++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เทิดไท้องค์ราชันที่ “หอจดหมายเหตุฯในหลวง”

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง



หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ

“...ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั้นคือคนไทยทั้งปวง...”
นี่คือพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ที่ฉันได้เห็นในหอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ ซึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยในการน้อมระลึกถึงพระราชกรณียกิจและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรา ฉันจึงถือโอกาสไปสถานที่อันเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านที่ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” จังหวัดปทุมธานี


จำลองการแสดงความจงรักภักดีในบ้านเรือน

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2539 อันเป็นมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุ ที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้ตามระบบมาตรฐานงานจดหมายเหตุ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย


การแสดงความจงรักภักดีในแต่ละยุคสมัย

กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นอนุสรณ์สถานในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และได้รับพระราชทานชื่อว่า “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บนพื้นที่ 75 ไร่


ร้านถ่ายรูปติดพระบรมฉายาลักษณ์

รูปแบบของหอจดหมายเหตุฯแห่งนี้ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สมัยรัชกาลที่ 9 โดยมีนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ออกแบบ และนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร เป็นวิศวกรโครงสร้าง มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร 4 หลัง มีทางเชื่อมและลานอเนกประสงค์ รวมพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารเก็บเอกสารจดหมายเหตุ เป็นอาคาร 9 ชั้น, อาคารให้บริการค้นคว้า และอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 หลัง


ในส่วนแสดงพระราชประวัติ

โดยอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรตินี้จะอยู่ทางปีกซ้ายและปีกขวา แต่ละอาคารมี 3 ชั้นซึ่งจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติทั้ง 3 ชั้นเลยทีเดียว ฉันจะเริ่มที่อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร “อาคาร 3”ทางด้านปีกซ้ายก่อน ในชั้นแรกประกอบได้ด้วย 4 หัวข้อ คือ ส่วนที่ 1 “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ” เป็นการนำเสนอวีดิทัศน์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ


บรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการ

ส่วนที่ 2 “พสกนิกรจงรักภักดี” เป็นการจำลองบรรยากาศบ้านเรือน ร้านค้าในยุคสมัยต่างๆ และการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนในแต่ละยุคสมัย มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติ ส่วนที่ 3 “ดินแดนเสด็จพระบรมราชสมภพ” แสดงพระราชประวัติเตั้งแต่เมื่อครั้นเสด็จพระบรมราชสมภพ ณ รัฐเมสสาชูเขตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ 4 “พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 7” จัดแสดงเกี่ยวกับพระเมตตาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอยยิกาเจ้า ที่ทรงมีต่อเจ้านายราชสกุลมหิดล


พระตำหนักในแดนไกล

ถัดจากชั้นแรก ขึ้นไปยังชั้นที่ 2 ของอาคาร 3 ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่ ส่วนที่ 1 “ณ วังสระปทุม” ซึ่งจัดแสดงเหตุการณ์เมื่อพ.ศ.2471 ที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพาครอบครัวมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทย ในส่วนที่ 2 “ขณะเยาว์พระชันษา ณ วังสระปทุม” จัดแสดงพระราชจริยวัตรในวังสระปทุม และการอภิบาลเลี้ยงดูอย่างดีจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ส่วนที่ 3 “พระตำหนักในแดนไกล” โดยจัดแสดงเหตุการณ์ร.8 เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์


รูปแบบหนึ่งของบรรยากาศภายใน

ส่วนที่ 4 “ตามเสด็จนิวัติพระนคร” จัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆของรัชกาลที่ 8 โดยมีพระอนุชาโดยเสด็จด้วยเสมอ จนสวรรคต และในส่วนที่ 5 “เถลิงถวัลยราชสมบัติ” จัดแสดงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีทรงพระผนวช


นิทรรศการในส่วนอาคารทางปีกขวา

และในชั้นที่ 3 มี 2 หัวข้อคือ “ดำรงราชย์ ดำรงรัฐ” จัดแสดงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความสำคัญและมีความผูกพันกับสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และส่วนที่ 2 “พระราชพิธีสำคัญในรัชกาล” ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับความหมายความสำคัญ รูปแบบและขั้นตอนของพระราชพิธีสำคัญในรัชกาล


โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

จบจากอาคารที่ 3 แล้ว ฉันไปต่ออารมณ์ที่นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติใน “อาคาร 4” โดยในฝั่งปีกขวานี้ เริ่มต้นชมจากชั้นที่ 3 ประกอบไปด้วย 7 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 “ศูนย์แห่งการทดลอง ศึกษา และพัฒนา” จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขณะประทับและทรงงานภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อด้วยส่วน “พระราชปณิธานอันมั่นคง” จัดแสดงจุดเริ่มต้นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา


โครงการฝนหลวง

ส่วนที่ 3 “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” จัดแสดงพัฒนาการของโครงการฝนหลวงตั้งแต่พระราชทานพระราชดำริเมื่อพ.ศ.2498 จนปัจจุบัน ตามมาด้วยส่วนที่ 4 “การบริหารจัดการน้ำ” อันแสดงพระราชกรณียกิจแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำ จากนั้นเป็นส่วนของ “ทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง” แสดงแบบจำลองทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการดินและน้ำเพื่อการเกษตร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาในส่วนที่ 6 “พระปรีชาสามารถด้านศิลปะ” จัดแสดงพระปรีชาสามารถด้านจิตกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย หัตถกรรม ดนตรี วรรณศิลป์ และส่วนของ “พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม”


โครงการด้านสาธารณสุข

จากชั้นที่ 3 ไล่ลงมายังชั้นที่ 2 อันประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ “สาธารณสุขมวลชน” แสดงพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข และรางวัลที่ทรงได้รับจากองค์การอนามัยโลก ส่วนที่ 2 “พระมหากรุณาธิคุณสู่ชายแดน” แสดงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณต่อทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนที่ 3 “ในหลวงกับการปกครอง” จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และส่วนสุดท้ายในชั้นนี้คือ “เจริญพระราชไมตรี” ซึ่งจัดแสดงพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยือนประเทศต่างๆเพื่อเจริญพระราชไมตรี


นักท่องเที่ยวสามารถฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ได้

จากนั้นเป็นส่วนแสดงในชั้นที่ 1 ของอาคารที่ 4 เป็นการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และมีพระราชดำริอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริหลายโครงการ โยประทับ ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปฎิบัติพระราชกรณียกิจ และสุดท้ายก่อนจะจบการแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติเป็นส่วนของ “พระบารมีปกเกล้าชาวไทย” ซึ่งจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ในหัวข้อ รูปที่ประชาชนชาวไทยทุกบ้านมีไว้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และแสดงถึงความจงรักภักดี ความผูกพันของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


ส่วนจัดแสดงในหลวงกับการปกครอง

นอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่จัดแสดงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยน่าสนุกและน่าติดตามแล้ว ยังสามารถค้นคว้าและห้องสมุดจดหมายเหตุให้ได้ศึกษากันอีกด้วย วันว่างนี้ใครยังไม่มีโปรแกรมล่ะก็ฉันขอแนะนำให้ไปเที่ยวชมที่หอจดหมายเหตุฯแห่งนี้ แล้วจะรู้ว่าพ่อหลวงของเราทำเพื่อปวงชนชาวสยามโดยแท้จริง


พระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาล

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2902-7940

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น