“จุรินทร์” เผย อีก 10 ปี จะมีคนไทยเสี่ยงเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เกือบครึ่งประเทศ เร่งค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง ปรับแก้พฤติกรรมการบริโภค การดำรงชีวิต
วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพมหานคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการมหกรรมการจัดการความรู้ ในโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักวิชาการจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัย ศูนย์วิชาการเขต ผู้แทนจากโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม รวมผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,500 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบประชาชนที่ป่วยด้วยโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง ที่จะนำไปสู่อัมพฤกษ์ อัมพาต โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา 5 โรคดังกล่าว ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือ การป้องกัน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานประมาณ 3.5 ล้านคน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 10.8 ล้านคน หากยังไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข คาดว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ.2563 จะพบผู้ป่วยทั้ง 2 โรคเป็น 30 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 50 ของประชากรของประเทศไทย
การจัดโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 เป็นโครงการที่คัดกรองผู้ป่วย รวมถึงดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือ การป้องกันโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการดำรงชีวิต โดยให้ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก ผลไม้และออกกำลังกายให้มากขึ้น และงดเหล้า บุหรี่
นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า แนวทางการป้องกันตามโครงการนี้ จะดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ตลอดจนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตลอดจนผู้นำชุมชน ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วย ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค จะมีการปรับแก้พฤติกรรมไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วย ในกลุ่มผู้ที่ป่วยแล้ว จะรักษาให้ถูกแนวทางควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม นอกจากนั้น จะดำเนินการให้มีการจัดตั้งชุมชนหมู่บ้านต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยทั้ง 2 โรคด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น