++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พูดสิ่งที่ทำไม่ได้ : ทุกข์ที่ผู้พูดได้รับภายหลัง โดย สามารถ มังสัง

“ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนภายหลัง ผู้นั้นย่อมถูกกำจัดจากฐานะอันเป็นสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง พึงพูดสิ่งที่ทำได้ ไม่พึงพูดสิ่งที่ทำไม่ได้ บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด” นี่คือภาษิตของพระหาริตเถระ ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎก เล่มที่ 26 ขุททกนิกาย เถรคาถา

โดยนัยแห่งเถรคาถานี้มีความหมายค่อนข้างชัดเจนว่า ใครก็ตามที่นำสิ่งที่ควรทำก่อนมาทำทีหลัง จะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง

ในที่นี้คงจะหมายถึงว่า การพูดกับการทำตามสิ่งที่พูด ถ้าพูดไปก่อนแล้วภายหลังทำตามที่พูดไม่ได้ จะด้วยว่าเมื่อนำมาคิดโดยรอบคอบแล้วมีปัจจัยบางประการทำให้กระทำตามที่พูดไม่ได้ หรือทำได้ไม่ครบถ้วน ผู้พูดจะต้องได้รับผลกระทบจากการพูดนั้นแน่นอน จะมาอ้างเหตุใดๆ เพื่อปฏิเสธความไม่ต้องรับผิดชอบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พูดเป็นบุคคลสาธารณะ และสถานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับ ยากที่จะปฏิเสธได้

ส่วนประเด็นที่ว่า บัณฑิตหรือคนที่มีสติปัญญาย่อมรู้ผู้ไม่ทำนั้น หมายถึงว่า ในกรณีที่คนฟังเป็นคนฉลาด ก็จะรู้ทันทีว่าสิ่งที่ผู้พูดพูดนั้น ผู้พูดทำได้หรือไม่หรือดีแต่พูด แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้ฟังเป็นคนไม่ฉลาด ย่อมไม่รู้ว่าผู้พูดจะทำตามสิ่งที่พูดได้หรือไม่ และผู้ฟังประเภทนี้เองจะตกเป็นเหยื่อของคนที่พูดแล้วไม่ทำตามสิ่งที่พูดหรือทำแล้วแต่ทำไม่ได้

ตัวอย่างที่ดีที่สุดเกี่ยวกับภาษิตบทนี้ในขณะนี้ก็คือ นักการเมืองที่พูดปราศรัยหาเสียงในช่วงเลือกตั้งที่มุ่งให้ได้รับชัยชนะทางการเมือง ด้วยการงัดเอานโยบายประชานิยมประเภทขายฝัน หรือที่เรียกกันว่า ประชานิยมในรูปแบบของการลด แลก แจก แถม หรือแม้กระทั่งเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้เป็นตัวเงินเท่าโน้นเท่านี้แก่คนกลุ่มนั้น คนกลุ่มนี้ ถ้าหากได้รับเลือกเข้ามาและมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และในการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับชัยชนะ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็มีแค่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

ถึงแม้ว่าทั้ง 2 พรรคที่ว่านี้ได้ประกาศนโยบายประชานิยมเป็นจุดขายทางการเมืองในทำนองเดียวกัน จะแตกต่างกันก็เพียงประเภทของประชานิยม และจำนวนหรือปริมาณของสิ่งที่จะให้มากน้อยไม่เท่ากันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าฟังดูเพียงผิวเผินโดยไม่ลงลึกถึงเงื่อนของความพร้อม และศักยภาพทางด้านการเงินของประเทศแล้ว ประชานิยมของพรรคเพื่อไทยเป็นจุดขายที่ดลใจประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับล่างของสังคม อันได้แก่ เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ด้วยความหวังว่าจะได้จากการให้ของภาครัฐมากกว่าที่จะคิด และลงมือทำด้วยตนเอง จึงมีผลทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเหนือคู่แข่งทางการเมือง คือพรรคประชาธิปัตย์ แบบขาดลอยได้คะแนนเกินครึ่ง

จากคะแนนที่ได้รับนี้แสดงให้เห็นว่าประชานิยมในรูปแบบของพรรคเพื่อไทยดึงดูดความสนใจของประชาชนได้มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังมีเทคนิคและวิธีการในการต่อสู้ทางการเมืองแบบไทยๆ เช่น การจัดตั้ง และการใช้ปัจจัยทางด้านการเงิน เป็นต้น เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ และภาคอีสาน

แต่ชัยชนะที่ได้มาด้วยการให้ความหวังดังกล่าวแล้วข้างต้นเปรียบได้กับดาบสองคม คือ ด้านหนึ่งใช้เป็นอาวุธฟาดฟันศัตรูได้ชัยชนะอย่างราบคาบ แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นอาวุธทำร้ายตนเองถ้าหากพลั้งเผลอไปจับที่คม กล่าวคือ ในขณะที่ทำทุกคนในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำพรรค และผู้สนับสนุนพรรคหรือนายทุนของพรรคดีใจ และกระหยิ่มใจในชัยชนะ

แต่อีกด้านหนึ่งคือความกังวลต่อการที่จะนำนโยบายมาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างทั่วถึงและทันทีเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะถ้าทำไม่ได้หรือได้แต่ไม่ครอบคลุมเงื่อนไขทุกประการที่พูดไว้จะด้วยเหตุใดก็ตาม นั่นหมายถึงว่าผู้ที่ลงคะแนนเลือกพรรคนี้จะต้องออกมาเรียกร้องทวงถามสัญญา และมีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นแน่นอนไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้ และที่แน่ๆ น่าจะอยู่ในช่วง 7 ธันวาคม 2554-31 ตุลาคม 2555 (ตามนัยแห่งโหราศาสตร์) และที่คาดการณ์เช่นนี้เพราะเพียงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ยังไม่ทันจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อสภาฯ ได้มีผู้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง อันได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งแรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

และในขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการเริ่มออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ทั้งมีการคาดการณ์ว่าถ้ารัฐบาลขึ้นค่าแรงตามที่ประกาศไว้ จะต้องมีผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีปิดตัวลงประมาณ 16% จากจำนวนที่มีอยู่ประมาณ 3,000,000 (สามล้าน) ราย ถ้าการคาดการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจริง ผู้ใช้แรงงานก็จะตกงาน และคงจะเดือดร้อนยิ่งกว่าไม่ได้เพิ่มค่าแรงแน่นอน

อีกประการหนึ่ง ถ้ามีการประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็จะมีแรงงานเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมานานัปการ และยากต่อการควบคุมด้วย

นอกจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว ประชานิยมประเด็นอื่นที่น่าจะทำตามได้ยาก และมีแนวโน้มว่าจะก่อความเดือดร้อนโดยรวมให้แก่ประเทศ ได้แก่ การยกเลิกกองทุนน้ำมัน และรับจำนำข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 บาท เป็นต้น ซึ่งได้เขียนถึงไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็อยู่ในข่ายที่พูดได้ ทำไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ครอบคลุมทุกแง่มุม

ถ้ารัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายในการบริหารประเทศต่อสภาฯ แล้ว และทำไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้นแก่รัฐบาล และจะจบลงโดยการใช้เวลานานเท่าใด?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ามองดูในแง่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงข้างมาก ก็บอกได้ว่าไม่มีปัญหาเพราะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะต่อสู้กับฝ่ายค้านที่มีไม่ถึง 200 เสียงได้

แต่ถ้ามองในแง่ของความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางสังคมก็น่าห่วง เพราะจะต้องไม่ลืมว่า ถ้าจะต้องทำตามนโยบายที่ว่านี้รัฐบาลจะใช้เงินจำนวนมหาศาล กล่าวกันว่าอาจถึงสามล้านล้านบาท และนั่นหมายถึงว่ารัฐบาลจะต้องก่อหนี้ทั้งในประเทศในรูปของการออกพันธบัตร และต่างประเทศในรูปของเงินกู้ เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าจะต้องกระทบเสถียรภาพทางด้านการเงินการคลังของประเทศ และจะมีผลโดยตรงต่อภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของจะแพงขึ้น และเมื่อข้าวของแพงประชาชนจะเดือดร้อน และก่อให้เกิดปัญหาสังคมและการเมืองตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนประเด็นที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และรัฐบาลจะจบลงอย่างไร คงต้องพึ่งโหราศาสตร์มาคาดเดา โดยดูจากดวงเมืองที่มีดาวเสาร์ยกเข้าเล็งลัคนาดวงเมืองในช่วงปลายปี และมีการโคจรผิดปกติในช่วงธันวาคม 2554-ตุลาคม 2555 จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย และอาจถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ยุบสภา ลาออก และถูกโค่นล้มได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น