวัน” จากนั้นท้าวสักกะก็มีเทวบัญชาให้วลาหกเทพเจ้า เทพเจ้าแห่งฝนบันดาลให้เกิดฝนตกไปทั่วทิศ ท่วมแคว้นโกศลทั้งหมด สระโบกขรณีเชตวันก็เต็มด้วยน้ำจดถึงแคร่บันได”
ข้อนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของน้ำในแง่ของการบริโภคตามลักษณะของปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยของมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ


แหล่งน้ำนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ใน ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ

๑. ด้านปริมาณ ปัญหาด้านปริมาณน้ำมีผลกระทบทั้งเมื่อมีปริมาณน้อยและมาก คือหากขาดน้ำก็จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผลิตผลทางการเกษตร การอุตสาหกรรม การประมง ในทางตรงกันข้าม หากมีปริมาณมากเกินไปก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายแก่ผลิตผลทางการเกษตร การทำไร่ทำนา รวมไปถึงความสูญเสียที่เกิดกับสัตว์ป่า


๒. ด้านคุณภาพ บางแห่งมนุษย์เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหามลพิษในน้ำ อาทิ การที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยของเสียที่มีสารเคมีตกค้างลงแม่น้ำ ลำคลอง และทางน้ำสาธารณะ ทำให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงแก่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ และจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ที่ต้องอาศัยน้ำใช้ น้ำดื่ม ในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย

ปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันคือคุณภาพน้ำได้ถูกทำให้เสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลรักษาคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำ ธรรมชาติไว้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ กลับใช้แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นที่ระบายสิ่งสกปรกทั้งหลายอย่างไม่สนใจต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป

พระพุทธศาสนามีท่าทีต่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ถ้าใครทำให้น้ำเสีย คือทำลายคุณภาพของน้ำ ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง เพราะสรรพสัตว์ที่อาศัยน้ำนั้น หากขาดน้ำก็จะถึงจุดจบ ในขุททกนิกาย เปตวัตถุ ระบุไว้ว่า “หากบุคคลทำลายสระน้ำ บ่อน้ำ สวน ศาลาน้ำ หรือสะพาน ย่อมเกิดเป็นเปรต เปลือยกาย และน่าเกลียดน่าชัง ดุจเดียวกับเศรษฐีธนบาล”

แท้จริงแล้ว ผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษทางแหล่งน้ำ จะต้องมีภัยเกิดขึ้น ในฆตาสนชาดก ระบุไว้ว่า
“ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดนก บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ถึงความงามเป็นเลิศ ได้เป็นพระยานก อาศัยต้นไม้ใหญ่ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกิ่งก้านสาขา และค่าคบมีใบหนาแน่น อยู่ใกล้ฝั่งสระเกิดเองในแนวป่าตำบลหนึ่ง อยู่เป็นหลักฐานพร้อมทั้งบริวารนกเป็นจำนวนมาก เมื่ออยู่ที่กิ่ง อันยื่นไปเหนือน้ำของต้นไม้นั้น ก็พากันถ่ายคูถลงในน้ำ และในสระเกิดเองนั้นเล่า มีพญานาคผู้ดุร้ายอาศัยอยู่ พญานาคนั้นคิดว่า นกเหล่านี้พากันขี้ลงในสระอันเกิดเอง อันเป็นที่อยู่ของเรา เห็นจะต้องให้ไฟลุกขึ้นจากน้ำเผาต้นไม้เสียให้พวกมันหนีไป พญานาคนั้นมีใจโกรธ ตอนกลางคืน เวลาที่พวกนกทั้งหมดมานอนรวมกันที่กิ่งไม้จึงเริ่มทำให้น้ำเดือดพล่านเหมือนกับยกเอาสระขึ้นตั้งบนเตาไฟ ฉะนั้น เป็นชั้นแรก ชั้นที่สอง ก็ทำให้ควันพุ่งขึ้น ชั้นที่สาม ก็ทำให้เปลวไฟลุกขึ้นสูงชั่วลำตาล พระโพธิสัตว์เห็นไฟลุกขึ้นจากน้ำ จึงกล่าวว่า ชาวเราฝูงนกทั้งหลาย ธรรมดาไฟติดขึ้น เขาก็พากันเอาน้ำดับ แต่บัดนี้ น้ำนั่นเองกลับลุกเป็นไฟขึ้น พวกเราไม่อาจอยู่ที่นี้ได้ ต้องพากันไปที่อื่น ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็พาฝูงนกที่เชื่อฟังคำบินไปที่อื่น ฝูงนกที่ไม่เชื่อฟัง ต่างก็พากันเกาะอยู่ ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว”


ในเสขิยวัตร ปกิณณกะ (หมวดเบ็ดเตล็ด) พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
ปัจจุบัน คนส่วนมากจะขาดจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อน้ำ มีนิสัยมักง่ายชอบทิ้งขยะตามใจชอบ แม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมด้วย โดยไม่สนใจว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ดังนั้น จึงควรสร้างจิตสำนึกเอาใจใส่ต่อการรักษาน้ำให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำในแม่น้ำลำคลอง หรือบ่อน้ำก็ตาม แหล่งน้ำมีเพื่อให้สาธารณชนได้ใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค แต่ละคนจำเป็นต้องใช้น้ำด้วยความระมัดระวัง โดยมีจิตใจห่วงหาอาทรต่อสาธารณชน เพื่อว่าคนอื่นๆ ต่อจากเขาจะสามารถใช้น้ำโดยมีความสะอาดในระดับเดียวกันกับที่ตนเองใช้มาก่อน
ใน ประเด็นทรัพยากรน้ำนี้ ขอคัดข้อความในอัมพชาดก มาให้อ่าน เพื่อแสดงถึงภาพความเอื้ออาทรต่อกัน การพึ่งพาอาศัยกันของฤาษีกับสัตว์เดรัจฉาน ดังนี้
“ครั้งหนึ่งในป่า หิมพานต์ มีความแห้งแล้งอย่างร้ายแรง น้ำดื่มในที่นั้นก็เหือดแห้ง พวกสัตว์เดรัจฉานเมื่อไม่ได้น้ำดื่มก็พากันลำบาก มีพระดาบสองค์หนึ่งเห็นความทุกข์เกิดแต่ความกระวนกระวายของพวกสัตว์เดรัจฉาน เหล่านั้น จึงตัดต้นไม้ต้นหนึ่งทำราง โพงน้ำใส ให้เป็นน้ำดื่มแก่พวกสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น เมื่อพวกสัตว์เดรัจฉานจำนวนมากพากันมาดื่มน้ำ พระดาบสจึงไม่มีโอกาสที่จะไปหาผลาผล แม้ท่านจะอดอาหารก็คงให้น้ำดื่มอยู่นั่นเอง พวกสัตว์เดรัจฉานเข้าใจเหตุการณ์นั้นจึงตั้งกติกาว่า ผู้มาดื่มน้ำ ต้องคาบผลไม้มาตามสมควรแก่กำลังของตน ตั้งแต่นั้นมา สัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่งๆ ก็คาบผลไม้ มีมะม่วงและขนุน เป็นต้น จนมีปริมาณบรรทุกเต็ม ๒ เกวียนครึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น