รายงานโดย...ศิริรัตน์ สวัสดิ์หว่าง
จากกรณีกลุ่มเยาวชน 6 คน อันประกอบด้วย 4 นักศึกษาจากเมืองกรุง พร้อมด้วย 2 นักเรียนหญิง ที่คนหนึ่งอายุเพียงอายุ 9 ปี ติดค้างบนเกาะแกลบ ซึ่งห่างจากฝั่ง บ้านบ่อคา ต.ด่านสวี อ.สวี จ.ชุมพร ประมาณ 10 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันที่ 29 มี.ค.เวลา 14.30 น.ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ตำรวจน้ำ พร้อมตัวแทนจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และผู้ปกครอง เร่งประสานงานเข้าช่วยเหลือทุกคนกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางสายฝนและลมแรงนั้น
โดยนักศึกษาและนักเรียนทั้ง 6 คน นั้นได้แก่ นาย ธนา ศรีแว่นแก้ว ม.ศรีปทุม, นายธนาคาร แบนอภัย และ น.ส.ทัดดาว เพชรเกลี้ยง มรภ.จันทรเกษม, นายปรัชญา รอดศิริ และ นายอนุสรณ์ สันติคุณ มรภ.สวนสุนันทา, น.ส.สุธิดา ทองเลื่อน ชั้น ม.3 ร.ร.สตรีนนทบุรี และ ด.ญ.อริสรา จิตรตรง นักเรียนชั้น ป.3 ร.ร.ด่านสวีวิทยา ซึ่งทั้งหมดมีอาการอิดโรยและหนาวสั่น พยาบาลต้องช่วยกันนำผ้าห่มมาห่มให้ ก่อนทำการตรวจสภาพร่างกาย
ธนา ให้สัมภาษณ์ขณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ว่า ตนเองและเพื่อนวางแผนมาเที่ยว พร้อมกับได้จ้างเรือประมงไปส่งที่เกาะแกลบ และพักอยู่รีสอร์ตเก่าของญาติเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร มีกำหนดกลับขึ้นฝั่งวันที่ 25 มี.ค.
“พวกเราเตรียมเสื้อ ผ้า และอาหารให้เพียงพอสำหรับการอยู่บนเกาะประมาณ 3-4 วัน โดยมีญาติของเพื่อนให้แบตเตอรี่เอาไว้ต่อไฟในช่วงเวลากลางคืน เพราะที่นี้เป็นรีสอร์ตเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว มีแค่บังกะโลเก่า 2 หลัง และห้องน้ำ 1 ห้องที่ยังใช้งานได้เท่านั้น”
ธนา เล่าต่ออีกว่า ช่วงวันแรกมาถึงเกาะบรรยากาศดีมาก ลมพัดเย็นสบาย จนกระทั่งเกิดพายุฝนตกหนัก ทำให้เรือที่ว่าจ้างไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้ตนและเพื่อนๆ เริ่มกังวลว่าจะต้องติดเกาะไปจนกว่าพายุจะหมด อย่างไม่มีกำหนด
“พวกเราทุกคนพยายาม ตั้งสติ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สำรองอาหาร จะหุงข้าวเฉพาะมื้อสำคัญ เก็บมะพร้าว งมหอย หาปลา ประทังชีวิต และไม่ออกไปตากฝน เวลาไปไหนก็จะเดินไปเป็นกลุ่มๆ ไม่ทิ้งให้เพื่อน หรือน้องอยู่คนเดียว และสำรองแบตเตอรี่ในมือถือเอาไว้ใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือ เวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ ซึ่งผม และเพื่อนมีโอกาสโทร.กลับไปหาคุณพ่อ คุณแม่ บอกท่านว่า เราเจออะไรบ้าง และให้เขาทำความเข้าใจว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนแรง เป็นแค่ภัยธรรมชาติเท่านั้น”
ในขณะที่ ทัดดาว เปิดเผยด้วยน้ำเสียงอ่อนเพลียปนสะอื้น ว่า กลัวว่าจะไม่มีคนมารับ เพราะคลื่นพายุแรงมาก แถมโทรศัพท์แบตหมดติดต่อใครไม่ได้ ต้องคอยปิด-เปิดเครื่อง ในยามจำเป็นเท่านั้น
“วันแรกที่รู้ว่าตัว เองติดเกาะ ก็รีบโทร.กลับบ้าน พอคุณแม่ทราบท่านก็ร้องไห้ ทำอะไรถูก เราก็ได้แต่บอกว่า เรายังสบายดีอยู่ ไม่ได้เป็นอะไร แต่ยังออกจากเกาะไม่ได้ ต้องรอให้พายุสงบลงก่อน แต่หลังจากคุยกับที่บ้าน ก็แทบจะร้องไห้ กลัวจนทำอะไรไม่ถูก แต่ก็พยายามพูดให้เข้าใจว่า เราไม่เป็นอะไร ไม่อยากให้ที่บ้านเป็นห่วง”
ด้าน จันทิมา สุรรัตน์ อาจารย์ประจำสำนักงานกิจการ นักศึกษา ม.ศรีปทุม กล่าวว่า หลังจากที่ทราบว่าเด็กนักศึกษาศรีปทุม และเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยติดเกาะ จ.ชุมพร จากสื่อต่างๆ อธิการบดีได้เร่งให้คณาจารย์เข้าตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด จากนั้นได้ประสานหน่วยงานราชการ จ.ชุมพร ให้เร่งมือเข้าช่วยเหลือทันที พร้อมเดินทางไปรับนักศึกษากลับกรุงเทพฯ
“มหาวิทยาลัยได้ ประสานงานไปยังหน่วยงานราชการของ จ.ชุมพร ในพื้นที่รับผิดชอบ และทหารเรือ ตำรวจน้ำ และคอยส่งข่าวให้ผู้ปกครองนักศึกษาทราบอยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากที่ทราบว่า น้องๆ ทุกคนปลอดภัย เราจึงนำรถและผู้ปกครองไปรับนักศึกษากลับกรุงเทพฯเมื่อช่วงบ่ายวานนี้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น