++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

“Solar Farm ม.อุบลฯ” ไร่แห่งความรู้ คู่แดนอีสาน

ข่าวโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเสียหายจากภัยพิบัติ คงทำให้หลายคนได้ตระหนักว่า พลังงานสะอาดจากธรรมชาตินั้น เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าหลายเท่า แต่ปัญหา คือ แหล่งเรียนรู้พลังงานทางเลือกที่เปิดโอกาสแบบไม่มีข้อจำกัดให้แก่นักศึกษายังขาดแคลน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงร่วมกับภาคเอกชน เปิดตัวโครงการ “ไร่พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm)” มุ่งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกแก่เยาวชน และเป็นต้นแบบแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคตต่อไป


นายสมชาย เหล่าสายเชื้อ (ซ้าย) เดินชมไร่พลังงานแสงอาทิตย์

โครงการไร่พลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนเมษายนนี้ โดยนายสมชาย เหล่าสายเชื้อ กรรมการสนับสนุนกิจการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่าไร่พลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งบนพื้นที่กว่า 15 ไร่ ที่อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยกำลังการผลิตขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านกระบวนการ Photovoltaic (PV) หรือการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นประจุไฟฟ้าผ่านสารกึ่งตัวนำด้วยแสงอาทิตย์ (Solar Cells) จำนวน 5,000 แผง โดยจะเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในเดือนเมษายน โดยไร่แสงอาทิตย์แห่งนี้จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี



“หากในอนาคต ประเทศไทยมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ดังนั้นไร่พลังงานแสงอาทิตย์ ย่อมเป็นทางออก ว่าเราเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์ เป็นทางออกให้สังคม ว่าถ้าไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ เราก็ควรใช้พลังงานจากธรรมชาติ ซึ่งมีมากที่สุดนั่นคือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้ได้มากมายทั้งแปรรูปอาหาร เพิ่มความร้อน แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าและเป็นโจทย์ที่ศูนย์แห่งนี้ตอบได้ เพราะเราใช้แสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานบริสุทธิ์ เป็นการเสนอทางออกให้ชุมชน จังหวัดว่า ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์”

อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของโครงการเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งการศึกษา แก่นิสิตนักศึกษา ผู้สนใจทั่วไป ทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาทำการวิจัยข้อมูลได้ โดยไม่ต้องไปบินดูงานถึงต่างประเทศ

“นอกจากนี้ ด้านจุดเด่นของสภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี ก็นับว่าได้เปรียบเพราะภาคอีสานมีปริมาณแสงอาทิตย์เข้มข้น พระอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทำเลที่ตั้งจึงได้เปรียบ เส้นทางการเดินทางไปสู่ไร่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่ไกลจากชุมชน หรือสถานศึกษา ทำให้สามารถเดินทางไปดูงานได้สะดวก” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย



ด้าน ผศ.ดร.จันทร์เพ็ญ อินทรประเสริฐ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงโครงการครั้งนี้ ว่าเป็นความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมือในการทำงานโครงการ

“ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ พยายามผลิตโซลาร์เซลล์จากสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารที่เราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง โดยมีกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ของสมาคมวิทยาศาสตร์ และใช้สารที่เป็นสารอินทรีย์ทั้งหมด จากที่ส่วนใหญ่ใช้สารอนินทรีย์ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเราผลิตโซลาร์เซลล์ดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง และสามารถเก็บพลังงานงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น”



ผศ.ดร.จันทร์เพ็ญ ยังกล่าวถึงการต่อยอดจากโครงการ ว่าเมื่อนักศึกษาในระดับปริญญาโท - เอก สังเคราะห์สารได้ แล้ว ก็นำมาเป็นประโยชน์ได้ เพราะปัจจุบันเราเรียนรู้จากห้องปฏิบัติการ และทำจากในระดับโมเดล เมื่อมีไร่พลังงานแสงอาทิตย์ของจริงให้ศึกษา นักศึกษาย่อมมีโอกาสอันดีที่จะออกไปสู่ภาคสนาม



ส่วน ผศ.ดร.อำไพศักดิ์ ทีบุญมา อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงความร่วมมือในโครงการว่า มีความร่วมมือเบื้องต้นในกรอบว่า ไร่พลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้ประโยชน์อะไรในวงวิชาการให้มากที่สุด จึงวางกรอบว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ควรมีอะไร และมีข้อจำกัดการเยี่ยมชมหรือไม่

“เรานำเสนอไปยังคณะทำงานว่า ให้สร้างทีวีวงจรปิดด้วย เพื่อให้เป็นการศึกษาแบบเรียลไทม์จากโรงไฟฟ้าจริงๆ ซึ่งจะมีห้องเรียนที่ ม.อุบลฯ สามารถศึกษาจากในมหาวิทยาลัยได้ด้วย และแม้ว่า โซลาร์ ฟาร์ม เทคโนโลยีไม่ได้เป็นของใหม่ แต่การเข้าถึงของจริง หรือการขอเข้าชมดูงานนั้น มีขั้นตอน และพิธีการมาก หรือการเข้าไปแล้วก็ยังขาดคนที่จะมาถ่ายทอดข้อมูล ไร่พลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ จึงทำให้นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล”



ผศ.ดร.อำไพศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยิ่งไปกว่านั้น นักศึกษายังสามารถเข้าไปวิเคราะห์ หาข้อมูลเพื่อการศึกษา ได้อย่างเต็มที่ หลายที่อาจจะประสบความสำเร็จในการทำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การเข้าถึงข้อมูลได้อย่างแท้จริงยังมีวงจำกัด ซึ่งตรงนี้เป็นข้อได้เปรียบของนักศึกษา ที่จะได้ลงพื้นที่ต่อเนื่อง และต่อยอดจากห้องแลป โดยรูปแบบของศูนย์นี้ จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของจริง เพราะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง และตอบทุกคำถามที่ให้คำตอบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น