เมื่อเอ่ยถึง พระไตรปิฎก หลายๆคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวและยากจะเข้าถึง ซึ่งอาจเกิดจากภาษาที่ใช้ ทั้งๆที่พระไตรปิฎกถือได้ว่าเป็นตำราหรือคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาที่ทุกคน ควรได้เรียนรู้ เพราะได้รวบรวมคำสอนหลักๆขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการถอดความ และจัดทำพระไตรปิฎกออกมาในภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นพระไตรปิฎกฉบับประชาชนบ้าง ฉบับเยาวชนบ้าง รวมทั้งมีคัดเลือกเนื้อหาสาระบางส่วนที่น่าสนใจมาเผยแพร่ ทำให้คนทั่วไปได้ทราบเรื่องราวในพระไตรปิฎกมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ที่ไม่เคยทราบเกี่ยวกับพระไตรปิฎกว่ากล่าวถึงเรื่องอะไรไว้ บ้าง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสาระน่ารู้บางส่วนที่นำมาจากพระไตรปิฎกมาเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องๆ เริ่มด้วยการรู้จัก “พระไตรปิฎก” กันก่อน
คำว่า “พระไตรปิฎก” มาจากคำว่า “ไตร”ที่แปลว่า สาม และ “ปิฎก” หมายถึง กระจาด ตะกร้า หรือบางแห่งก็แปลว่า คัมภีร์ เมื่อรวมความแล้ว หมายถึง ที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจายสูญหาย แต่ให้อยู่ในตะกร้าหรือกระจาดนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนหรือ ๓ คัมภีร์คือ พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยหรือศีลของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก เป็นเรื่องคำสอนทั่วๆไปที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ต่างๆมีการเอ่ยชื่อ บุคคล สถานที่และประวัติตามท้องเรื่อง และสุดท้ายคือ พระอภิธรรมปิฎก เป็นข้อธรรมะล้วนๆกล่าวถึงความเป็นไปแห่งชีวิตและจุดหมายปลายทางของชีวิต หรือนิพพานนั่นเอง ซึ่งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ยังไม่มีการแบ่งชัดเจนเช่นนี้ และมิได้เรียกว่าพระไตรปิฎก มีแต่เพียงการรวบรวมข้อธรรมะของพระพุทธเจ้าและพระวินัยเป็นข้อๆแล้วซักซ้อม ท่องจำกันมา แล้วพระพุทธองค์ก็จะทรงขานรับรองว่าถูกต้อง ซึ่งการท่องจำเช่นนี้นี่เอง จึงเป็นที่มาของการสวดปาติโมกข์ คือ การท่องจำพระวินัยอันเป็นการสวดข้อบัญญัติทางวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อทุกๆ ๑๕ วันในเวลาต่อมา และเนื่องจากภาษาที่ปรากฎในพระไตรปิฎกสมัยนั้นยากแก่การเข้าใจ จึงได้มีการอธิบายความพระไตรปิฎกขึ้นภายหลัง ซึ่งเรียกกันว่า อรรถกถา แปลว่า คำอธิบายพระไตรปิฎกโดยพระเถระผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า พระอรรถกถาจารย์
ปัจจุบันเรามักได้ยินคนพูดว่า ศาสนาเสื่อมลงๆ เพราะคนในสังคมผิดศีล ขาดธรรมกันมากขึ้น ซึ่งในเรื่องพระศาสนาจะตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงกล่าวตอบข้อสงสัยข้อนี้ของพระสารีบุตรว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าวิปัสสี สิขี และเวสสภู อยู่ไม่ได้นานเนื่องจากเมื่อแสดงธรรมแก่สาวกแล้ว พระพุทธเจ้าเหล่านี้ มิได้มีการบัญญัติเป็นพระวินัยเอาไว้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระศาสนาของพระองค์ก็อันตรธานหายตามไปด้วย ส่วนในสมัยพระพุทธเจ้ากกุธสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ ดำรงอยู่ได้นานเพราะเมื่อแสดงธรรมแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ด้วย เมื่อทั้งสามพระองค์ปรินิพพาน พระศาสนาก็ยังคงสืบเนื่องต่อไปได้ ทั้งนี้ ทรงเปรียบให้ฟังว่า บรรดาคฤหัสถ์ที่ออกบวชในศาสนา โดยไม่มีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณ ที่กองไว้บนพื้นกระดาน โดยไม่มีด้ายร้อยให้ติดกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ง่าย ฉันใดก็ฉันนั้นแต่บรรดาคฤหัสถ์ต่างชาติ ต่างสกุลที่ออกบวช โดยมีวินัยควบคุมนั้น เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองบนพื้นกระดาน โดยมีด้ายร้อยติดกันไว้ ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้โดยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเสื่อมและความเจริญแห่งพระศาสนามาจากการมีพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรง บัญญัติไว้คอยควบคุมความประพฤติผู้เข้ามาบวชในพุทธศาสนานั่นเอง ทั้งนี้เพราะพระวินัย ก็คือข้อปฏิบัติหรือศีลของพระ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นรากแก้วของศาสนา เป็นรากฐานแห่งความดีต่างๆ พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดเนื้อนาบุญแห่งพระศาสนา หากพระสงฆ์อยู่ในพระวินัย และปฏิบัติดีย่อมทำให้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพเลื่อมใสและที่พึ่งของประชาชน แต่หากพุทธสาวกมิได้ทำตามพุทธบัญญัติ ก็ย่อมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และถอยห่างจากศาสนา อันนำมาซึ่งความเสื่อมสลายไปในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น