++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ม.มหิดล แนะ “จิตตปัญญาศึกษา” พัฒนาความเป็นมนุษย์

ม.มหิดล ผนึกกำลัง 3 ประสาน ร่วมมือศูนย์จิตตปัญญาศึกษา สถาบันอาศรมศิลป์ และ สสส. จัดเสวนาวิชาการ “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” มุ่งพัฒนาคน พร้อมรับปัญหาสังคมสมัยใหม่

ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 3 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น เมื่อเร็วๆนี้



การประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 3 “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” จัดขึ้นด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมในปัจจุบัน จากสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิตเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนพยายามเรียกร้อง ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของคนไทย ยิ่งมีวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความสุขของคนไทยก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งที่ ความต้องการ จุดหมายปลายทางของชีวิต ทุกคนอยากมีความสุข

ในกิจกรรมครั้งนี้ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์" โดยได้เล่าถึงการดำเนินงานของโรงเรียนสัตยาไส ที่เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นคนดี ไม่ได้เน้นให้เป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อเด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต สังคมต้องการคนดีและคนเก่งควบคู่กันไป เด็ก ๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ จะต้องนั่งสมาธิ เรียนรู้ที่จะสวดมนต์ขอบคุณอาหาร ขอบคุณธรรมชาติ ดูแลช่วยเหลือตัวเอง โดยที่มีความสุขไปกับการกระทำนั้นๆ ด้วยความที่มุ่งสอนให้เด็ก ๆ เป็นคนดี มีจิตใจที่ดี บวกกับความตั้งใจของเด็ก ๆ จึงทำให้ผลการเรียนนักเรียนรุ่นก่อน ๆ ของโรงเรียนสัตยาไสเป็นนักเรียนที่มากด้วยคุณภาพ เพราะนักเรียนที่นี่สามารถสอบเอ็นทรานซ์ติดทั้ง 100%

ดร.อาจอง กล่าวว่า เด็ก ๆ แม้จะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเป็นคนไม่ดี วันข้างหน้าก็ไม่อาจพาชาติเจริญได้ สู้เป็นคนเก่งและดีไปพร้อม ๆ กันจะดีที่สุด



จากนั้น นำเสนอผลงานทางวิชาการรับเชิญ อาทิ พระครรชิต คุณวโร วัดญาณเวศกวัน, ผศ.ดร.แกมทอง อินทรัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สุทธิลักษณ์ สมิตะสิริ สถาบันโภชนาการ เป็นต้น การนำเสนอผลงานทางวิชาการของนักจิตตปัญญาศึกษารุ่นใหม่ และการเสวนา

การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ปฎิบัติ ผู้สนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษาได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงวิถีของจิตตปัญญาศึกษาจะช่วยทำให้เข้าใจตัวตน ค้นหาความสุขแก่ตัวเอง และร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น



ด้าน ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล กล่าวเสริมอีกว่า วิถีชีวิตของมนุษย์มีความซับซ้อนเชื่อมโยงหลายมิติ ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง แต่การสร้างความตระหนัก ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความสุขที่แท้จริง จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนในสังคมมีความสุขมากขึ้น

“เมื่อคนมีความสุข สิ่งดี เรื่องดีๆ ก็จะตามมา การเรียนรู้ผ่านมุมมองของผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ รวมถึงนักวิชาการในสาขาต่างๆ จะนำไปสู่ความพยายามในการหาคำตอบร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะหากพื้นฐานของชีวิตดีขึ้น โลกทัศน์ และวิถีการดำเนินชีวิตก็จะก่อให้เกิดความสุขทั้งต่อตนเอง และคนรอบข้าง โดยต้องเริ่มจากการเรียนรู้ตนเอง และนำความรู้ที่ได้ไปช่วยแก้ไข พัฒนาผู้อื่น”

“จิตตปัญญาศึกษา” จึงถือเป็นหนึ่งในแนวคิด และแนวปฏิบัติที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในสังคมปัจจุบัน โดยมีจุดเน้นที่มุ่งให้มนุษย์หันกลับมาใส่ใจกับการพัฒนาคุณภาพความเป็นมนุษย์ของตนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการใคร่ครวญภายในจิตใจ และการแสดงออกต่อความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเผชิญภาวะวิกฤตในสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น