สูญเสียศิลปินแห่งชาติ “ศ.ประกิต บัวบุศย์” ครูผู้ริเริ่มศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ของไทย
วันนี้ (20 ธ.ค.) ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับการแจ้งว่า ศ.(พิเศษ) ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี2545 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เนื่องจากโรคชรา และโรคหัวใจ ในเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ 142 หมู่ที่ 2 ซอยแบริ่ง (สุขุมวิท 107) ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ สิริรวมอายุ 99 ปี โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันนี้ (20ธ.ค.) เวลา 17.00 น. ณ ศาลา10 วัดมกุฎกษัตริยาราม กทม. จากนั้นทายาทและลูกศิษย์จะจัดพิธีสวดพระอภิธรรม ในเวลา 19.00 น. ระหว่างวันที่ 20 - 26 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล เป็นเวลา 100 วัน และดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป
“ผมรู้สึกเสียใจเป็น อย่างยิ่ง ที่ได้สูญเสียศิลปินแห่งชาติผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการศิลปะ เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานจิตรกรรมสมัยใหม่แนว อิมเพรสชั่นนิสม์ในยุคแรกของไทย โดยสวธ.ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติที่ถึงแก่กรรม เป็นจำนวนเงิน 135,000 บาท โดยเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 15,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต 120,000 บาท และสวธ.จะดำเนินการเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพให้แก่ศิลปินแห่งชาติที่ล่วงลับ ต่อไป”อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว
สำหรับประวัติ ศ.(พิเศษ) ประกิต บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2545 เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2454 ท่านเป็นศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานจิตรกรรมสมัยใหม่ในยุคแรกของ ไทยที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและวิชาการตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 70 ปี มีผลงานสร้างสรรค์ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม รวมทั้งผลงานด้านวิชาการ การศึกษา วิจัย ตลอดจนการติดต่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับต่างประเทศ การสร้างสรรค์ผลงานแสดงถึงความสัมพันธ์ต่อเนื่องในเรื่องความประทับใจและ ความผูกพันกับความงามของธรรมชาติ เป็นการแสดงออกในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่มีความแรงด้วยการใช้สีสว่าง สดใส เจิดจ้า การใช้เกรียงปาดสีมีความเด็ดขาด และอิสระ
นอกจากนี้ศ. (พิเศษ) ประกิต บัวบุศย์ ยังเป็นผู้วางรากฐานจิตรกรรมสมัยใหม่แนวอิมเพรสชั่นนิสม์ของไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศนับเป็นผู้สร้างสรรค์ สืบสาน พัฒนา อนุรักษ์และเผยแพร่ที่มีค่ายิ่งซึ่งได้สัมฤทธิผลและเป็นที่ประจักษ์อย่าง เด่นชัดต่อวงการศึกษาศิลปะไทย จึงได้รับการ ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2545
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น