++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

“เครื่องสลัดน้ำดาวเรือง” ผลงานเด่นจากเด็กช่างรักดี

ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตาก ไอเดียสร้างสรรค์คิดค้นเครื่องสลัดน้ำดาวเรือง ช่วยแก้ปัญหาการเหี่ยวเฉา และเน่าเสียของดอกดาวเรืองก่อนส่งขาย ก่อนคว้าแชมป์ PTT YOUTH CAMP 2010

นายสุทธิชัย มากมูล อดีตนักศึกษาสาขางานยานยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างตาก ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ปวส.1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก หนึ่งในสมาชิกโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรือง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 (PTT YOUTH CAMP 2010) กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วตนส่งโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองเข้าประกวดในนามวิทยาลัยสารพัดช่างตาก โดยมีโจทย์คือจังหวัดตากมีการปลูกดอกดาวเรืองเป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเหี่ยวเฉาและเน่าเสียของดอกดาวเรืองก่อนส่งถึงแหล่งรับซื้อ เนื่องจากมีความชื้นมากเกินไป ทำให้ผลผลิตเน่าเสีย จึงคิดค้นวิธีสลัดน้ำดาวเรืองขึ้น



“การทำงานของเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองจะคล้ายคลึงกับการทำงานของเครื่องซักผ้า ซึ่งในการคิดประดิษฐ์ครั้งแรกใช้มือหมุน เพื่อทดสอบขนาดความเร็วของการสลัดน้ำ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์เป็นต้นกำลังขับ ซึ่งมีขนาดความเร็ว 1,450 รอบต่อนาที ใช้อัตราทดของพูลเลย์ จนเหลือความเร็วรอบประมาณ 365 รอบต่อนาที ได้ความจุของปริมาณดอกดาวเรืองอยู่ที่ 8-10 กิโลกรัม ตัวเครื่องจะหมุนให้น้ำที่เกาะดอกดาวเรืองกระเด็นออก โดยที่ดอกดาวเรืองยังคงความสวยงามและไม่เกิดความเสียหาย ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรและช่วยลดเวลาการทำงานให้กับเกษตรกรด้วย”



นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า ทีมมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ช่วงโครงการนี้เข้ามาตนและเพื่อนๆ กำลังอยู่ในช่วงฝึกงานพอดี จึงรวมกลุ่มทำโครงงานนี้ โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนคือ 17.00 - 20.00 น.ของทุกวัน หรือบางครั้งก็เลยไปถึงตี 2 ก็มี โดยทุกคนจะช่วยกันทำงานตามความถนัด หากพบปัญหาอุปสรรคเพื่อนร่วมทีมก็จะมาช่วยคิดแก้ไข ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือน้ำไม่กระเด็นออกจากดอกไม้ เนื่องจากตะกร้ามีขนาดเล็กเกินไป พวกเราเลยปรับเปลี่ยนขนาดของตะกร้าใหม่ให้ใหญ่ขึ้น

"ตอนประกาศผลว่าเป็นทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ ผมรู้สึกดีใจและปลื้มใจมาก ไม่เคยคิดว่าทีมของพวกเราจะมาถึงจุดนี้ได้ ตอนที่สร้างผลงานพวกเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เพราะเห็นผลงานของเพื่อนๆ แล้วทุกทีมดีหมด ไม่น่าเชื่อว่าผลงานของพวกเราจะผ่านมาเข้ามาได้ จำได้ว่าตอนนั้นพวกเราไม่ค่อยกล้าแสดงออกกันมากนัก โดยเฉพาะการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการเป็นสิ่งที่พวกเรากลัวมาก พวกเราต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมการพูดในชุมชนหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ยิ่งใกล้วันนำเสนอผลงาน พวกเรายิ่งไม่ได้พักกันเลย ต้องซ้อมการพูดกันตลอดเวลา ทั้งตอนเข้าห้องน้ำ ก่อนนอน หรือก่อนออกจากห้องเรียน ถือว่าเตรียมตัวหนักที่สุดเท่าที่เคยทำโครงการมา แต่เมื่อผ่านมาถึงวันนี้ได้ พวกเราภูมิใจมาก จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ น้องๆ ที่สนใจเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน ให้ส่งผลงานเข้ามาประกวดกัน เพราะนอกจากเราจะได้ผลงานแล้ว เรายังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นจากผู้อื่น มีเหตุมีผล และยังได้รู้จักเพื่อนจากต่างโรงเรียนอื่นด้วย"



ด้านอาจารย์เสกข์ เจ๊กพ่วง อาจารย์ประจำสาขางานยานยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างตาก จังหวัดตาก ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองกล่าวว่า วิทยาลัยมีนักศึกษาที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หลายคน โดยเฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เคยออกหน่วยบริการช่วยชาวบ้านหลายครั้ง พวกเขาได้พบเจอปัญหาจากชาวบ้านมากมาย และทุกครั้งก็จะนำกลับมาคิดหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านและเกษตรกรโครงการเครื่องสลัดน้ำดาวเรืองจึงเกิดขึ้น

จุดเด่นของนักศึกษากลุ่มนี้คือมีความรับผิดชอบ มีจินตนาการ เมื่อมีโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 เข้ามาพอดี และตรงกับช่วงที่พวกเขาฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรการเรียน จึงเสนอแนะให้พวกเขาทำโครงการเข้าประกวด โดยผมทำหน้าที่ที่ปรึกษาโครงการคอยให้คำแนะนำและสรุปความคิดให้กับพวกเขา



"ผมไม่ได้คาดหวังว่าผลงานของพวกเขาจะมาถึงขั้นนี้ หวังแค่ให้พวกเขาได้แสดงความสามารถของพวกเขาอย่างเต็มที่ ให้พวกเขากล้าคิด กล้าแสดงออกเท่านั้น แต่เมื่อผลออกมาว่าโครงงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รู้สึกดีใจมาก ภูมิใจที่เห็นเด็กที่เราฝึกฝนมามีสามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ สร้างชื่อเสียงให้วิทยาลัยสารพัดช่างตากและจังหวัดตากของเรา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตคนเป็นครู ผมพยายามที่จะสร้างให้เด็กๆ รู้คุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของงานช่าง ใช้วิชาช่างช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อมีผลงานที่ได้รับรางวัลก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้"

อาจารย์เสกข์ กล่าวต่อว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาตนยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เสมอ ไม่อยากให้ทุกคนยึดติดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อยากให้มองย้อนกลับไปข้างหลังว่า ชาวบ้านและเกษตรกรยังขาดแคลนและยังต้องการอะไรบ้าง ทำไมเราไม่นำเทคโนโลยีหรือทักษะความเป็นช่างของครูและนักศึกษาที่มีอยู่มาสร้างผลงานเพื่อช่วยเหลือพวกเขา

อนึ่ง เยาวชนที่สนใจโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 ( PTT YOUTH CAMP 2011)สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 29 เมษายน 2554 สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร.02-2701350-4 ต่อ 104, 089-7868699

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น