++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โฮมกันคิด โฮมกันทำ ในตำบลนาพู่ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "มาโฮมแล้วก็โสกัน  ต่อจากนั้น เฮาก็เฮ็ดร่วมกัน"
            ชาวนาพู่ เป็นเหมือนกับคนชนบทส่วนใหญ่ที่ต้องออกมาหางานทำตามหัวเมืองใหญ่ๆ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปแล้ว คนที่นี่ส่วนใหญ่จะทำนา สวนผักและเลี้ยงสัตว์ ในที่ดินทำกินของตนเอง มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำงานรับจ้างเป็นหลัก โดยเฉพาะในโรงงานเย็บผ้าขนาดใหญ่แห่งเดียวในตำบล
            คนนาพู่ มีสิ่งยึดเหนี่ยวและยึดถือ ผู้อาวุโสคือ แรงศรัทธา บนรากฐานของวัฒนธรรมเดียวกันที่มีการตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะผู้อาวุโสจะเป็นแรงหลักสำคัญในการประกอบพิธีบุญตามวาระและเทศกาลต่างๆ
            นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อการทำงานแก่สังคมต่างๆมากมาย สำหรับกลุ่มที่เป็นทางการเน้นการทำงาน เพื่อช่วยเหลือในงานราชการของหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆเช่น กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน-ประชาคมคุ้ม, กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่นกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มกองทุน กขคจ. กลุ่มปุ๋ย กลุ่มกองทุนเยาวชน กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มสมัชชาต่อต้านยาเสพติดฯ
            ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มคณะกรรมการรักษามาตรการชุมชน กลุ่มฌาปนกิจ กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นกลุ่มเยาวชนคนรักบ้าน
           
            แรงกายแรงใจของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่เป้นส่วนร่วมของการผลักดันโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
            "เราทำงานกับชุมชน เราต้องให้ชุมชนเป็นเจ้าของโดยเฉพาะกระบวนการคิด การทำงานร่วมกัน เราต้องให้เกียรติกลุ่มต่างๆ ในชุมชน" นายก อบต.นาพู่ กล่าวอย่างนั้น
            เมื่อเกิดการทำประชาคม ขยายแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สนับสนุนการจัดบริการของหน่วยบริการสาธารณสุข สร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟูสภาพสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพมาตรฐานในกลุ่มแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงและผู้ป่วยเรื้อรัง
            จากการทำประชาคม มาสู่การประชุมเพื่อแถลงนโยบาย จัดตั้งคณะทำงาน ร่างระเบียบกฎเกณฑ์กองทุนฯ โดยให้ตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ จัดประชุมระดมพลังสมอง (โฮม) แล้วเสนอโครงการ (โส) และจัดทำโครงการโดยกลุ่มงานต่างๆ (เฮ็ด)
            หลังจากนั้น จึงมาร่วมโฮมและโสกันอีกครั้งเพื่อประเมินโครงการ

            8 โครงการ ในกองทุนฯ ตำบลนาพู่ บรรลุเป้าหมายทุกโครงการ ครอบคลุม 5 กลุ่มเป้าหมาย มีความชัดเจนและเก็บเป็นชุดข้อมูลอย่างละเอียด ที่สำคัญการดำเนินงานสะท้อนให้เห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน ดำเนินงาน และการประเมินผล เกิดการเรียนรู้กระบวนการทำงานและเห็นความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (อบต. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข) สะท้อนถึงความเข้มแข็ง ของภาคประชาชน

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
            ผู้บริหารหรือผู้นำ เป้นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการทำงาน โครงการกองทุนฯ นาพู่ นายก อบต.นาพู่ มีลักษณะความเป้นผู้นำหรือนักพัฒนาและวิสัยทัศน์นำสมัย กว้างไกล ผู้ซึ่งนำแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและยังเป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนา ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้นำชุมชน หรือบุคลากรที่เป้นกำลังสำคัญในการพัฒนา จนได้รับรางวัล นายก อบต.ดีเด่น ประจำปี 2550
            อีกประเด็นคือ ในทุกๆหมู่บ้านของตำบลนาพู่ จะมีเวทีประชาคมสำหรับพบปะกัน อย่างสม่ำเสมอ การประชาคมทุกครั้งจะมีตัวแทนชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนหรือเกือบทุกหลังคาเรือน เข้าร่วมระดมพลังสมอง มองปัญหาแล้วหาทางป้องกัน จากนั้นตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านจะนำเอาปัญหาจากการประชาคมเข้าประชุมร่วมกับ อบต. เดือนละครั้ง
            แสดงให้เห็นถึง ความเข้มแข็งของพลังประชาคมท้องถิ่น
            ทั้งนี้ ความยั่งยืนและผลสำเร็จของโครงการเกิดจากความต้องการของชุมชน อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำประชาคมนั่นเอง
            สุดท้าย มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ติดต่อสื่อสารและเข้าถึงกันได้โดยง่าย "การประสานงานต้องรวดเร็ว เรานำเอาระบบวิทยุสื่อสารมาใช้ ไม่ต้องเปลืองค่าโทรศัพท์ ผู้นำหมู่บ้านและ อบต.มีกันครบทุกพื้นที่ " นายก อบต.นาพู่

            บทเรียนที่ได้รับจากการทำงาน
            ความยั่งยืนของโครงการ มาจากการทีมงานและผู้นำที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ของนักพัฒนาและเข้าถึงใจประชาชน ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขบเคลื่อนควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำชุมชนทุกระดับ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ประกอบกับการนำเอาเทคโนโลยีนำสมัยมาประยุกต์ใช้กับการทำงานอย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย การทำงานเป็นระบบ โปร่งใสและตรวจสอบได้
            สิ่งเหล่านี้ นำมาซึ่งการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและสุขภาพที่ดีของคนมิใช่ฤา

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
วัจนา สุคนธวัฒน์
แสงดาว จันทร์ดา
มัลลิกา มากรัตน์

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น