++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รู้จักพอ

คำว่า รู้จักพอใจ หมายถึง การยอมรับความเป็นจริง ในสิ่งที่ตนมี ในความสามารถของตน ในความเป็นตัวของตัวเอง แล้วเกิดความอิ่มใจ ยินดี พอใจ ไม่ได้หมายถึงการหยุดทำ หยุดคิด แล้วนอนรอโชควาสนาให้มาช่วย ไม่ทำงาน ไม่สร้างสรรค์อะไรอีกต่อไป ความพอใจมีอยู่ ๓ ลักษณะ อันได้แก่

๑. พอใจในสิ่งที่ตนได้ตนมี ให้มองดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในมือบ้าง แล้วคิดดูว่าถ้าสิ่งนั้นหายไปจะรู้สึกอย่างไร อะไรต่าง ๆ ที่หามาได้นั้นล้วนเกิดจากเรี่ยวแรง เกิดจากความสามารถของตนเอง ไม่ได้หามาด้วยการทุจิตผิดศีลธรรม เป็นของตัวเองแท้ ๆ เป็นสิทธิอันชอบธรรม ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ดีกว่านั้นก็ได้ แต่ต้องด้วยการประกอบเหตุให้สมควรแก่ผล ไม่มีประโยชน์อะไรกับการเอาสิ่งที่ตนเองมี ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีมากกกว่า มีดีกว่า
การยอมรับความเป็นจริงในสิ่งที่ตนมี โดยไม่เปรียบเทียบ จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่ามีน้อยกว่าคนอื่น มีไม่เหมือนคนอื่น เมื่อยอมรับได้จิตจะเกิดความรู้สึกพอใจ ยินดี ซึ่งจะหล่อเลี้ยงจิตใจให้ภาคภูมิใจในตนเอง หากอยากจะมีต่อก็ตั้งใจพากเพียรหามาใหม่ หากไม่ทำใจเช่นนี้แล้ว ระหว่างที่ยังไม่มีและไม่ได้ จิตจะเร่าร้อนไม่เป็นสุข จะริษยาคนอื่น จะรู้สึกว่าตนเองบกพร่องขาดแคลนอยู่ตลอด ถึงแม้จะมีพอประมาณแก่ความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของตนเองแล้วก็ตาม
๒. พอใจในกำลังความสามารถที่ทำได้ ปลวกตัวเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขนดินทีละก้อน ในที่สุดก็สามารถก่อเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่ได้ สมมติว่าปลวกเกิดนึกไม่พอใจกำลังของตนขึ้นมา เผ่าพันธุ์ปลวกคงหมดไปแล้ว ก้าวย่างแต่ละก้าวล้วนทำให้ถึงจุดหมายปลายทาง คนเราหากไม่ดูหมิ่นความสามารถตนเอง ค่อย ๆ พากเพียรพยายามเห็นคุณค่าของตนเองก็สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ คนที่ไม่ยอมรับความสามารถ และกำลังของตน เนื่องจากไปมองที่ผลตอบแทน มากกว่าผลของงาน เช่น มุ่งเงินหรือค่าจ้างที่จะได้รับมากกว่าความสำเร็จของงาน หรือเป็นคนที่ใจร้อนด่วนได้ ไม่รู้จักอดทนรอเวลา และจังหวะโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลสำเร็จ
หากยอมรับกำลังความสามารถของตนเองได้ จะรู้ภาคภูมิใจในผลงานแต่ละชิ้นแต่ละอย่างของตนเอง จะเป็นคนที่มีความสุขในการทำงานไม่เบื่องาน จะทำให้เห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ท้อถอยในการที่จะพากเพียรเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนเองขึ้นไป
๓. พอใจในความเป็นตัวเอง คือ การยอมรับความเป็นจริงในรูปร่างหน้าตาที่ได้ บทบาทหน้าที่ และฐานะความเป็นอยู่ของตน เป็นการยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลที่แต่ละคนเกิดมาจะให้เหมือนกันหมดทุกคนไม่ได้ ตนเองคือตนเอง คนอื่นก็คือคนอื่น ถ้าตนเองเป็นคนที่มีฐานะบทบาทอย่างอื่นที่คิดว่าดี และอยากจะเป็น แน่ใจอย่างไรว่าจะมีความสุขอย่างที่คิด โลกนี้จำเป็นต้องมีความแตกต่าง ทุกหน้าที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคม หากต้องการเปลี่ยนแปลง ยกระดับบทบาทฐานะ ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่าตนมีโอกาสมีความเพียบพร้อมสมควรแก่บทบาทฐานะนั้นหรือไม่

....ธัมมาภินันโท ภิกขุ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น