วันนี้ (1 เม.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที "รวมพลังปกป้องแผ่นดิน" ว่า วันนี้กระแสโหวตโนแรงมาก พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง พวกนักการเมือง สาวกนายอภิสิทธิ์ สาวกประชาธิปัตย์ ก็ออกมาดิ้นพล่าน
นายประพันธ์ กล่าวว่า มีคนตอบโต้ว่าโหวตโนจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เป็นประชาธิปไตยบอกได้เลย ไม่ขัดกฎหมายพรบ.การเลือกตั้ง แต่อย่างใด และการเลือกตั้งทุกครั้งมีคนโหวตกาในช่องไม่ลงคะแนนไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดที่คนกาช่องไม่ลงคะแนนมากสุดคือภูเก็ต มากถึง 9.9 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหุบปากได้แล้ว ส่วนจะผิดพรบ.การเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ผิดเพราะบัตรเลือกตั้งมีช่องให้กาไม่ลงคะแนนเสียง การรณรงค์โหวตโนก็ไม่ผิด เพราะประชาธิปัตย์ก็เคยทำมาแล้วเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นการทำตามระบอบประชาธิปไตย ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญและพรบ.พรรคการเมือง
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า มีคนบอกว่าพันธมิตรฯรณรงค์โหวตโนเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ทำตามคำสั่งแกนนำนายสนธิ และพล.ต.จำลอง พอสั่งปุ๊บก็ออกความเห็นเลย ไม่ฟังความเห็นพรรคการเมืองใหม่ อันนี้ไม่จริง ยุทธวิธีการโหวตโน เป็นอาวุธอันทรงพลานุภาพ เป็นความคิดจากสติปัญญาแกนนำ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ และมันคิดออกจากสถานการณ์ เพราะระหว่างชุมนุมอยู่อภิสิทธิ์รีบจะยุบสภาต้นพฤษภาคม ทุกคนก็รู้แล้วว่านายอภิสิทธิ์จะใช้เกมยุบสภาลดกระแสการต่อสู้ของพี่น้อง ประชาชน เพื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง บีบให้พันธมิตรฯเลิกชุมนุม ไม่สนใจข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เพื่อเอาชนะทางการเมืองกับพันธมิตรฯ แต่ว่าคนคิดชั่ว ท้ายที่สุดเทวดาฟ้าดิน พระสยามเทวาธิราชก็ดลบันดาลให้แกนนำ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร ด้วยการให้เกิดความคิดนี้
มาดูบทความมติชนสุดสัปดาห์ เขียนไว้ว่าบอยคอตเลือกตั้ง ประกาศิตสนธิ การเมืองใหม่สะดุด ไม่ใช่ประกาศิตสนธิ แต่เป็นประกาศิตคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรที่แกนนำทั้ง 4 เห็นด้วย เนื่องจากนายสมศักดิ์ ขอนำไปหารือก่อนในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อทำให้เป็นไปตามแนวทางของพรรคการเมือง มิได้เป็นประกาศิตจากนายสนธิคนเดียว ไม่ได้ทำตามอารมณ์ แต่เป็นผลิตผลปัญญาที่มาจากการต่อสู้
หากถามว่าพันธมิตรฯไม่เลือกตั้งแล้วตั้งพรรคทำไม เราตั้งมาเพื่อให้การเมืองใหม่ปฏิบัติตามเจตจำนงค์พี่น้องพันธมิตรฯที่สู้ กันมา 193 วัน ตอนที่มีฉันทามติตั้งพรรคนั้น มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แล้ว ทำงานมา 5 เดือน เราก็เห็นว่านายอภิสิทธิ์มันไปไม่รอด ไม่จริงใจกับประชาชน จึงต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนพันธมิตรฯขึ้นมา และพรรคการเมืองใหม่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพันธมิตรฯต้องเดินไปด้วย กัน
เมื่อการเมืองใหม่มีขึ้น กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 กำหนดว่า พรรคการเมืองจะสิ้นสภาพต่อเมื่อไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเฉพาะที่เป็น การเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง เช่น ถ้ายุบสภาครั้งนี้ มีการเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศแบบนี้ 2 ครั้ง และพรรคการเมืองใหม่ไม่ยอมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พรบ.เขียนไว้ว่าให้พรรคสิ้นสภาพไป ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 1 ยังสามารถไม่ส่งได้อีก 1 ครั้ง แต่ถ้ากลัวว่าครั้งที่ 2 จะไม่พร้อมอีก ก็ส่งได้ ส่ง 1คน เพื่อรักษาพรรคไว้ ไม่เห็นยากเลย
นายประพันธ์ กล่าวว่า หรือบางคนบอกว่าทำไมไม่เปลี่ยนจากโหวตโน มาเป็นการเลือกคนดี เข้าไปในสภา การเอาน้ำดี 1 จอก เทลงในน้ำเน่าทั้งสภา มันทำอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้ก็มีน.ส.รสนา นายคำนูณ อยู่แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ สู้แบบนี้อีกร้อยปีก็ไม่มีวันชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน
ขณะนี้การเลือกตั้งถ้าตรวจนับจริงๆแบบไม่โกง คนใช้สิทธิ์อย่างไรก็ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือต่อให้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ก็แสดงว่ามีคนไม่ใช้สิทธิ์ 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่เอาด้วยกับการเลือกตั้ง มีแน่ ๆ แล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ อีกส่วนคนที่มาใช้สิทธิ์ งดออกเสียง ทำบัตรเสีย กาไม่ลงให้ใคร ก็มีถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ขนาดนี่ยังไม่รณรงค์โหวตโนยังมีคนงดออกเสียง รวมบัตรเสียแล้ว 10-20 เปอร์เซ็นต์ แล้วหากรวมกันทั้งไม่ใช้สิทธิ์ บัตรเสีย โหวตโน อาจมากกว่าช่องที่ลงคะแนนให้นักการเมืองซะอีก ที่บอกว่าหากมีคนโหวตโนน้อยกระแสจะตีกลับ ไม่มีทาง อย่างน้อย ๆ ก็มีเพื่อนที่แน่ ๆ อยู่แล้ว
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า มติชนเขียนว่าพันธมิตรฯบีบพรรคการเมืองใหม่ ทำให้การเมืองใหม่สะดุด ความจริงแล้วเรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร รับทราบหมด โดยได้ประชุมร่วมกับแกนนำทั้ง 5 คน ทุกคนมีความเห็นจะเดินยุทธวิธีนี้ เห็นชอบร่วมกันหมด เหลือนายสมศักดิ์ ขอเวลาไปหารือพรรคก่อนเท่านั้นเอง เกมนี้ไม่ได้บีบการเมืองใหม่ ไม่ได้ทำให้สะดุด แต่จะทำให้การเมืองใหม่เข้มแข็งขึ้นอีกถ้าเดินตามแนวทางนี้ การไม่ส่งลงเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงจะส่งลงไม่ได้อีกตลอดชีวิต การหยุดและมาร่วมรณรงค์กับประชาชน เพื่อก้าวเดินจังหวะที่สอง จะเป็นการก้าวเดินที่ทรงพลัง ในเมื่อพลังของพรรคการเมืองใหม่อยู่ที่นี่ หากปราศจากประชาชนจะมีกำลังได้อย่างไร การเดินกับประชาชนมีแต่จะให้พรรคเข้มแข็ง ทรงพลานุภาพ
มติชนเขียนเหมือนกับว่าแกนนำประกาศโดยไม่ปรึกษาหารือ จริง ๆ แล้วประชุมกันเรียบร้อยแล้ว เป็นการเขียนบทความคลาดเคลื่อน ที่บอกว่าหากโหวตโนถือเป็นการยื่นคำขาดให้การเมืองใหม่ หากไม่ทำตามก็พร้อมตัดขาด
"ไม่ใช่ ต่อให้การเมืองใหม่ส่งลงเลือกตั้ง พันธมิตรฯก็ไม่ตัดขาด แต่โหวตโนเท่านั้น แต่ถ้าหันมาร่วมกับประชาชน ก็เคียงข้างกันไป แล้วถ้าเลือกจะส่งลง ก็ปล่อยให้รับบทเรียนหัวชนกำแพงเอาเอง" นายประพันธ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น