++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักคิดพิชิตเครียด

ความเครียด เป็นนิยามและรูปแบบหนึ่งของความทุกข์ที่ใกล้ตัวและเห็นได้ชัดเจน เป็นทุกข์จรและทุกข์ประจำของคนยุคบริโภคนิยม ถ้าต้องการชี้ให้คนรุ่นปัจจุบันรู้จักทุกข์ อาจต้องอธิบายกันยืดยาวกว่าจะเข้าใจ แต่พูดถึงความเครียด แทบทุกคนต้องรู้จัก และยอมรับว่าเคยเครียด เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการพูด เรื่องทุกข์กับคนยุคปัจจุบัน ตัวอย่างที่ขาดไม่ได้คือ เรื่องของความเครียด

ความเครียดจะเกิดขึ้น เมื่อต้องทำอะไรที่ไม่ค่อยคุ้น เช่น เวลาก่อนขึ้นพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก ก่อนรับการสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงาน ก่อนเข้าห้องสอบ เป็นต้น การเกิดความเครียด เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ความเครียดแบบนี้เป็นความเครียดระดับธรรมดา ซึ่งจะทำให้มีอาการ ตื่นเต้น ประหม่า หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก คอแห้ง กระหายน้ำ หรืออยากเข้าห้องน้ำ วิธีแก้เครียดแบบนี้ ทำได้โดย การเตรียมตัวให้พร้อมก่อน พยายามหายใจให้ลึกขึ้น โดยทั่วไปเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปความเครียดจะหายไปความเครียดแบบนี้จึงไม่ค่อยสร้างปัญหาให้มากนัก

ความเครียด ที่เป็นปัญหาและก่อความทุกข์ทรมาน ให้เป็นอย่างมาก ได้แก่ความเครียดที่เกิดขึ้นแล้วไม่ยอมคลาย แต่คั่งค้างและสะสมในจิตใจ จนบางคนเครียดจนเป็นนิสัย เครียดง่ายกว่าปกติ มีเรื่องกระตุ้นให้เครียดได้ง่าย จิตจะอ่อนไหวและเปราะบางต่ออารมณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

ความเครียดชนิดนี้ มีสาเหตุมาจากจิตใจถูกบีบรัด บีบคั้น อันเนื่องมากจาก การเผชิญกับปัญหาอุปสรรคแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือหาทางออกได้ รวมไปถึงการถูกเร่งรัดจากความเร่งรีบ ถูกกดดันจากความคาดหวัง ทั้งของตนเองและของคนรอบข้าง การไม่สามารถสนองตอบต่อความจำเป็นด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ทันท่วงที การคาดหวังผลสูงเกินไปในสิ่งที่ตนกระทำ การจดจ่อรอคอยสิ่งที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมาถึง การขาดความภูมิใจในตัวเอง ความกลัวว่าสิ่งที่คาดหวังจะไม่เป็นไปตามต้องการ เป็นต้น เหล่านี้เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งของความเครียดเท่านั้น

ความเครียด ถือเป็นอาการทางใจ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนเป็นนิสัยยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย หรือ โรคทางกาย เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดหัว ระบบย่อยอาหารผิดปกติ เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอย่างอื่นที่จะตามมาอีกมากมาย

ความเครียด เป็นความทุกข์ซึ่งมีที่มาที่ไป ตามปกติ ความเครียดไม่ใช่ตัวปัญหาโดยตรง แต่เป็นผลที่เกิดมาจากการไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ การเตรียมความพร้อมด้านความจำเป็นต่าง ๆ ของชีวิตให้มากที่สุด ดำเนินชีวิตด้วยความมีสติไม่ประมาท ด้วยความมีเหตุมีผล ไม่เอาแต่อารมณ์เป็นใหญ่ จะช่วยให้ไม่ต้องเป็นทุกข์จากความเครียดมากเกินไป

ความเครียดอาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตได้เสมอ ในยามปกติการหมั่นประกอบคุณงามความดี การศึกษาอบรมธรรมะภาคปฏิบัติ ฝึกฝนสติสัมปชัญญะ เป็นการเตรียมรับมือกับความเครียดอย่างดีที่สุด หากเครียดแล้วค่อยฝึกปฏิบัติจะไม่ทันการ หลักต่อไปนี้ เป็นข้อคิดและปฏิบัติบางส่วน เป็นทางเลือกสำหรับแก้ไขความเครียดที่เกิดจนเป็นปกตินิสัย และเป็นทางป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดได้ง่าย

๑. ยอมรับ ว่า ความเครียดเกิดขึ้นแล้ว ยอมรับการมีอยู่ของความเครียด อย่ารีบผลักไส การยอมรับช่วยไม่ให้ตกใจจากอาการของความเครียด จะได้ไม่เครียดเพราะเกิดความเครียดซ้อนขึ้นมาอีก
๒. หางาน ที่ทำให้เกิดความสุขและความภูมิใจในตนเอง เช่น งานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม
๓. มองโลกในแง่ดี มองคนในแง่ดี หรือคิดในแง่บวก มองอะไรให้รอบด้าน
๔. อย่าเปรียบเทียบ ตนเองกับคนอื่น พอใจในชีวิตตัวเอง (อ่านเรื่อง “รู้จักพอ”)
๕. อย่าคาดหวัง อะไรจากตนเองสูงเกินไป
๖.อย่ารีบรับปาก ในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้หัดปฏิเสธบ้าง คนขี้เกรงใจมักรีบรับปากคนอื่น แต่มานั่งกลุ้มนั่งเครียดทีหลัง เพราะงานที่รับมาเกินความสามารถของตนเอง
๗ . เมื่อแก้ไข อะไรไม่ได้แล้ว ไม่ควรนำเก็บมาคิดให้เหนื่อยเปล่า
๘. อย่าคิดว่าอะไรจะเป็นเหมือนอย่างที่คาดไว้ เตรียมใจรับผลที่จะอาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม
๙. ทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ อย่าให้งานคั่งค้าง อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
๑๐. ใส่ใจกับงานที่กำลังทำอยู่ เฉพาะหน้าก่อน อย่าเพิ่งนึกถึงงานในอนาคต
๑๑. เมื่อแก้ไขคนอื่นไม่ได้ จงแก้ไขที่ใจตัวเอง
๑๒. จงสร้างเหตุแล้วปล่อยให้ผลเกิดขึ้น เอง ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด
๑๓. หลีกเลี่ยงการอ่านข่าวไม่ดี และชวนหดหู่ใจในระหว่างเครียด อ่านเรื่องที่ดี ๆ บ้าง
๑๔. ถ้าความเครียดเกิดอยู่นาน ไม่ยอมหาย หรือมีอาการตกค้างกลายเป็นคนเครียดง่าย จิตใจหดหู่เหี่ยวแห้ง แม้ปัญหาจะผ่านพ้นไปแล้ว ให้แก้ไขโดยทำความดีอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างต่อเนื่อง เช่น ตักบาตรทุกวัน กราบพระพุทธรูปด้วยจิตเลื่อมใส ปล่อยสัตว์ ที่กำลังจะถูกฆ่า เช่น ปลาในตลาด (ไม่ใช่ ปลา เต่า นก ฯลฯ ที่วางขายเพื่อให้ซื้อปล่อยเป็นการเฉพาะ)
๑๕. เวลาที่เครียดมาก ๆ อย่านั่งสมาธิ อย่าพยายามทำจิตให้สงบเพราะจะยิ่งเครียด คนที่จะนั่งสมาธิได้ต้องมีจิตที่สบายเป็นกุศลมาก่อน ควรหาทางทำอะไรเพลิน ๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดอ่านมากนัก เช่นจัดหนังสือ กวาดบ้าน
๑๖. เดินเล่นในที่โล่งกว้าง มองท้องฟ้าที่มีเมฆสีสวยใส หรืออะไรที่เป็นสีฟ้าอ่อน
๑๗. ถ้ามีอาการทางร่างกาย ร่วมด้วย อาจต้องอาศัยยาเป็นตัวช่วยด้วย จึงควรพบและปรึกษาหมอ
๑๘. หากเครียดจัด อย่าอยู่คนเดียว ให้เข้าหาเพื่อนสนิท ครู พ่อแม่ เป็นต้น ที่เข้าใจสามารถพูดคุยระบายทุกข์ให้ฟังได้



....ธัมมาภินันโท ภิกขุ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น