เมื่อทรัพยากรธรรมชาตินานัปการถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ ‘ที่ดิน’ ที่เป็นฐานทรัพยากรตั้งต้นของทุกชีวิต ความหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมก็ถาโถมสู่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ขาดแคลนโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกิน ด้วยไม่เพียงที่ดินร้อยละ 90 จะกระจุกตัวอยู่ในมือคนแค่ร้อยละ 10 ในขณะที่อีก 4 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน โดยในจำนวนนี้ 1 ล้านคนไร้ที่ดินทำกินโดยสิ้นเชิง หากแต่การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินโดยรัฐก็ยังทำให้การกระจายการถือครองที่ดินไม่เป็นธรรมจนเป็นเหตุปัจจัยให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งขาดโอกาสครอบครองที่ดินต้องหักร้างถางพงเพื่อจะอยู่รอดกระทั่งขัดแย้งกับรัฐ
เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนส่วนหนึ่งนอกจากไม่สามารถซื้อที่ดินจากเอกชนทั่วไปที่รัฐจะออกเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานแสดงการครอบครองแล้ว ยังเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ที่รัฐกำหนดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐอนุญาตให้ใช้ประโยชน์โดยการเช่าทั้งที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ การอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เช่น โครงการออกหนังสืออนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราว (สทก.) และการเป็นสมาชิกโครงการจัดที่ดินของรัฐภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เพราะมาตรการส่วนหนึ่งไม่เอื้อประโยชน์คนจนให้มีที่ดินพักพิงและทำกิน
ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในการใช้ประโยชน์จากที่ดินนอกจากจะฉายชัดผ่านข้อพิพาทว่าด้วยการประกาศเขตที่ดินของรัฐทับที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่มาก่อน และประชาชนเข้าทำกินในที่ดินของรัฐหลังประกาศเขตสงวนหวงห้าม ดังกรณีมีผู้เข้าทำกินและอยู่อาศัย 0.48 ล้านรายในพื้นที่ 8.5 ล้านไร่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และการบุกรุกครอบครองที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ 2.1 และ 1.15 ล้านไร่ตามลำดับแล้ว ยังยึดโยงกับการฉ้อฉลทางนโยบายและการฉวยใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานด้วย เพราะ ‘รายชื่อ’ ผู้ถูกจับกุมฟ้องร้องศาล ตัดสินจำคุกคุมขัง และต้องจ่ายค่าปรับที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายล้วนแล้วแต่เป็นคนจนข้นแค้น และเกษตรกรรายย่อย ไม่ค่อยมีรีสอร์ตหรูหราหรือบ้านพักตากอากาศนักการเมืองนักธุรกิจแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ในข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการใช้ประโยชน์จากที่ดินจึงก่อตัวจาก ‘กระบวนการแปรทรัพยากรที่ดินเป็นสินค้า’ (commodification) ที่ความเป็นธรรมในการเข้าถึงและครอบครองขึ้นกับระดับปัจจัยจับจ่ายซื้อขายเป็นสำคัญ นอกเหนือไปจากแนวคิดอคติของรัฐเรื่องสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐที่ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ให้อำนาจรัฐบริหารจัดการจนขาดมิติการมีสิทธิ และส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน การประกาศเขตสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐที่มิได้ทำการสำรวจที่ดินในพื้นที่ที่ประชาชนทำกินและอยู่อาศัยมาเดิมจนเกิดการทับซ้อนกับชุมชนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม และการขาดระบบฐานข้อมูลที่ดินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสาธารณชนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐซึ่งมีแนวเขตทับซ้อนกันเอง และที่ดินของกลุ่มทุนธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สภาวการณ์ที่ที่ดินทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติล้วนแล้วแต่ถูกแปรเป็นสินค้าได้ด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีแต่คนปลายอ้อปลายแขมเท่านั้นที่สิ้นเนื้อประดาตัว สูญสิ้นอิสรภาพ หรือล้มตายไปในระหว่างดำเนินกระบวนการยุติธรรมถึงแม้จะบุกรุกเพื่อทำมาหาเลี้ยงครอบครัวคับแค้น ไม่ได้แผ้วถางป่าไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว ดังกรณีพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.ที่ดึงดูดกลุ่มทุนและการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ทว่าถึง ‘ผิดกฎหมายก็ (อาจ) แก้เป็นถูกกฎหมายได้’ ด้วยในที่สุดแล้วเสียง (voice) กลุ่มอิทธิพลนี้จะตะโกนก้องในนามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจนรัฐต้องปรับเปลี่ยนหลักการความถูกต้องตามไปแม้จะสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ
ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่สูญเสียดุลยภาพระหว่าง ‘รัฐ-ทุน-ประชาชน’ การคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชนกรณีที่ดินตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 จึงมุ่งเยียวยาทุกข์ร้อนจากนโยบายอยุติธรรมเป็นสำคัญ โดยคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้พักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ พร้อมกับระงับและทบทวนการคิดค่าเสียหายในกรณีคดีโลกร้อน ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้จำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม ในระยะเร่งด่วนสามารถใช้บุคคลหรือกองทุนยุติธรรมคํ้าประกัน โดยพิจารณาพฤติกรรมผู้ต้องหาแทนใช้หลักทรัพย์คํ้าประกัน รวมทั้งตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมจากชุมชนภายใน 90 วัน
สำหรับกรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ระงับการจับกุมผู้ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทที่มิใช่การแผ้วถางหรือบุกเบิกป่าใหม่ ไม่แค่นั้นยังต้องระงับการขยายพื้นที่ที่กำลังจะเป็นข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐหรือเอกชนจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาหรือมีข้อพิสูจน์เสร็จสิ้น และพื้นที่ที่กำลังดำเนินการโฉนดชุมชนด้วย
ที่สำคัญรัฐต้องออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้บุกรุกป่ากรณีไม่มีที่ดินทำกิน ควบคู่กับจัดตั้งศาลเฉพาะเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากร โดยใช้ระบบไต่สวนที่มีกระบวนการพิจารณาที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ทั้งยังต้องแก้ไขกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ ยกเลิกกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินไม่เป็นธรรมหรือเป็นอุปสรรคในการคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน ตลอดจนขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น รวมทั้งสำรวจพื้นที่ในส่วนที่อยู่อาศัยและทำกินตามข้อเท็จจริงที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้เพื่อความชัดเจนในการครอบครองในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันอย่างเหมาะสมตามข้อเท็จจริง
ดังนั้นนอกจากพลังนโยบายจะกำหนดมาตรการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม พลังสังคมยังต้องมาเข้าร่วมลดทอนกระบวนการแปรทรัพยากรที่ดินเป็นสินค้า (commodification) ที่นับวันจะถูกบุกรุกหรือไม่ก็ตั้งราคาสูงจนคนจนทั้งในเมืองและชนบทเข้าไม่ถึงด้วย เพราะเมื่อที่ดินแปรเป็นสินค้าตามกลไกตลาดเสรีได้ ความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดินก็จะถูกวัดจากปัจจัยด้านเงินตราที่กลุ่มกุมอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้นที่สามารถจ่ายเพื่อทำให้ผิดกลายเป็นถูกกฎหมายหรือทำให้รัฐตาบอดไม่เห็นความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่จะตามมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น