++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สติสัมปชัญญะ

สติ คือธรรมชาติหนึ่ง ที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต อาศัยอารมณ์เดียวกับจิต ที่เรียกว่าเจตสิก นั่นเอง แต่เป็นเจตสิกฝ่ายดีงาม (โสภณเจตสิก) ทำหน้าที่ระลึกในอารมณ์ มีลักษณะที่เป็นกุศลเพราะช่วยให้ระลึก ได้ในสิ่งที่ดีงาม

คำถามที่ควรตั้งถาม
- ในชีวิตประจำวันมีสติหรือไม่ ?
- สติจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตอย่างไร ?
- วิธีการฝึกทำให้สติเกิดนั้นทำอย่างไร?

สติที่พึงปราถนา คือ สติที่มีลักษณะเป็นไปดังนี้
- เป็นกุญแจหลักดอกสำคัญที่ไขให้เรารู้จักจิต …นี่คือจุดเริ่มต้น
- เป็นเครื่องมืออันสมบูรณ์สำหรับฝึกฝนและขัดเกลาจิต……..นี่คือจุดศูนย์รวม
- เป็นปรากฏการณ์สูงค่าของการบรรลุถึงอิสระภาพของจิต….นี่คือจุดยอดสูงสุด

จุดแห่งสัมมาสติ
อันดับแรกของความมีสติก็คือ "ความเอาใจใส่" เรียกว่า ความสนใจ ที่มีลักษณะ "หันเข้าหาอารมณ์เป็นครั้งแรก" (อาวัชชนะ) เพื่อตัดกระแสจิตใต้สำนึกจากภวังคจิตเข้าไปเอาใจใส่อารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ใน ขณะนั้นตามทวารการรับรู้ต่างๆ ในขณะแรก ๆ ของขบวนการรับรู้ ความเอาใจใส่ยังเป็นภาพรวม กว้าง ๆ ไม่ชัดเจน หากมีสิ่งที่กระตุ้นแรงมากพอ ความเอาใจใส่จะเพิ่มมากขึ้น มีรายละเอียดและมีความสัมพันธ์ เรียกว่าความคิดเชื่อมโยง เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งนั้น(สติ + สัญญา + เจตนา)
การรับรู้ = รายละเอียด + พาดพิงถึงตัวผู้สังเกต + คิดเชื่อมโยง + คิดรวบยอด ทั้งหมดนี้ ยังอยู่ในระดับของสติที่นำไปใช้อย่างสามัญ

สัมมาสติ นำไปสู่การสังวร
เมื่อ ความเอาใจใส่ (การกำหนด) เจริญขึ้น (โดยการฝึกตนเองอย่างเข้มงวด) ความมีสติชอบได้พัฒนาขึ้น โดยการรู้จักระวังจิตให้พ้นจากอิทธิพลต่าง ๆ ที่ทำให้จิตหลงผิด อันเป็นรากฐานและเป็นองค์ประกอบของ ปัญญาอันเห็นชอบ คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

สัมมาสติ คือพัฒนาจิต ให้เกิดสติในทางที่ระลึกชอบ
- สัมมาสติในองค์ที่เจ็ดของอริยมรรค คือ สติปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ
- สัมมาสติ คือ สติที่มุ่งอยู่กับ
- กาย คือ การเคลื่อนไหวและความเป็นไปของกายในลักษณะต่างๆ
- เวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ - สุข- และไม่ทุกข์และไม่สุข ในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกายและใจฃ
- จิต คือ สภาพของจิตที่มีลักษณะอย่างไรในจิตขณะหนึ่ง ๆ
- ธรรม คือ สิ่งที่มีและเกิดขึ้นในใจ อารมณ์จำเพาะของจิตในขณะนั้น ๆ

อนุปัสสนา การเฝ้าตามดู (ตามดูตามรู้)
คือ การตั้งสติคอยระลึกรู้ (กำหนด) ในฐานทั้งสี่ที่กล่าวมา (ตามดูสิ่งที่เกิดที่เกิดขึ้นในกาย-ใจ) ก่อให้เกิดตัวรู้ที่เป็นรากฐานของปัญญาขึ้น คือ สัมปญชัญญะ (ตามรู้สิ่งที่เกิดที่เกิดขึ้นในกาย-ใจ)

สติและสัมปชัญญะ ในฐานะของการปฏิบัติ
คือ การตั้งต้นของจิต ที่ประกอบไปด้วยการเอาใจใส่ในทุกสิ่งที่ดำเนินไปของกายและใจ สิ่งนี้เรียกว่า "การกำหนด" (Bare Attention) หรือการเอาใจใส่เฉย ๆ ที่มีความหมายว่าเพียงแต่เฝ้าดู โดยไม่เอาความคิดความเห็นความชอบของตนเข้าไปตัดสิน มีลักษณะดังนี้
- กำหนดรู้ชัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราและในเรา (บัญญัติ) ติดป้ายชื่อให้แก่ทุกสิ่ง (รู้โดยสัญญา)
- กำหนดรู้ชัดบันทึกข้อมูลใหม่ให้แก่จิต (ปรมัติ) ปลดป้ายชื่อ ขจัดสิ่งแปลกปลอมที่แฝงมา
- กำหนดรู้จากหยาบไปหาละเอียดขึ้น (อินทรีย์สังวร)
- กำหนดรู้จากอดีต กลับคืนสู่ปัจจุบันอารมณ์ (ตามทัน - เป็นมหาสติ)
- กำหนดรู้อย่างละเอียดละออตลอดทั่ว ย้อนดูจิตตั้งแต่แรกเริ่ม เห็นกระบวนการรับรู้ของจิต ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นไป และจบลง โดยไม่ด่วนตัดสิน ไม่ด่วนสรุปว่ารู้แล้ว ปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ แสดงตัวของมันออกมาตามคุณลักษณะธรรมชาติของมันเอง

ระดับของการกำหนด
ระยะที่หนึ่ง จิตเป็นฝ่ายรับ (เห็นผลชัด) ขั้นรู้จัก ทุกข์
ระยะที่สอง จิตรู้อารมณ์ที่บริสุทธิ์ (เห็นเหตุชัด) ขั้นขัดเกลาจิต รู้จักสมุทัย
ระยะที่สาม จิตบริสุทธิ์ (ผลใหม่ที่ปราศจากทุกข์) ขั้นปลดเปลื้องจิต รู้จัก นิโรธ
ระยะ ที่สี่ จิตรู้ทาง (รู้เหตุที่จะปฏิบัติให้พ้นทุกข์) ขั้นเจริญจิต รู้จัก มรรค เป็นระดับของจิตที่เรียนรู้อริยสัจจ์สี่ในการปฏิบัติ นั่นเอง


สัมปญชัญญะ การรู้ชัด
คือ ความรู้ที่ถูกต้อง ที่ได้มาจากสัมมาสติ เป็นกระบวนการ "หลั่งความรู้" ที่มีรากฐานมาจากการกำหนดที่ถูกต้อง ความรู้ชัดที่ถูกต้องนี้จะคอยควบคุมกิจกรรมทั้งปวงของชีวิตที่ดำเนินไป ตั้งแต่ คิด พูด ทำ ให้เป็นไปตาม จุดมุ่งหมาย มีประสิทธิภาพและเข้ากันได้กับความเป็นจริง ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม ทั้งกายและใจ สัมปชัญญะคือความรู้ที่ถูกต้อง ที่เรียกอีกนัยหนึ่งว่า ปัญญา (ญาณ) ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของสัมมาสตินั่นเอง

สัมปชัญญะสี่
ความรู้ชัดนี้ ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตว่า เมื่อสติทำได้คมชัดแล้ว ความรู้จะเกิดขึ้นครอบคลุมการงานของกายใจทั้งหมด โดยมีลำดับดังนี้
๑. สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้ชัดในวัตถุประสงค์ (รู้ชัดในเหตุ ก่อนทำกิจ)
๒. สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้ชัดในความเหมาะสม (ของการกระทำ-อินทรีย์)
๓. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ชัดในแดนงาน (รู้อารมณ์กรรมฐาน)
๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ชัดตามความเป็นจริง (ของอารมณ์ ของกิจกรรมทั้งปวงอย่างไม่มีอคติ และความหลงผิด อันเป็นรากฐานของสัมมาทิฏฐิในองค์แรกของอริยมรรค)

สรุปประเด็นของการฝึกสติและสัมปชัญญะ
. หันเข้าหาอารมณ์
. รู้อารมณ์ว่าเป็นไปอย่างไรตามปกติ
. รู้จักกระบวนการของการรับรู้
. รู้อารมณ์ที่บริสุทธิ์
. รู้อารมณ์ที่เป็นคุณและโทษของจิต
. รู้วิธีการออกจากโทษนั้น
. รู้ชัดตามความเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น