++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สิทธิฟ้องคดีที่ไม่มีกฎหมายกำหนด !!!!! โดย คมสัน โพธิ์คง

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่ง ที่ ๖๒๑๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ยกคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง ได้ร้องคัดค้านการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้ศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยมีเหตุผลว่า “ ..ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๑ กำหนดหลักเกณฑ์ว่า เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือผู้สมัครผู้ใดกระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อที่จะให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำทั้งนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ส่วนที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยเหตุที่อ้างมาในคำร้องนั้นไม่เข้าด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้...”

คำสั่งของศาลฎีกาดัวกล่าวก่อให้เกิดประเด็นในทางวิชาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักการในการยื่นฟ้องคดีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดรับรองสิทธิประชาชนให้ฟ้องคดีได้เกิดขึ้น ซึ่งหลักการเหล่านี้ ในวงการกฎหมายต้องพิจารณาว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เท่ากับเป็นการไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ผมมีความเห็นโดยเคารพต่อการวินิจฉัยในข้อกฎหมายของศาลฎีกาที่ได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่า โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การมีคำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องหรือเป็นไปตามหลักการหรือวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า

1. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย นับตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐- ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับประเภทของศาลในองค์กรตุลาการไว้ให้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ศาลที่มีเขตอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะคดีบางประเภท กับศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีต่างๆ โดย ถือว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีลักษณะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีต่างๆ ส่วนศาลอื่น อาทิ ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะคดีบางประเภท ทั้งนี้ โดยมีหลักการทางกฎหมายที่สำคัญว่าบรรดาอรรถคดีทั้งหลายต้องได้รับการวินิจฉัย ชี้ขาดโดยศาล จะไม่มีคดีใดที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้วไม่มีการตัดสินโดยองค์กรตุลาการ ดังนั้นเท่ากับเป็นการวางหลักการในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยไม่มีการปฏิเสธการอำนวยความยุติธรรมเพียงการกล่าวอ้างว่าไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งหลักการนี้ได้บัญญัติในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในทุกประเภทของคดีที่ไม่ได้อยู่เขตอำนาจของศาลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้

2. ตามมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้วางหลักการเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างไปจากการหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยกำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของบุคคลเป็นอำนาจของศาลฎีกา อันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่า การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในทางการเมืองควรถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรศาลแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญว่าจะได้รับการวินิจฉัยโดยองค์กรที่ทำหน้าที่ตุลาการซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้นในเมื่อบทบัญญัติมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม จึงได้กำหนดให้ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดี ซึ่งต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว

3. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓๙ และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๑ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่ได้มีการบัญญัติในเรื่องที่มีผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรมที่เกิดจากการกระทำหรือการบริหารจัดการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอาไว้ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ การแปลความในบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า เมื่อผู้ได้รับความเสียหายจากการการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญจะถูกต้องห้ามมิให้มีการเสนอเรื่องต่อศาลให้พิจารณาวินิจฉัยคดีอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดการจำกัดสิทธิการยื่นคำร้องต่อศาลเอาไว้ เท่ากับสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดการใช้สิทธิโดยกฎหมาย แต่ต้องแปลความตามบทบัญญัติมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้การจำกัดสิทธิของบุคคล ต้องกระทำโดยบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏบทบัญญัติใดที่จำกัดสิทธิหรือห้ามมิให้มีการใช้สิทธิเสนอคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อศาลฎีกาแล้วหมายความว่าย่อต้องเสนอเรื่องต่อศาลได้และศาลจะปฏิเสธไม่อำนวยความยุติธรรมก้ไม่ได้ เพราะจะเป็นขัดหรือแย้งและไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม “หลักนิติธรรม” ในระบบสากล ตามที่บัญญัติในมาตรา ๓ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และ หากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพนั้นได้กระทำถูกกระทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ย่อมสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๘ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๔๐(๑)และ(๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. การที่จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๓๙ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักร ไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าก้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการกระทำที่เกิดจากความผิดพลาดในการจัดการหรือบริหารการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพความเป็นจริง เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียเอง และหากคณะกรรมการการเลือกตั้งยอมรับว่าการเลือกตั้งดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของประชาชนกว่า สองล้านคนโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจและส่งเรื่องต่อศาลฎีกา ย่อมส่งผลต่อความรับผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของตนเสมือนเป็นการสารภาพในการกระทำความอาญา อันส่งผลให้ต้องรับผิดในความผิดตามที่กำหนดในมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังนั้น เมื่อประชาชนไม่สามารถแสวงหาความยุติธรรมได้โดยกระบวนการเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ประชาชนจึงต้องแสวงหาความยุติธรรมโดยการใช้สิทธิเสนอเรื่องต่อศาลฎีกา โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา ๒๘ วรรคสองและวรรคสาม ประกอบกับมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้โดยตรง

5. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม มิได้บัญญัติห้ามมิให้ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามสิทธิตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือกฎหมายอื่นใด แต่กำหนดให้ศาลฎีกาต่างหากที่ต้องพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยอาศัยวิธีพิจารณาที่กำหนดโดยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เมื่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ได้กำหนดถึงบุคคลซึ่งเป็น “ผู้ร้อง” การเลือกตั้ง ว่าเป็นบุคคลใด แต่ระบุในนิยาม ข้อ ๓ ของระเบียบดังกล่าวว่า “ผู้ร้อง” หมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย และไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้นเป็น “ผู้ร้อง” ต่อศาลฎีกา จึงเท่ากับวิธีพิจารณาของศาลฎีกา กำหนดหลักการอย่างกว้างสำหรับการเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาไว้ จึงไม่อาจวินิจฉัยและแปลความได้ดังที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะการวินิจฉัยดังกล่าวจะส่งผลให้ไม่มีบุคคลใดสามารถร้องต่อศาลฎีกาได้เลย อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ผู้ได้รับความผู้ได้รับความเสียหายจากการทุจริตการเลือกตั้งหรือจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาได้ โดยอาศัยระเบียบดังกล่าว ซึ่งการใช้สิทธิในลักษณะนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับการที่บุคคลมีความจำเป็นต้องใข้สิทธิทางศาลตามบทบัญญัติมาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำสั่งของศาลฎีกาที่ ๖๒๑๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ยกคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง ได้ร้องคัดค้านการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้ศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผมไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเท่ากับเป็นการวินิจฉัยที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและไม่ปฏิเสธการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำขององค์กรอิสระของรัฐที่ไม่ยึดหลักนิติธรรมตามมาตรา ๓ และหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามมาตรา ๒๖- มาตรา ๒๙ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น