++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พม.แนะชายเปลี่ยน 10 ทัศนคติ ไม่อยู่เหนือ “หญิง” ลดรุนแรง

“อิสสระ” นำทีมบุกอนุสาวรีย์ชัยฯ รณรงค์ยุติรุนแรงต่อเด็กสตรี แนะผู้ชายเปลี่ยน 10 ทัศนคติ ไม่อยู่เหนือผู้หญิง ขณะที่ “มูลนิธิเพื่อนหญิง” ปลื้มผู้ชายแห่ร่วมโครงการ ช่วยลดรุนแรงกว่า 80% พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนตื่นตัว จับตากลุ่มเสี่ยง หนุน พม.ขยายกลไกให้คำปรึกษา และเยียวยาเด็ก-สตรีถูกกระทำรุนแรง

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ริมถนนพญาไท เมื่อเวลา 10.00 น. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมูลนิธิเพื่อนหญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กว่า 100 คน เดินรณรงค์ติดเข็มกลัด “สองเราเท่าเทียม” แจกสติกเกอร์ติดรถและคู่มือ “แค่เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่...สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้” ให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน

นายอิสสระกล่าวว่า ในวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล” ดังนั้น การที่ทุกภาคส่วนออกมาร่วมรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทั้งนี้เพื่อประสิทธิผลในการลดความรุนแรง จุดเริ่มต้นสำคัญต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ชาย ให้มองว่าหญิงชายต้องเท่าเทียมกัน สำหรับวิธีคิดง่ายๆ ที่ผู้ชายควรนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันมี 10 ข้อ คือ 1.เปลี่ยนความคิดที่ว่า การดื่มเหล้าเป็นวิถีของลูกผู้ชาย 2.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นใหญ่ในบ้าน ควรหันมารับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เพราะผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม 3.เปลี่ยนความคิดที่ว่า งานบ้านเป็นงานของผู้หญิง 4.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายมีผู้ภรรยาหลายคนเป็นเรื่องน่ายกย่อง แต่ควรหันมาซื่อสัตย์ รักเดียว ใจเดียว 5.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ภรรยาเป็นสมบัติของสามี ควรหันมาให้เกียรติ ไม่ดุด่า ทำร้ายทุบตี บังคับหลับนอน

ข้อ 6.เปลี่ยนความคิดที่ว่า การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ควรหันมามีส่วนในการเลี้ยงลูก 7.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง ควรหันมายอมรับว่าผู้หญิงก็มีความสามารถไม่น้อยกว่าผู้ชาย 8.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายที่มีโอกาสล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงแล้วไม่ทำเป็นผู้ชายโง่ แต่ควรหันมาเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์จากความยินยอมพร้อมใจและรับผิดชอบ 9.เปลี่ยนจากความคิดที่ว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ควรหันมาทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีแจ้งเหตุ 1300 ศูนย์ประชาบดี หรือช่วยเหลือเมื่อพบเห็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดี ให้เกียรติ ไม่ทำร้ายผู้หญิง ไม่เสพสื่อลามก สิ่งมึนเมา เข้าร่วม สนับสนุนการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงตามสถานะและโอกาส และ 10.เปลี่ยนจากความคิดที่ว่า การคุมกำเนิดเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แต่ต้องคิดว่าการคุมกำเนิดถือเป็นหน้าที่ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งทั้ง 10 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง และผ่านการพิสูจน์มาแล้วในหลายชุมชน ผู้ชายทั้งหลายจึงมีส่วนสำคัญ ขอเพียงแค่เริ่มต้นเปลี่ยนความคิด เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆก็เกิดขึ้นได้จริงๆ

ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ตลอดทั้งเดือนทางมูลนิธิฯร่วมกับเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ได้เห็นถึงความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ลดภาวะวิกฤติที่คิดว่าชายเป็นใหญ่ในครอบครัว การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ให้เกิดการล่วงละเมิด กดขี่ข่มเหง การกระทำที่ส่อถึงการใช้ความรุนแรง เห็นได้จากการทำงานของเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้าฯ ในชุมชน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชุมพร เชียงใหม่ และลำพูน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาความรุนแรงลดลงมากถึง 80% ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 70% อีกทั้งขณะนี้มีผู้สมัครใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้าฯเพิ่มขึ้นถึง 1,500 ราย

“คาดว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในเด็กและสตรี ดังนั้นหากมีการปรับทัศนคติของผู้ชายทั้ง 10 ข้อได้จะสามารถลดความรุนแรงในสังคมได้อย่างแน่นอน และจะกลายเป็นสังคมแห่งความเสมอภาค ลดสถิติความรุนแรงในกลุ่มเด็กและสตรี ทำให้ความสุขกลับคืนมา ทั้งนี้ทุกภาคส่วนควรหามาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวผู้ที่แตกแยก ติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดการพนัน ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กมีปัญหา นอกจากนี้ควรเร่งขยายกลไกให้คำปรึกษาและบำบัดฟื้นฟู และเยียวยาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงด้วย” ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น