++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผลของงานจากการทำด้วยใจ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเขากวางทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            การสมัครเป็น อบต.นำร่องในการทำกองทุนฯ ของตำบลเขากวางทอง เกิดจากการตัดสินใจของ นายก อบต.ที่มองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชนเป็นหลัก นี่เป็นการเริ่มต้นการทำงานเพื่อสังคมที่เกิดจากจิตใจเป็นสำคัญ ดังคำพูดที่ว่า "คิดเอง บริหารเอง ไม่ได้ไปดูงานที่ไหน"
            เขากวางทองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง พื้นที่เกือบทั้งหมดของตำบลอยู่ในเขตชลประทาน มีพื้นที่รับผิดชอบ 13 หมู่บ้านประชากร 7,120 คน จำนวนหลังคาเรือน 1,673 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนา
            นายก อบต.เขากวางทอง เคยเป็นกำนันมาก่อนจึงสามารถประสานงาน การทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในตำบลได้เป็นอย่างดี และยึดหลักการทำงานที่ว่า จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่ขอความร่วมมือ เพราะเมื่อเราขอกลับ ใครก็มาร่วมงานและให้ความร่วมมือเช่นกัน การทำงานลักษณะนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้วยใจ เช่นกัน

            เริ่มต้นการทำงานด้วยใจแล้ว ก็นำไปสู่ระบบที่จัดวางไว้ ซึ่ง อบต.เขากวางทองนั้น ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นกรรมการชุดใหญ่ตามแนวทางของ สปสช. กำหนดไว้ โดยมีนายก อบต. เป็นประธาน
            ส่วนที่ 2 เป็นกรรมการชุดเล็กยู่ในแต่ละหมู่บ้าน มีจำนวน 13 ชุด ตามจำนวนหมู่บ้านในเขากวางทอง มีผู้นำเป็นผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านก็จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ  คอยให้คำปรึกษาที่ดี เพราะกรรมการเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นอดีตข้าราชการเก่า ที่ปลดเกษียณแล้ว ถือเป็น คนคุณภาพ ในแต่ละหมู่บ้านนั้น

            คณะกรรมการที่แต่งตั้งเต็มใจทำงานด้วยความเสียสละ "ทำด้วยใจ" ส่วนทีมงานมีเป้าหมายเดียวกัน คือ "ต้องมีตัวตั้งอยู่ที่ประชาชน" และสำหรับทีมงานทุกคนเท่ากัน "ไม่มีใครสำคัญที่สุด" แล้ว ถ้าทั้งหมดมีความสามัคคี มันก็เป็นข้อดีในการพัฒนางานยิ่งขึ้นไป
            กรรมการชุดเล็กนี้มีส่วนสำคัญมากต่อการทำงานเพราะเป็นผู้ที่ค้นหาปัญหาในท้องถิ่นว่า มีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเกิดจากการทำประชาคมภายในหมู่บ้านทุกเดือน หรือการพบปะพูดคุยเพื่อศึกษาปัญหา หรือให้ความใกล้ชิดสนิทสนม ความเป็นกันเอง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง แล้วทำการประมวลผลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ และนำมาซึ่งโครงการเพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง
            หลังจากที่ประมวลผลจัดลำดับปัญหาตั้งแต่กลุ่มเด็กจนถึงกลุ่มคนชรา พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุมีปัญหามากที่สุด และปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ปัยหาเรื่องสายตา เมื่อพบปัญหาแล้วกรรมการชุดเล็ก ก็นำข้อมูลในแต่ละหมู่บ้านมาเขียนเป็นโครงการว่ามีชาวบ้านกว่า 200 คนรวมทุกหมู่บ้าน ที่มีปัญหาเรื่องสายตาจึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นชื่อโครงการว่า "คืนแก้วตาสดใส สู่ชาวตำบลเขากวางทอง" และดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งผลของการดำเนินการนั้น ก็เป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วยทุกคน ดูได้จากการเรียกร้องของผู้ป่วยที่ว่า "ชาวบ้านขอให้ทำต่ออีก 3 ปีได้ไหม"

            หลังจากนั้นก็มีโครงการออกมาอีกหลายโครงการ เพื่อประชาชนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและแจกยาสามัญประจำบ้าน โครงการนวดแผนไทย โครงการซื้อเครื่องมือพัฒนาเด็กให้กับศูนย์เด็กเล็ก  หรือ โครงการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าจะจัดทำโครงการไหนก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี
            ความสำเร็จจะมีบ้างหรือไม่นั้น ชาวบ้านบอกซื่อๆว่า ไม่ได้ทำการประเมินผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าถามถึงความพึงพอใจ  ก็พึงพอใจกับงานที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่า การทำงานบางครั้งจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจในการทำงาน หรือวิธีการบริการที่ทำแบบคิดเอง บริหารเอง หรือบางครั้งการวางวัตถุประสงค์ในการทำงานอาจเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก เพราะไม่ได้ไปดูงานที่ไหน แต่ผลงานก็เป็นที่น่าพอใจ หรือ ปัญหาเรื่องงบประมาณล่าช้าไม่เข้าใจการเบิก-จ่าย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะทุกงาน ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปว่า ทุกคนทำงานด้วยใจ

ผลของงานในตำบลเขากวางทองนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกคนทำงานอย่างเป็นระบบตามแผนงานที่วางไว้จนได้มาซึ่งคำว่า "คนคุณภาพ" มาช่วยทำงาน "ด้วยใจ" เหล่านี้เป็นคำที่มีความหมายและมีความสำคัญยิ่งสำหรับคนทำงานในเขากวางทอง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
สุชาดา อินทรกำแหง ณ ราชสีมา
วพบ.สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น