++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

WHO เผยความจนก่อโรค “ปอดบวม-ท้องร่วง” คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละ 4 ล้านคน

WHO เผย ปอดบวม คร่าชีวิตเด็กต่ำกว่า 5 ปี ราวปีละ 2 ล้านคน ขณะเด็กป่วยโรคท้องร่วงตาย 1.9 ล้านคน เหตุเพราะความยากจน กินอาหารไม่สะอาด เร่งระดมสมองประเทศสมาชิกวางยุทธศาสตร์หาทางแก้

ในการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ สมัยที่ 63 ที่ รร.รอยัล ออร์คิดส์ เชอราตัน กทม.ประเทศสมาชิกได้หารือร่วมในที่ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การเสียชีวิตของ ประชากรจากโรคปอดบวมและโรคท้องร่วง โดย นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์ดังกล่าว ว่า ขณะนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศสมาชิกของ WHO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียชีวิตถึง 3,500 คน จากโรคปอดปวมและโรคท้องร่วง โดยประชากรมากกว่า 2.1 ล้านคน ในทุกช่วงอายุเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงเฉียบพลัน และโรคติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจ มากกว่าสองเท่าจากการเสียชีวิตรวมกันจากการติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค และโรคมาลาเรีย ขณะที่ในระดับโลก ทุกๆ ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 2 ล้านคน ตายจากโรคปอดปวม และประมาณ 1.9 ล้านคน ตายจากท้องร่วงเฉียบพลัน

“ทุกๆ นาที เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนหนึ่งคนเสียชีวิตจากโรคปอดปวมในประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทุกๆ 5 นาที โรคท้องร่วงคร่าชีวิตเด็กอายุในช่วงอายุเดียวกัน จำนวน 6-7 คน ซึ่งชีวิตเหล่านี้สามารถรักษาไว้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การปรับปรุงโภชนาการสำหรับทารก การให้นมแม่อย่างเดียวอย่างต่อเนื่องแก่ทารกจนถึงอายุ 6 เดือน การให้ธาตุสังกะสีเป็นอาหารเสริม การขยายการให้วัคซีนอย่างทั่วถึง การสนับสนุนให้มีการล้างมือ และการดื่มน้ำสะอาดและสุขอนามัยจะช่วยป้องกันและการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ ได้” นพ.สำลี กล่าว

นพ.สำลี กล่าวด้วยว่า การรักษาโรคท้องร่วงโดยวิธีการให้ของเหลวทดแทนโดยการรับประทาน (Oral Rehydration Therapy) และการรักษาโรคปอดปวมด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งต่อการลดอัตราการเสียชีวิต ในปัจจุบัน ความพยายามในการควบคุมโรคดังกล่าวและลดอัตราการตายในเด็กยังคงปฏิบัติอยู่ แต่ได้พบว่าการรักษาโดยให้ของเหลวทดแทนโดยการรับประทาน (Oral Rehydration Therapy) ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีพื้นฐานในการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ยังต่ำกว่าร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศที่มีอัตราความชุกของโรคสูง (High Burden Countries) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับสัดส่วนของเด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรคปอดปวมที่ได้รับร้อยละ 25

ผอ.WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สาเหตุ หลักในการเสียชีวิตที่สืบเนื่องมาจากโรคท้องร่วง และปอดบวมนั้น คือ ความยากจน การขาดความตระหนัก และความไม่เสมอภาคทางสังคม เช่น น้ำดื่มที่ไม่สะอาด ความแออัด มลภาวะทางอากาศภายในอาคาร บ้านเรือน การมีนิสัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการยากที่จะเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ยังคงมีอยู่ให้เห็นถึงแม้ว่าได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา เพื่อที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก ทั้งนี้ ในการบรรลุวัตถุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษแห่งสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กภายใน 2558 ประเทศสมาชิกต้องพยายามมากขึ้นในการให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงมาตรการป้องกัน และรักษาที่เหมาะสม โดย WHO ได้ผลักดันประเทศสมาชิกให้จัดตั้งโครงการที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุและผสมผสาน การดูแลรักษาอย่างเท่าถึงและเท่าเทียม และมีการระดมการตอบสนองทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อมาตรการข้างต้นที่ ได้กล่าวมา

อนึ่ง อัตราการตายจากโรคดังกล่าวค่อนข้างสูงในทุกช่วงของอายุ โรคปอดบวม และโรคท้องร่วง คิดเป็น 11.6 เปอร์เซ็นต์ของโรคที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็มากกว่าโรคประเภทเฉียบพลันและโรคเรื้อรังอื่นๆ ในประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกๆ ปี ประชากรจำนวน 1.4 ล้านคน เสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างเฉียบพลัน ในปี 2552 จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตจากท้องร่วงเฉียบพลันต่อปีทั่วโลก ประมาณ 1.15 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในประเทศในองค์อนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้และแอฟริกา

ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย นักวิจัยอาวุโสสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไทยในการประชุม กล่าวว่า ประเทศที่พบปัญหาดังกล่าวสูงสุด คือ อินเดีย มีปัญหาเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคปอดบวม และโรคท้องร่วงสูงถึงปีละ 1-2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่าพันล้านคน รองลงมาคือ บังกลาเทศ พบประมาณปีละ 340,000 คน อินโดนีเซีย พบประมาณ 200,000 คน พม่า พบ 132,000 คน และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศปิดทำให้ไม่สามารถทราบตัวเลขแน่ชัด

“บัง กลาเทศ เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล และติมอร์เลสเต เป็นกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแตกต่างจากอีก 3 ประเทศ คือ ไทย ศรีลังกา และ ภูฏาน ทำให้ปัญหาการดูแลสุขภาพ การส่งเสริมป้องกันโรคไม่ดีพอ โดยผู้ป่วยในประเทศเหล่านี้จะใช้วิธีซื้อยา หรืออาศัยการรักษาแพทย์พื้นบ้าน หากไม่ป่วยหนักก็จะไม่ไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ บ้างก็ซื้อยากินเอง จนส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย และเกิดปัญหาดื้อยาในที่สุด” นพ.ภูษิต กล่าว

นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่า WHO เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงให้คำแนะนำแต่ละประเทศที่ประสบปัญหาให้ควรมีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณ สุขเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันการให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยมาก โดยในอินเดีย จัดสรรงบสุขภาพไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณทั้งประเทศ ขณะที่ประเทศไทยจัดสรรงบตรงนี้ประมาณร้อยละ 7 ดังนั้น ควรมีการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มเติม ทั้งเรื่องการรักษาโรค การส่งเสริมและป้องกันโรค รวมทั้งการสร้างโรงพยาบาลและการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ กลุ่มประเทศสมาชิก ยังเห็นว่า ถึงเวลาที่ควรมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศของตน ซึ่งข้อเสนอหนึ่งควรมีการพิจารณาถึงระบบหลักประกันสุขภาพฯ โดยแบบอย่าง คือ ประเทศไทย ศรีลังกา และ ภูฏาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น